บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

อย่าหลงเป้าหมายลวง

อย่าหลงเป้าหมายลวง

———————–

ตอนนี้นักเรียนบาลีชั้นเปรียญธรรม ๖-๗-๘-๙ สอบเสร็จแล้ว ส่วนชั้นประโยค ๑-๒ และเปรียญธรรม ๓-๔-๕ จะสอบในวันที่ ๑๐-๑๑-๑๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๑

การสอบบาลีของคณะสงฆ์กำหนดเป็นวันทางจันทรคติตายตัวทุกปี คือ

วันขึ้น ๒-๓-๔-๕-๖ เดือน ๓ สอบชั้นเปรียญธรรม ๖-๗-๘-๙ 

วันแรม ๑๐-๑๑-๑๒ ค่ำเดือน ๓ สอบชั้นประโยค ๑-๒ และเปรียญธรรม ๓-๔-๕ 

ชั้นเปรียญธรรม ๖-๗-๘-๙ ที่สอบเสร็จไปเมื่อวันที่ ๒๒ มกราคม ยังไม่ได้ตรวจข้อสอบ ต้องรอให้ชั้นประโยค ๑-๒ และเปรียญธรรม ๓-๔-๕ สอบเสร็จแล้วจึงกำหนดวันตรวจข้อสอบพร้อมกัน แล้วประกาศผล 

ระหว่างที่รอนี้ มีคำถามของผู้อยากรู้ว่า ทำไมพระเณรในเมืองไทยจึงต้องเรียนภาษาบาลี

ทำไมไม่เรียนภาษาสันสกฤต ภาษาละติน หรือภาษาอังกฤษ ฝรั่งเศส ฯลฯ

ทำไมต้องบาลี

คำถามนี้ชาวบ้านเป็นผู้ถาม แต่ผมฟังแล้วก็ฉุกคิดว่า ตัวพระเณรเองเคยถามกันหรือไม่ว่า ทำไมต้องเรียนบาลี

เป้าหมายของการเรียนบาลีอยู่ตรงไหน

ถ้าจับจุดตรงนี้พลาด ก้าวต่อไปก็พลาดหมด

เรียนเพื่อสอบได้ จะได้เป็น “มหา”

จะได้ได้ชื่อ “ประโยคเก้า”

หรือถ้าเป็นสามเณร ก็หวังจะได้เป็นนาคหลวง-เป็นเกียรติยศแก่วงศ์ตระกูล

เรียนเพื่อจะเอาวุฒิทางบาลีไปสอบเข้ารับราชการ

หรือเอาไปเทียบวุฒิกับทางโลก คือเรียนเพื่อเป็นบันไดไต่ไปสู่ความเป็นผู้มีวุฒิการศึกษาทางอื่นๆ ต่อไปอีก

หรือเรียนเพื่อที่ว่า-ถ้าอยู่ทางพระต่อไปก็จะได้มีสมณศักดิ์และมีตำแหน่งทางคณะสงฆ์ที่สูงๆ ดีๆ 

อย่างที่บอก-ถ้าจับจุดตรงนี้พลาด ก้าวต่อไปก็พลาดหมด

คำตอบที่ควรรู้ก่อนก็คือ-เรียนบาลีเพื่อใช้เป็นอุปกรณ์ศึกษาพระคัมภีร์ให้แตกฉานอันจะเป็นเหตุให้เข้าใจ ปฏิบัติตาม และเผยแผ่พระธรรมวินัยที่ถูกต้องได้อย่างมีประสิทธิภาพ

นี่คือเป้าหมายที่ถูกต้องของการเรียนบาลี

สรุปใหม่-เรียนบาลีเพื่อ –

๑ ใช้เป็นอุปกรณ์ศึกษาพระคัมภีร์ให้แตกฉาน

๒ เมื่อแตกฉานแล้วก็จะได้เข้าใจพระธรรมวินัยได้ถูกต้อง

๓ เมื่อเข้าใจถูกต้องก็จะได้ปฏิบัติตามพระธรรมวินัยได้ถูกต้อง

๔ ต่อจากนั้นก็จะสามารถเผยแผ่พระธรรมวินัยที่ถูกต้องได้อย่างมีประสิทธิภาพ

นี่คือเป้าหมายที่ถูกต้องของการเรียนบาลี

คำสอนในพระพุทธศาสนาเถรวาท-อันเป็นคำสอนที่เรานับถือกันอยู่ในเมืองไทย-ท่านบันทึกไว้เป็นภาษาบาลี อันเป็นภาษาที่มีกฎเกณฑ์ทางไวยากรณ์ทำให้ความหมายกลายหรือเบี่ยงเบนไปจากเดิมได้ยากที่สุด

ใครจะโต้แย้งประเด็นนี้ ขอโอกาสยกไปไว้ที่เวทีอื่นก่อนนะครับ

คัมภีร์บันทึกคำสอนในพระพุทธศาสนาที่เรียกรู้กันสั้นๆ ว่า พระบาลี หรือพระไตรปิฎก ในเมืองไทยนี้ดั้งเดิมจริงๆ ท่านจารลงบนใบลาน ส่วนมากเป็นอักษรขอม-ตามความนิยมเชื่อถือในสมัยนั้น แต่ภาษาก็ยังคงเป็นภาษาบาลี 

เมื่อประมาณหนึ่งศตวรรษที่ผ่านมา ตำราที่จะใช้เรียนบาลีค่อนข้างหายาก หนังสือบาลีที่พิมพ์เป็นเล่มกระดาษก็หายาก 

ก่อนหน้านั้นผู้เรียนบาลีต้องอาศัยตำราที่จารจารึกบนใบลาน-สมุดข่อย

ในสมัยที่การสอบบาลียังเป็นการสอบปากเปล่า-ไม่ใช่สอบด้วยการเขียนลงบนกระดาษอย่างในปัจจุบัน-นักเรียนผู้เข้าสอบต้องแบกคัมภีร์ใบลานที่จารเป็นอักษรขอมเข้าไปแปลปากเปล่าให้กรรมการฟัง

เมื่อการสอบเปลี่ยนมาเป็นสอบเป็นข้อเขียน ในระยะแรกๆ วิชาวากยสัมพันธ์ยังกำหนดให้นักเรียนเขียนคำตอบเป็นอักษรขอมด้วย

…………

วันหนึ่ง สมัยผมเป็นพระ พระเดชพระคุณพระเทพวิสุทธิโมลี (ช้อย มหาธีโร) ป.ธ.๙ (๒๕๐๐) อดีตเจ้าอาวาสวัดมหาธาตุราชบุรี อดีตเจ้าคณะจังหวัดราชบุรี ท่านเรียกผมไปพูดธุระอะไรอย่างหนึ่ง เสร็จธุระแล้วท่านเขียนอะไรง่วนอยู่ ผมยังไม่ทันลุกออกมา ท่านก็เงยหน้าขึ้นมาถามผมว่า “ตัว เอ เขียนยังไงหว่า เคยเขียนตั้งแต่สมัยสอบสัมพันธ์ ชักลืมซะแล้ว มหาย้อยอ่านขอมได้ไม่ใช่รึ”

…………

พยานหลักฐานที่ยังยืนยันสืบมาจนถึงทุกวันนี้ก็คือ ธรรมเนียมพระเทศน์ต้องถือคัมภีร์ใบลาน

คัมภีร์ใบลานคือคัมภีร์ภาษาบาลีเรื่องใดเรื่องหนึ่ง พระที่เทศน์ต้องรู้ภาษาบาลีจึงจะเทศน์ได้ นั่นหมายถึงพระจะไม่เทศน์ตามใจชอบ-เหมือนนักเทศน์สมัยนี้-แต่จะต้องเทศน์ตามคัมภีร์ (ภายหลังจึงเกิดคัมภีร์สำนวนเทศน์ภาษาไทย แต่ยังคงเขียนเป็นตัวอักษรขอม เรียกกันว่า “ขอมไทย”)

สำนวนเทศน์ที่ยกบาลีขึ้นมาคำหนึ่งแล้วแปลเป็นไทย-เช่นในร่ายยาวมหาเวสสันดรชาดก-ก็เป็นพยานยืนยันว่าผู้เทศน์ต้องรู้บาลี

วิธีแปลบาลีในชั้นเรียนที่เรียกกันว่า “แปลยกศัพท์” ก็เป็นพยานยืนยันได้ว่านั่นคือต้นแบบของการแสดงธรรม

ว่ากันว่า สมัยก่อนตามสำนักเรียนบาลีต่างๆ เวลาพระเณรท่านแปลบาลีในชั้นเรียน จะมีชาวบ้านมานั่งฟังด้วยเหมือนกับมาฟังเทศน์ ถือกันว่าเป็นบุญกุศลอย่างหนึ่ง

ทั้งหมดนี้คือเหตุผลที่ว่าเราเรียนบาลีกันไปทำไม

พึงเข้าใจให้ถูกด้วยว่า คัมภีร์ที่ท่านกำหนดใช้เป็นหลักสูตรให้เรียนกันนั้นเป็นเพียงบทฝึกหัด ดังที่รู้กันว่านักเรียนบาลีตั้งแต่ประโยค ๑-๒ ไปจนถึงเปรียญธรรม ๙ ประโยคยังไม่ได้เรียนตัวพระไตรปิฎกจริงๆ เลย เพราะคัมภีร์ที่กำหนดให้เรียนเป็นคัมภีร์ชั้นอรรถกถาลงมาทั้งสิ้น

รู้จักชื่อคัมภีร์ไว้สักหน่อยก็ดี

ธัมมปทัฏฐกถา (อรรถกถา) ชั้นประโยค ๑-๒ และ ป.ธ.๓

มังคลัตถทีปนี (ปกรณ์พิเศษ) ชั้น ป.ธ.๔ และ ๕

สมันตปาสาทิกา (อรรถกถา) ชั้น ป.ธ.๖ และ ๗ (ชั้น ป.ธ.๖ แต่เดิมใช้คัมภีร์กังขาวิรณี อรรถกถาพระปาติโมกข์)

วิสุทธิมรรค (ปกรณ์พิเศษ) ชั้น ป.ธ.๘

อภิธัมมัตถวิภาวินี (ฎีกา) ชั้น ป.ธ.๙

จะเห็นได้ว่า พระไตรปิฎก ๔๕ เล่ม และอรรถกถาฎีกาอนุฎีกาโยชนารวมกันอีกนับ ๑๐๐ คัมภีร์ ที่เป็นแหล่งรวมคำสอนในพระพุทธศาสนา ยังไม่ได้เรียนเลย

การเรียนบาลีตามหลักสูตรจึงเท่ากับการฝึกฝนเตรียมตัวเพื่อเปิดประตูเข้าไปสู่โลกแห่งคำสอนในพระพุทธศาสนาต่อไปนั่นเอง

การสอบได้จนถึงเปรียญธรรมชั้นสูงสุดจึงไม่ใช่การสำเร็จการศึกษาตามความหมายในพระพุทธศาสนา 

แท้ที่จริงเป็นเพียงการเริ่มต้นที่จะลงมือศึกษาเท่านั้น

เริ่มต้นที่จะลงมือ-เท่านั้น

ยังไม่ได้ลงมือด้วยซ้ำ

ผู้ที่เรียบจบเปรียญธรรม ๙ ประโยค เป็นเพียงผู้มีสิทธิ์ได้รับกุญแจเพื่อไขตู้พระไตรปิฎกเท่านั้น

ภารกิจต่อจากนั้นไปก็คือการใช้กุญแจที่ได้รับไขตู้พระไตรปิฎกเพื่อศึกษาวิจัย ปฏิบัติ และถ่ายทอดต่อไป

อุปมาเหมือนนักเรียนแพทย์ที่เรียนสำเร็จแล้ว มีสถานะเป็นหมอเต็มตัว 

สิ่งที่จะต้องทำต่อไปก็คือลงมือรักษาคนป่วยให้หายจากโรค-ตามสาขาที่ตนเรียนมา

จะเป็นอย่างไร-ถ้าผู้มีสิทธิ์ได้รับกุญแจเพื่อไขตู้พระไตรปิฎก ได้กุญแจมาแล้วก็เอามาประดับเป็นเกียรติว่า “ข้าคือผู้ได้รับกุญแจ” 

แต่ไม่เคยคิดจะใช้กุญแจนั้นไขตู้พระไตรปิฎก

จะเป็นอย่างไร-ถ้านักเรียนแพทย์ที่เรียนสำเร็จเป็นหมอแล้ว เอาแต่ภาคภูมิใจว่า “ข้าเป็นหมอ” 

แต่ไม่เคยคิดที่จะรักษาคนป่วยให้หายจากโรค

…………

ครั้งหนึ่งผมมีงานแปลภาษาบาลีให้วัด เป็นงานที่ทำเพื่อการกุศล ผมแบกงานไปขอร้อง “เปรียญเก้า” ท่านหนึ่งซึ่งเป็นศิษย์ของวัดนั้นนั่นเองให้ช่วยแปล เพื่อผมจะได้ไปจับงานด้านอื่นที่ยังรออยู่อีกหลายงาน

ท่านตอบโดยไม่ลังเลแม้แต่น้อยว่า “แปลไม่ได้”

…………

เรามาถึงยุคสมัยที่หมอบอกแก่คนป่วย-ซึ่งเป็นโรคในแนวทางที่ตนเรียนมานั่นเอง-ว่า “ฉันรักษาไม่เป็น” แล้วกระนั้นฤๅ

——————-

ผมไม่ได้แอนตี้ หรือต่อต้านการเรียน-การสอน-การสอบบาลีแบบที่กำลังเป็นอยู่

ตรงข้าม ผมสนับสนุนอย่างยิ่ง

วัดไหนให้ผมไปช่วยติวบาลีให้ ผมก็ไปโดยไม่ต้องมีค่าตัว

นักเรียนบาลีท่านไหนขัดข้องทางวิชาการ ผมก็ช่วยชี้แนะ

ถึงฤดูกาลสอบบาลี-นักธรรม ผมก็ป่าวร้องญาติพี่น้องช่วยกันทำอาหารไปเลี้ยงพระทุกปี จนเป็นประเพณีของตระกูลไปแล้ว

ผมเพียงแต่กำลังจะบอกว่า เราต้องก้าวต่อไปให้ถึงเป้าหมายที่ถูกต้อง

ที่ผ่านมาและที่กำลังเป็นอยู่ ไม่หลงทางก็เหมือนหลงทาง

เพราะไปเน้นกันที่-เรียนเพื่อสอบได้

เพราะติดกันอยู่แค่เป้าหมายที่เบี่ยงเบน หรือเป้าหมายลวง

จึงขอให้ก้าวทะลุออกไป แล้วเดินต่อไปให้จงได้

ไม่ใช่หยุดอยู่แค่สอบได้-แล้วภาคภูมิใจว่าถึงฝั่งแล้ว

ขอให้ดูความจริงที่กำลังเกิดขึ้นในสังคม

ผู้คนปฏิบัติผิดพลาดคลาดเคลื่อนจากหลักพระธรรมวินัย มีอยู่ทั่วไป

เงื่อนแง่ทางพระธรรมวินัยว่าอะไรถูกอะไรผิด มีอยู่เกลื่อนกล่น หาคำตอบที่ถูกต้องไม่ได้

ในขณะที่ผู้เรียนบาลีจนจบประโยคสูงสุด-ที่เราชื่นชมกัน-ก็มีอยู่เกลื่อนกล่น แต่ไม่ได้ช่วยหาคำตอบอะไรให้สังคม

กระนี้แล้วจะต่างอะไรกับหมอที่เรียนจบออกมาแล้ว แต่ไม่รักษาคนป่วย-ทั้งๆ ที่คนป่วยก็มีอยู่เกลื่อนกล่น

——————–

ได้ยินมาว่ามีการเสนอให้ผู้สอบเปรียญธรรม ๙ ประโยคได้มีสถานภาพเป็น “ดอกเตอร์” คือเป็นดุษฎีบัณฑิตอยู่ในทำเนียบของสังคมด้วยสาขาหนึ่ง 

แต่มีกระแสคัดค้าน

ญาติมิตรท่านหนึ่งซึ่งเป็นดอกเตอร์ตัวจริงบอกผมว่า แบบนั้นดอกเตอร์ที่เขาต้องทำงานวิจัยแทบล้มประดาตายจึงสำเร็จมาได้ก็ไม่มีความหมายอะไรในเมื่อเพียงแค่ทำข้อสอบภาษาบาลีบนกระดาษแผ่นเดียวได้ก็เป็นดอกเตอร์ได้แล้ว

ฟังแล้วได้ยินกระแสเสียงดูแคลนอย่างชัดเจน-ซึ่งผมเห็นด้วยอย่างยิ่ง 

สมควรอย่างยิ่งที่เขา-และนักวิชาการปฏิบัติการทั้งหลาย-จะต้องรู้สึกเช่นนั้น

ผมเห็นว่า วิธีที่จะให้สังคมยอมรับว่าผู้เรียนมาทางบาลีควรแก่เกียรติยศที่จะเป็นดุษฎีบัณฑิตได้อย่างภาคภูมิก็คือการลงมือปฏิบัติกับพระคัมภีร์

จบบาลีแล้ว ได้กุญแจมาแล้ว เดินหน้าเข้าหาตู้พระไตรปิฎก

อัญเชิญพระคัมภีร์ออกมาศึกษาวิจัยให้ทะลุปรุโปร่ง

งานที่จะจัดจะทำกับพระคัมภีร์-แต่ไม่มีใครทำ-ยังมีอีกมากมายมหาศาล

ยกตัวอย่างเล่นๆ เท่าที่นึกได้ทันทีเดี๋ยวนี้ ก็อย่างเช่น 

– พจนานุกรมกรมบาลี-ไทย ฉบับสมบูรณ์ (ไม่ใช่ฉบับเบี้ยหัวแตก คนโน้นทำบ้าง คนนี้ทำบ้าง กระจายกันไปหมดอย่างที่เป็นอยู่)

– นามานุกรมบาลี แบบเดียวกับ dictionary of Pali proper names

แค่ ๒ ชิ้นนี่ก็สนุกมือแล้ว ทำสำเร็จจะเป็นเกียรติยศของแผ่นดินไทย ที่เราภูมิใจว่าเป็นแผ่นดินพระพุทธศาสนา

นอกจากนี้ก็มีงานวิจัยในแง่มุมอื่นๆ อีกมากมายที่ควรจัดควรทำ-โดยเฉพาะเงื่อนแง่ในพระธรรมวินัยที่ยังเข้าใจผิดปฏิบัติพลาดคลาดเคลื่อนอยู่ทั่วไปในสังคม-ใครมีเวลาก็ขอให้ลองทำ list ออกมาดูเถิด งานกองท่วมหัวแน่ๆ 

งานที่เราช่วยกันเข้ามาจับมาทำมาลูบคลำพระคัมภีร์แบบนี้ต่างหากที่สมควรทำ เป็นงานที่กำลังรอผู้เรียนจบบาลีอยู่ 

เหมือนคนป่วยที่รอหมอ

ช่วยกันทำออกมาให้เป็นผล แล้วสังคมเขาก็จะมองเห็นและตัดสินให้เราเองว่าสมควรแก่การที่จะเป็นดุษฎีบัณฑิตหรือไม่-โดยไม่ต้องเที่ยวสะกิดแขนให้ใครที่ไหนมายกย่อง

ขอให้ดูหลวงพ่อหลวงปู่ที่เราเรียกกันว่าพระสุปฏิบัติ แม้อยู่ตามป่าตามเขาห่างไกลก็ยังมีคนดั้นด้นไปกราบไหว้สักการะ ท่านไม่ได้ร้องขอให้ใครไปเลื่อมใสเลย 

การปฏิบัติดีปฏิบัติชอบของท่านต่างหากเล่าที่ดึงดูดผู้คนไปกันเอง

ฉันใดก็ฉันนั้น

ผมเคยเสนอผู้บริหารการพระศาสนาให้ตั้งหน่วยงานวิชาการพระพุทธศาสนาขึ้นมา ระดมกำลังผู้เรียนจบบาลีให้เข้ามาช่วยกันทำงานศึกษาค้นคว้าพระคัมภีร์หาคำตอบให้แก่ปัญหาเกี่ยวกับพระธรรมวินัย แล้วเผยแพร่ออกไปให้สังคมรับรู้ ผู้คนจะได้รู้เข้าใจว่าอะไรถูกอะไรผิดพลาดคลาดเคลื่อน 

ถ้าสมมุติว่าข้อเสนอนี้ นายกรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอ หรือท่านผู้สูงกว่านั้นมีกระแสลงมา 

ป่านนี้เรียบร้อยไปนานแล้ว

อย่างที่ผมเคยบอกว่า-สั่งเช้า เย็นก็ตั้งเสร็จและลงมือทำงานกันได้ทันที

แต่สังคมไทยเราเห็นความสำคัญของตัวผู้เสนอมากกว่าข้อเสนอเสมอ

เราจึงยังคงอยู่กันแบบนี้-แบบที่-เรื่องควรทำไม่มีใครสั่งให้ทำ แต่เรื่องไม่ควรทำปล่อยให้ทำกันได้อย่างเสรี 

ขอให้นักบาลีทั้งหลายที่กำลังรอผลการสอบจงมีกำลังใจที่ทะลุผ่านกำแพงที่ลวงตาลวงใจ-คือหวังเพียงสอบได้-นี่ออกไป แล้วก้าวไปให้ถึงเป้าหมายที่ถูกต้องของการเรียนบาลีโดยทั่วกัน 

ลองถามตัวเองดูเถิดว่า –

จบบาลีแล้วไม่ศึกษาค้นคว้าพระคัมภีร์ต่อไป

จะต่างอะไรกับจบแพทย์แล้วไม่รักษาคนป่วย?

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๑

๑๒:๒๘

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *