บาลีวันละคำ

สีมาสังกร (บาลีวันละคำ 4,510)

สีมาสังกร

ขอเสนอให้ใช้แทน “สีมาสังกระ”

อ่านว่า สี-มา-สัง-กอน

ประกอบด้วย สีมา + สังกร 

(๑) “สีมา” 

อ่านว่า สี-มา รากศัพท์มาจาก สี (ธาตุ = ผูก) + ปัจจัย + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์

: สี + = สีม + อา = สีมา แปลตามศัพท์ว่า “ขอบเขตอันสงฆ์พร้อมเพรียงกันผูกไว้ด้วยการสวดกรรมวาจา” หมายถึง แดน, ขอบเขต, ตำบล (boundary, limit, parish) 

บาลี “สีมา” สันสกฤตก็เป็น “สีมา

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ดังนี้ –

(สะกดตามต้นฉบับ)

สีมา : (คำนาม) เขตต์; เกษตร์, นา; ตลิ่ง, ฝั่ง, ฟาก; สัตยศีลตาหรือความซื่อตรง; ต้นคอ; อัณฑโกศ, พวงอัณฑะ; boundary or limit; a field; a bank or shore; rectitude or uprightness; the nape of the neck; the scrotum.”

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า – 

สีมา : (คำนาม) เขต, แดน; เครื่องหมายบอกเขตโบสถ์ มักทำด้วยแผ่นหินหรือหลักหินเป็นต้น เรียกว่า ใบพัทธสีมา, ใบสีมา หรือ ใบเสมา ก็ว่า. (ป., ส.).” 

และที่คำว่า “เสมา” บอกไว้ว่า – 

เสมา ๑ : (คำนาม) สีมา, เครื่องหมายบอกเขตโบสถ์; เรียกสิ่งที่มีลักษณะคล้ายใบสีมาที่เรียงกันอยู่บนกำแพงอย่างกำแพงเมืองว่า ใบเสมา; เครื่องประดับหรือเครื่องรางสำหรับห้อยคอ มีรูปร่างอย่างใบเสมา. (ป., ส. สีมา).”

(๒) “สังกร

อ่านว่า สัง-กอน บาลีเป็น “สงฺกร” อ่านว่า สัง-กะ-ระ รากศัพท์มาจาก สํ (คำอุปสรรค = พร้อม, กับ, ดี) + กรฺ (ธาตุ = ทำ) + (อะ) ปัจจัย, แปลงนิคหิตที่ สํ เป็น งฺ 

: สํ + กรฺ = สํกรฺ + = สํกร > สงฺกร แปลตามศัพท์ว่า “ทำพร้อมกัน” หมายถึง ทำให้ระคนปนกันไป

สงฺกร” ใช้ในภาษาไทยเป็น “สังกร” อ่านว่า สัง-กอน พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

สังกร : (คำนาม) ความปะปน, ความคาบเกี่ยว. (ป.; ส. สํกร).”

สีมา + สงฺกร = สีมาสงฺกร (สี-มา-สัง-กะ-ระ) แปลว่า “ทำให้สีมาปนกัน” 

ขยายความ :

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ ไม่ได้เก็บคำว่า “สีมาสงฺกร” ไว้ แต่มีคำว่า “สีมาสมฺเภท” ซึ่งมีความหมายอย่างเดียวกัน

สีมาสมฺเภท” พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปลไว้ว่า mixing up of the boundary lines 

พจนานุกรม บาลี-ไทย-อังกฤษ ฉบับภูมิพโลภิกขุ (ซึ่งใช้พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ เป็นต้นฉบับ) แปล mixing up of the boundary lines เป็นไทยว่า “สีมาสังกระ, เส้นเขตปะปนกัน” 

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต มีคำว่า “สีมาสังกระ” บอกไว้ดังนี้ –

…………..

สีมาสังกระ : สีมาคาบเกี่ยวกัน, เป็นเหตุสีมาวิบัติอย่างหนึ่ง

…………..

และมีคำว่า “สีมาสัมเภท” บอกความหมายไว้ว่า “การทำเขตแดนให้ระคนปะปนกัน, การทลายขีดคั่นรวมแดน” 

และขยายความว่า “ในทางพระวินัย หมายถึงการที่สีมาก่ายเกยคาบเกี่ยวกัน คือเป็นสีมาสังกระ”

เป็นอันว่า “สีมาสัมเภท” กับ “สีมาสังกระ” มีความหมายเหมือนกัน

สรุปความ :

กิจที่สงฆ์พึงกระทำเรียกว่า “สังฆกรรม” ตามหลักพระวินัย เมื่อสงฆ์จะทำสังฆกรรมต้องทำในเขตที่กำหนดไว้ ซึ่งเรียกว่า “สีมา” คือกำหนดว่า พื้นที่ตรงนี้ กว้างเท่านี้ ยาวเท่านี้ แต่ละทิศมีสิ่งนี้ ๆ เป็นเครื่องหมายบอกเขต สงฆ์จะทำสังฆกรรม ต้องประชุมกันภายในพื้นที่ตามที่กำหนดนี้ 

หากจำเป็นต้องมีสีมาหลายแห่ง สีมาแต่ละแห่งจะต้องแยกห่างจากกันเด็ดขาด นั่นคือ เขตสีมาแห่งหนึ่งจะต้องไม่ไปคาบเกี่ยว ก่ายเกย หรือทับซ้อนกับเขตของสีมาอีกแห่งหนึ่ง

ถ้ากำหนดเขตสีมาทับซ้อนกัน ถือว่าผิดหลักพระวินัย เรียกว่า “สีมาสงฺกร” สังฆกรรมที่ทำในสีมาที่เป็น “สีมาสงฺกร” ถือว่าเป็นโมฆะ

อนึ่ง ท่านว่าพื้นที่ซึ่งกำหนดเป็นสีมาแล้ว ยังไม่ได้ประกาศยกเลิกเพิกถอนตราบใด ย่อมคงสถานะเป็น “สีมา” อยู่ตราบนั้น ตามหลักนี้ เมื่อเวลาล่วงเลยไปนานเข้า จึงไม่อาจชี้ชัดได้ว่าพื้นที่ตรงไหนได้เคยถูกกำหนดให้เป็น “สีมา” มาแล้วบ้าง เพราะเหตุนี้ เมื่อจะกำหนดเขตสีมาตรงพื้นที่ใด จึงมีหลักอยู่ว่าต้องประกาศยกเลิกเพิกถอนพื้นที่นั้นให้พ้นสถานะเป็น “สีมา” เสียก่อนเสมอไป เรียกว่า “ถอนสีมา” เพื่อไม่ให้เกิดเป็นกรณี “สีมาสงฺกร” แล้วจึงกำหนดเขตสืมาใหม่ลงบนพื้นที่นั้นได้

…………..

คำว่า “สีมาสงฺกร” ในหนังสือแบบเรียนนักธรรมเขียนเป็นคำไทยว่า “สีมาสังกระ

“-กระ” พยางค์ท้าย ออกเสียงกันว่า กฺระ เหมือนคำว่า ผิวตกกระ ตัวตกกระ คือ กฺร ควบกัน 

แต่เมื่อดูคำบาลีแล้ว บาลีเป็น “-กร กับ แยกพยางค์กันเป็น กะ-ระ เมื่อเขียนเป็นคำไทยว่า “สีมาสังกระ” ต้องอ่านว่า สี-มา-สัง-กะ-ระ จึงจะถูกต้อง

จะเป็นเพราะคุ้นตาคุ้นปาก หรือเป็นด้วยเหตุผลกลใดก็ไม่อาจทราบได้ เราอ่านคำว่า “สังกระ” หรือ “สีมาสังกระ” เป็น — สัง-กฺระ กันทั่วไปหมด โดยไม่ได้เฉลียวใจว่า รูปคำบาลีเป็น “-กร กับ แยกกันเป็นคนละพยางค์ 

รูปคำเช่นนี้ ในภาษาไทย ถ้าอยู่ท้ายคำเรานิยมใช้เป็น –กร และอ่านว่า กอน เช่น –

กรรมกร อ่านว่า กำ-มะ-กอน ไม่ได้ใช้เป็น กรรมกระ

อากร อ่านว่า อา-กอน ไม่ได้ใช้เป็น อากระ

ทินกร อ่านว่า ทิน-นะ-กอน ไม่ได้ใช้เป็น ทินกระ

คำบาลี “สีมาสงฺกร” ผู้เขียนบาลีวันละคำขอเสนอให้เขียนเป็นคำไทยว่า “สีมาสังกร” อ่านว่า สี-มา-สัง-กอน จะได้ไม่ต้องอ่านว่า สัง-กฺระ ให้ผิดหลักภาษากันอีกต่อไป

ท่านผู้ใดเชี่ยวชาญภาษาไทย เห็นว่า คำบาลี “สีมาสงฺกร” เขียนเป็นคำไทยว่า “สีมาสังกระ” อ่านว่า สี-มา-สัง-กฺระ (เหมือนคำว่า ผิวตก-กระ ตัวตก-กระ) เป็นการอ่านที่ถูกต้องแล้ว เพราะเหตุผลอย่างนี้ ๆ 

ถ้าจะกรุณาแสดงเหตุผลให้เป็นที่ประจักษ์ ก็จะเป็นพระคุณอย่างยิ่ง เราจะได้อ่านว่า สี-มา-สัง-กฺระ กันต่อไปด้วยความมั่นใจและสบายใจ

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ถ้าเบื่อคำว่า “ทับซ้อน”

: จะใช้คำว่า “สังกร” ก็ไม่เลว

#บาลีวันละคำ (4,510)

17-10-67 

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *