โบสถ์ – วิหาร (บาลีวันละคำ 2,063)
โบสถ์ – วิหาร
ต่างกันอย่างไร
อ่านว่า โบด – วิ-หาน
(๑) “โบสถ์”
ตัดมาจากคำว่า “อุโบสถ” (อุ-โบ-สด) บาลีเป็น “อุโปสถ” อ่านว่า อุ-โป-สะ-ถะ รากศัพท์มาจาก อุป (คำอุปสรรค = เข้าไป, ใกล้, มั่น) + วสฺ (ธาตุ = อยู่) + อถ ปัจจัย, แปลง อะ ที่ (อุ)-ป กับ ว-(สฺ) เป็น โอ (อุป + วสฺ > อุโปส)
: อุป + วสฺ = อุปวสฺ > อุโปส + อถ = อุโปสถ (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า (1) “ธรรมเป็นที่เข้าจำ”, “กาลเป็นที่เข้าจำ” (คือเข้าไปอยู่โดยการถือศีลหรืออดอาหาร) (2) “กาลเป็นที่เข้าถึงการอดอาหารหรือเข้าถึงศีลเป็นต้นแล้วอยู่”
“อุโปสถ” ในภาษาบาลีมีความหมายดังนี้ –
(1) การสวดปาติโมกข์ของพระสงฆ์ทุกกึ่งเดือน = อุโบสถสังฆกรรม (biweekly recitation of the Vinaya rules by a chapter of Buddhist monks; the days for special meetings of the order, and for recitation of the Pāṭimokkha)
(2) การอยู่จำรักษาศีล 8 ของอุบาสกอุบาสิกา = อุโบสถศีล (observance; the observance of the Eight Precepts; the Eight Precepts observed by lay devotees on Uposatha days)
(3) วันสวดปาติโมกข์ของพระสงฆ์ และวันรักษาศีล 8 ของอุบาสกอุบาสิกา = วันอุโบสถ (Uposatha days)
(วันอุโบสถของพระสงฆ์ คือ ขึ้น 15 ค่ำ, แรม 15 ค่ำ หรือ 14 ค่ำเมื่อเดือนขาด, วันอุโบสถของอุบาสกอุบาสิกาเพิ่มอีกสองวัน คือ ขึ้นและแรม 8 ค่ำ)
(4) สถานที่สงฆ์ทำสังฆกรรม เรียกเต็มศัพท์ว่า “อุโปสถาคาร” หรือ “อุโปสถัคคะ” = โรงอุโบสถ คือที่เราเรียกว่า “โบสถ์” (the Uposatha hall; consecrated assembly hall)
“อุโปสถ” ใช้ในภาษาไทยว่า “อุโบสถ” และตัดเรียกสั้นๆ ว่า “โบสถ์”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“โบสถ์ : (คำนาม) สถานที่สําหรับพระสงฆ์ใช้ประชุมทําสังฆกรรม เช่น สวดพระปาติโมกข์ อุปสมบท มีสีมาเป็นเครื่องบอกเขต, อนุโลมเรียกสถานที่ประกอบพิธีกรรมของศาสนาอื่นว่า โบสถ์ เช่น โบสถ์พราหมณ์ โบสถ์คริสต์. (มาจากคําว่า อุโบสถ). (ป. อุโปสถ).”
(๒) “วิหาร”
บาลีอ่านว่า วิ-หา-ระ รากศัพท์มาจาก วิ (คำอุปสรรค = พิเศษ, แจ้ง, ต่าง) + หรฺ (ธาตุ = อยู่อาศัย) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ, “ทีฆะต้นธาตุ” : หรฺ > หาร)
: วิ + หรฺ = วิหรฺ + ณ = วิหรณ > วิหร > วิหาร (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า (1) “นำอิริยาบถไปเป็นพิเศษ” หมายความว่า ผลัดเปลี่ยนอิริยาบถ หรือยืน เดิน นั่ง นอน อยู่ในที่นั้น อาการเช่นนั้นจึงเรียกว่า “วิหาร” (2) “ธรรมเป็นเครื่องอยู่” (3) “ที่เป็นที่อยู่”
“วิหาร” ในภาษาบาลีมีความหมายดังนี้ –
(1) ใช้เวลา (พักแรมหรือเดินไปหา), พักอยู่ ณ ที่แห่งหนึ่ง, ดำรงอยู่ (spending one’s time [sojourning or walking about], staying in a place, living;
(2) การดำรงชีวิต, สถานะ, วิถีชีวิต (state of life, condition, mode of life)
(3) สำหรับคนทั่วไป: ที่อยู่, ที่อาศัยโดยทั่วๆ ไป (place of living, stay, abode in general)
(4) สำหรับนักบวช โดยเฉพาะภิกษุในพระพุทธศาสนา:
(ก) (ทั่วไป) วิหาร, ที่พักอาศัยในป่า, กระท่อม; ที่อยู่อาศัย, ที่พักพิง, กุฏิสำหรับภิกษุ, ห้องเดี่ยว (a habitation for a Buddhist mendicant, an abode in the forest, a hut; a dwelling, habitation, lodging for a bhikkhu, a single room)
(ข) (ระยะแรก) สถานที่ชุมนุมของภิกษุ, ที่ประชุม; สถานที่พักผ่อนและหย่อนใจในสวนหรืออุทยาน (place for convention of the bhikkhus, meeting place; place for rest & recreation in garden or park)
(ค) (ระยะต่อมา) ตึกใหญ่สำหรับภิกษุทั้งหลายอยู่อาศัย, วัด, วิหาร (a larger building for housing bhikkhus, an organized monastery, a Vihāra)
สรุป : “วิหาร”
ถ้าใช้เป็นอาการนาม มีความหมายว่า “การอยู่”
ถ้าหมายถึงสถานที่ แปลว่า “ที่อยู่”
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายไว้ว่า –
“วิหาร, วิหาร– : (คำนาม) วัด, ที่อยู่ของพระสงฆ์; ที่ประดิษฐานพระพุทธรูป, คู่กับ โบสถ์; การพักผ่อน เช่น ทิวาวิหาร ว่า การพักผ่อนในเวลากลางวัน. (ป., ส.).”
ในภาษาไทย เฉพาะอาคารหลังเดียวในวัด (ที่ประดิษฐานพระพุทธรูป) เรียกว่า “วิหาร”
แต่ในภาษาบาลี “วิหาร” อาจหมายถึงพื้นที่หมดทั้งวัดก็ได้
ข้อควรรู้ :
“โบสถ์” มีสถานะเช่นเดียวกับ “ที่ประชุม” ขององค์กรสำคัญของบ้านเมือง เช่นที่ประชุมรัฐสภาเป็นต้น
เมื่อสมาชิกรัฐสภาจะประชุมกันพิจารณากิจการของบ้านเมืองต้องมีสถานที่ประชุมที่แน่นอน และมีข้อกำหนดชัดเจนว่ามีสมาชิกมาประชุมเท่าไรจึงจะถือว่าครบองค์ประชุม ใครบ้างมีสิทธิ์เข้าประชุม หรือมีสิทธิ์ออกเสียง ฉันใด
เมื่อภิกษุจะประชุมกันกระทำกิจของสงฆ์ตามพุทธบัญญัติที่เรียกว่า “สังฆกรรม” ก็ต้องมีสถานที่ประชุม นั่นคือ “โบสถ์” และกำหนดองค์ประชุมคือจำนวนภิกษุอย่างต่ำที่จะต้องเข้าร่วมประชุมตามชนิดของสังฆกรรมนั้นๆ ฉันนั้น
ขนาดของโบสถ์ มีหลักนิยมว่าอย่างเล็กที่สุดต้องสามารถจุคนได้ไม่น้อยกว่า 21 คน ทั้งนี้เนื่องจากสังฆกรรมบางอย่างกำหนดจำนวนภิกษุที่เป็นองค์ประชุมไว้ 20 รูป ( + ภิกษุผู้เป็นต้นเรื่องอีก 1 รูป)
จะเห็นได้ว่า สมัยโบราณวัดที่ประชาชนสร้างทั่วไปมักสร้างโบสถ์หลังเล็กๆ พอจุภิกษุได้ประมาณ 20 รูปตามความจำเป็นของสังฆกรรมเท่านั้น ไม่นิยมสร้างโบสถ์ใหญ่โตเกินจำเป็นเหมือนในปัจจุบัน
โบสถ์กับวิหารต่างกันอย่างไร :
เมื่อเข้าไปในวัด เห็นอาคารรูปทรงแบบสถาปัตยกรรมไทยเหมือนกัน มีพระพุทธรูปประดิษฐานอยู่ภายในเหมือนกัน จะรู้ได้อย่างไรว่า หลังไหนเป็น “โบสถ์” หลังไหนเป็น “วิหาร”
มีข้อสังเกตง่ายๆ ดังนี้ :
ถ้ามีซุ้มเสมารายรอบอาคาร (ดูภาพประกอบ) นั่นคือ “โบสถ์” ซุ้มเสมานั้นภายในจะมี “ใบเสมา” นั่นคือเครื่องหมายบอกเขตโบสถ์ที่ต้องมีตามหลักพระวินัย วัดทั่วไปมีซุ้มเสมาเป็นเขตโบสถ์ แต่บางวัดอาจตั้งใบเสมาติดไว้กับผนังโบสถ์ แล้วแต่แนวคิดของผู้สร้าง แต่จะอย่างไรก็ตาม โบสถ์ต้องมีใบเสมาเป็นเครื่องหมายเขตเสมอ (เครื่องหมายจริงๆ คือลูกนิมิตที่นิยมฝังไว้ใต้ดินแล้วทำ “ใบเสมา” เป็นที่หมายรู้ไว้ข้างบน)
ถ้าไม่มีซุ้มเสมาหรือใบเสมาที่ผนัง นั่นคือ “วิหาร”
ข้อคิดสำหรับการสร้างศาสนสถานขนาดใหญ่โต :
อามิสปูชา จ นาเมสา สาสนํ เอกทิวสํปิ เอกยาคุปานกาลมตฺตมฺปิ สนฺธาเรตุํ น สกฺโกติ.
อันว่าอามิสบูชานั่นไม่อาจดำรงพระศาสนาไว้ได้แม้เพียงวันเดียว (และอย่าว่าแต่วันเดียวเลย) แม้ชั่วเวลาเพียงดื่มยาคูอึกเดียวด้วยซ้ำไป.
มหาวิหารสทิสญฺหิ วิหารสหสฺสํ มหาเจติยสทิสญฺจ เจติยสหสฺสํปิ สาสนํ ธาเรตุํ น สกฺโกนฺติ.
วัดนับพันที่ใหญ่โตมโหฬารเหมือนมหาวิหารก็ดี เจดีย์นับพันที่ใหญ่โตมโหฬารเหมือนมหาเจดีย์ก็ดี หาอาจดำรงพระศาสนาไว้ได้ไม่.
เยน กตํ ตสฺเสว โหติ.
ผู้ใดสร้าง อานิสงส์ก็มีแก่เฉพาะผู้นั้น
สมฺมาปฏิปตฺติ ปน ตถาคตสฺส อนุจฺฉวิกา ปูชา.
ส่วนสัมมาปฏิบัติเป็นบูชาอันสมควรแก่พระตถาคต
สา หิ เตน ปฏฺฐิตา เจว สกฺโกติ สาสนํ จ สนฺธาเรตุํ
เพราะสัมมาปฏิบัตินั้นพระองค์โปรดด้วย อาจดำรงพระศาสนาไว้ได้ด้วย
ที่มา: สุมังคลวิลาสินี ภาค 2 (มหาปรินิพฺพานสุตตวัณณนา) หน้า 299
…………..
โบสถ์-วิหาร จะเปรียบไปก็เหมือนเปลือกพระศาสนา
ไม่มีเปลือก ก็อยู่ยาก หรืออาจอยู่ไม่รอด
แต่ถ้ารักษาแก่น-คือพระธรรมวินัย-ไว้ไม่ได้ อยู่รอดไปก็ไร้ค่า
ดูก่อนภราดา!
: อย่าทำเพียงเพื่อให้พระศาสนาอยู่รอด
: แต่จงรักษาแก่นไว้ให้เป็นยอดของพระศาสนา
#บาลีวันละคำ (2,063)
4-2-61