กุมาร (บาลีวันละคำ 2,080)
กุมาร
กัณฑ์ที่ 8 ในมหาเวสสันดรชาดก 13 กัณฑ์
“กุมาร” บาลีอ่านว่า กุ-มา-ระ รากศัพท์มาจาก –
(1) กุมารฺ (ธาตุ = เล่น) + อ ปัจจัย
: กุมารฺ + อ= กุมาร แปลตามศัพท์ว่า “ผู้เล่นสนุก”
(2) กมุ (ธาตุ = ปรารถนา) + อาร ปัจจัย, แปลง อ ที่ ก-(มุ) เป็น อุ, ลบสระท้ายธาตุ
: กมุ > กุมุ > กุม + อาร = กุมาร แปลตามศัพท์ว่า “ผู้อันบิดามารดาปรารถนา”
(3) กุ (แผ่นดิน) + ขรฺ (ธาตุ = ขีด, เขียน) + ณ ปัจจัย, ยืดเสียง อะ ที่ ข เป็น อา, แปลง ข เป็น ม
: กุ + ขรฺ + ณ = กุขร > กุมร > กุมาร แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ขีดดินเล่น”
(4) กุ (แผ่นดิน) + รมฺ (ธาตุ = สนุก, ยินดี) + ณ ปัจจัย, ผัน รมฺ เป็น มรฺ, ยืดเสียง อะ ที่ ม เป็น อา
: กุ + รมฺ > มร + ณ = กุมร > กุมาร แปลตามศัพท์ว่า “ผู้สนุกอยู่บนดิน”
“กุมาร” หมายถึง เด็กชาย
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “กุมาร” ว่า a young boy, son (เด็กน้อย, บุตร)
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“กุมาร : (คำนาม) เด็กชาย. (ป., ส. กุมาร ว่า เด็กชาย, ลูกหลวง); ชื่อกัณฑ์ที่ ๘ แห่งมหาเวสสันดรชาดก.”
ที่เราไม่ค่อยทราบกันก็คือ ในคัมภีร์พระไตรปิฎกเรียกเรียกชื่อกัณฑ์นี้ว่า “ทารกปพฺพํ” คือไม่ได้เรียก “กุมาร” แต่เรียกว่า “ทารก”
ศัพท์ว่า “ทารก” บาลีอ่านว่า ทา-ระ-กะ รากศัพท์มาจาก –
(1) ทรฺ (ธาตุ = ทำลาย) + ณฺวุ ปัจจัย, แปลง ณฺวุ เป็น อก (อะ-กะ), สูตร : “ทีฆะต้นธาตุด้วยอำนาจปัจจัยเนื่องด้วย ณ” (ณฺวุ คือปัจจัยเนื่องด้วย ณ) : ทรฺ > ทาร
: ทรฺ + ณฺวุ > อก = ทรก > ทารก แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ทำลายแผ่นดิน คือเขียนแผ่นดินเล่น”
(2) ทฺวิ (สอง) + อรฺ (ธาตุ = ไป) + ณฺวุ ปัจจัย, แปลง ทฺวิ เป็น ท, ณฺวุ เป็น อก, ทีฆะ อะ ต้นธาตุ เป็น อา (อรฺ > อาร)
: ทฺวิ > ท + อรฺ = ทรฺ + ณฺวุ > อก = ทรก > ทารก แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ไปพร้อมกับมารดาบิดาทั้งสอง”
“ทารก” หมายถึง เด็กน้อย, เด็กชาย; เด็ก, คนหนุ่ม (a young boy, child, youngster; a young man)
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“ทารก : (คำนาม) เด็กที่ยังอยู่ในครรภ์, เด็กแบเบาะ, เด็กเล็ก ๆ, เด็กที่ยังไม่เดียงสา. (ป., ส.).”
ขยายความ :
“กุมาร” เป็นชื่อกัณฑ์ที่ 8 ของมหาเวสสันดรชาดก
ในคัมภีร์ชาดก (พระไตรปิฎกเล่ม 28 ข้อ 1158-1182 หน้า 414-424) เรียกชื่อกัณฑ์นี้ว่า “ทารกปพฺพํ” คัมภีร์อรรถกถาเรียกชื่อว่า “กุมารปพฺพํ” คัมภีร์อรรถกถาฉบับพม่าเรียกชื่อว่า “ทารกปพฺพวณฺณนา” (ดูภาพประกอบ) ภาษาไทยใช้ว่า “กุมาร”
เรื่องราวในกัณฑ์ “กุมาร” ว่าด้วยชูชกเดินทางไปถึงอาศรมบทที่ “สี่กษัตริย์เสด็จดำรงสำรวมกิจ” ในเวลาเย็น เห็นว่าเวลานี้พระนางมัทรีอยู่ด้วย เข้าไปทูลขอสองกุมารคงไม่สำเร็จ เพราะ –
“มาตุคาโม
ธรรมดาว่าสตรีนี้เป็นเกาะแก่งกีดกระแสกุศล
มีมัจฉริยะมืดมนคือตัวมาร
ยามเมื่อสามีจะทำทานมักทำลาย
ด้วยแยบคายเข้าค้อนติง
เข้าทักท้วงให้ทอดทิ้งเสียศรัทธาผล
มาตรแม้นว่าอาตมะจะรุกร้นโลภเข้าไปขอ
ซึ่งพระปิยบุตรน้อยหน่อผู้แนบอก
ที่ไหนพระนางเธอจะยอมยกซึ่งพระปิยบุตรทานบารมี …”
ชูชกรอจนรุ่งเช้า คะเนว่าพระนางมัทรีออกไปแสวงหาผลไม้ตามกิจวัตรแล้ว จึงเข้าไปขอสองกุมาร พระเวสสันดรก็ประทานให้ตามปรารถนา ชูชกก็พาสองกุมารเดินทางกลับออกไปจนพ้นประตูป่า
จุดเด่นของกัณฑ์กุมารอยู่ที่บทสำนวนโวหารการเจรจาในเหตุการณ์ต่างๆ เช่น ตอนนางมัทรีฝากลูก ตอนชูชกชักแม่น้ำทั้งห้าขอสองกุมาร ตอนพระเวสสันดรเรียกสองกุมารขึ้นจากสระ ที่เรียกกันว่าแหล่โล้สำเภา ตอนสองกุมารรำพันพิลาป ไปจบกัณฑ์ลงที่สองกุมารสั่งป่า
สำนวนโวหารในกัณฑ์กุมาร ถือได้ว่าเป็นเพชรเม็ดเอกในร่ายยาวมหาเวสสันดรชาดก
……..
กัณฑ์ที่ 8 ทารกปพฺพํ 101 พระคาถา
เพลงประจำกัณฑ์: เพลงโอดเชิดฉิ่ง
…………..
ดูก่อนภราดา!
: เด็กคิดอย่างผู้ใหญ่ น่าชม
: ผู้ใหญ่คิดอย่างเด็ก น่าชัง
#บาลีวันละคำ (2,080)
21-2-61