บาลีวันละคำ

ธรรมิการักขา (บาลีวันละคำ 1,936)

ธรรมิการักขา

ทางรอดของพระพุทธศาสนาที่ไม่มีใครพูดถึง

อ่านว่า ทำ-มิ-กา-รัก-ขา

แยกศัพท์เป็น ธรรมิก + อารักขา

(๑) “ธรรมิก

บาลีเป็น “ธมฺมิก” (ทำ-มิ-กะ) ประกอบด้วย ธมฺม + อิก ปัจจัย

(ก) “ธมฺม” (ทำ-มะ) รากศัพท์มาจาก ธรฺ (ธาตุ = ทรงไว้) + รมฺม (ปัจจัย) ลบ รฺ ที่สุดธาตุ (ธรฺ > ) และ ต้นปัจจัย (รมฺม > มฺม)

: ธรฺ > + รมฺม > มฺม : + มฺม = ธมฺม แปลตามศัพท์ว่า “สภาพที่ทรงไว้

ธมฺม” สันสกฤตเป็น “ธรฺม” เราเขียนอิงสันสกฤตเป็น “ธรรม

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายของ “ธรรม” ในภาษาไทยไว้ดังนี้ –

(1) คุณความดี เช่น เป็นคนมีธรรมะ เป็นคนมีศีลมีธรรม

(2) คําสั่งสอนในศาสนา เช่น แสดงธรรม ฟังธรรม ธรรมะของพระพุทธเจ้า

(3) หลักประพฤติปฏิบัติในศาสนา เช่น ปฏิบัติธรรม ประพฤติธรรม

(4) ความจริง เช่น ได้ดวงตาเห็นธรรม

(5) ความยุติธรรม, ความถูกต้อง, เช่น ความเป็นธรรมในสังคม

(6) กฎ, กฎเกณฑ์, เช่น ธรรมะแห่งหมู่คณะ

(7) กฎหมาย เช่น ธรรมะระหว่างประเทศ

(8) สิ่งของ เช่น เครื่องไทยธรรม

(ข) ธมฺม + อิก = ธมฺมิก แปลตามศัพท์ว่า “ประกอบด้วยธรรม

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “ธมฺมิก” ไว้ดังนี้ –

(1) lawful, according to the Dhamma or the rule (ชอบด้วยกฎหมาย, ถูกตามธรรมหรือกฎเกณฑ์)

(2) proper, fit, right (สมควร, เหมาะสม, ถูกต้อง)

(3) permitted, legitimate, justified (ได้รับอนุญาต, ถูกกฎหมาย, มีเหตุผลถูกต้อง)

(4) righteous, honourable, of good character, just (ชอบธรรม, มีเกียรติ, มีอุปนิสัยดี, ยุติธรรม)

ธมฺมิก” เขียนอิงสันสกฤตเป็น “ธรรมิก

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายไว้ว่า –

ธรรมิก, ธรรมิก– : (คำวิเศษณ์) ประกอบในธรรม, ประพฤติเป็นธรรม, ทรงธรรม, เช่น ธรรมิกราช สหธรรมิก. (ส.; ป. ธมฺมิก).”

(๒) “อารักขา

บาลีเขียน “อารกฺขา” อ่านว่า อา-รัก-ขา รากศัพท์มาจาก อา (คำอุปสรรค = ทั่วไป, ยิ่งขึ้นไป) + รกฺขฺ (ธาตุ = ดูแล, รักษา) + ปัจจัย + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์

: อา + รกฺข = อารกฺขฺ + = อารกฺข + อา = อารกฺขา แปลตามศัพท์ว่า “การดูแลทั่วไป” หมายถึง การอารักขา, การดูแล, การป้องกัน, การเอาใจใส่, การระมัดระวัง (watch, guard, protection, care)

เพื่อให้เห็นความหมายที่กว้างออกไปอีก ขอนำคำแปลคำกริยา “รกฺขติ” (รก-ขะ-ติ) ซึ่งเป็นรากเดิมของ “อารกฺขา” จากพจนานุกรมบาลี-อังกฤษ มาเสนอเพิ่มเติมดังนี้

ความหมายของ รกฺขติ :

(1) ป้องกัน, ให้ที่พึ่ง, ช่วยให้รอด, ปกป้องรักษา (to protect, shelter, save, preserve)

(2) รักษา, ดูแล, เอาใจใส่, ควบคุม (เกี่ยวกับจิต และศีล) (to observe, guard, take care of, control [with ref. to the heart, and good character or morals])

(3) เก็บความลับ, เอาไปเก็บไว้, ระวังมิให้..(คือเลี่ยงจาก) (to keep (a) secret, to put away, to guard against [to keep away from])

อารกฺขา” สันสกฤตเป็น “อารกฺษ

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า

อารกฺษ : (คำนาม) การคุ้มครองหรือรักษา; protection or preservation;- (คุณศัพท์) อันป้องกันหรือคุ้มครองรักษาแล้ว, มีผู้อภิบาล, อันน่าอภิบาล; defended or preserved, having a protector, worthy to be preserved.”

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

อารักขา : (คำกริยา) ป้องกัน, คุ้มครอง, ดูแล. (คำนาม) การป้องกัน, ความคุ้มครอง, ความดูแล. (ป.).”

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ.ปยุตฺโต บอกไว้ว่า –

อารักขา : การขอความคุ้มครองจากเจ้าหน้าที่ฝ่ายบ้านเมือง เมื่อมีผู้ปองร้ายข่มเหง หรือถูกลักขโมยสิ่งของเป็นต้น เรียกว่า ขออารักขา ถือเป็นการปฏิบัติชอบตามธรรมเนียมของภิกษุแทนการฟ้องร้องกล่าวหาอย่างที่ชาวบ้านทำกัน เพราะสมณะไม่พอใจจะเป็นถ้อยความกับใครๆ.”

ระบบวิถีชีวิตของบรรพชิตในพระพุทธศาสนาไม่อนุญาตให้ใช้ความรุนแรง เมื่อมีกรณีที่จำเป็นต้องใช้กำลังบังคับ ท่านให้ “ขออารักขา” คือขอให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายบ้านเมืองเข้ามาจัดการแทนการลงมือปฏิบัติการเอง

ธมฺมิก + อารกฺขา = ธมฺมิการกฺขา > ธรรมิการักขา แปลตามศัพท์ว่า “การอารักขาอันประกอบด้วยธรรม” หมายถึง จัดการรักษาป้องกันและคุ้มครองอันชอบธรรมและเป็นธรรม (provision of the right watch, ward and protection)

…………..

อภิปราย :

ธมฺมิการกฺขา > ธรรมิการักขา เป็นธรรมเนียมการทรงบำเพ็ญพระราชกรณีย์ของพระเจ้าจักรพรรดิ หรือเป็นหน้าที่ของนักปกครองผู้ยิ่งใหญ่ที่จะต้องจัดการให้มีขึ้นในบ้านเมืองและให้ครอบคลุมทั่วถึงทั้งในทางอาณาจักรและศาสนจักร

เรามักจะพูดกันว่า ชาวพุทธจะไม่ใช้ความรุนแรง ใครมาทำร้ายเรา ถ้าเราทำร้ายตอบ เราจะเป็นคนเลวกว่าเขา

ฟังเหมือนว่าชาวพุทธจะต้องยอมถูกทำร้ายฝ่ายเดียวจึงจะถูกต้อง

ถ้าเช่นนั้น พระพุทธศาสนาจะอยู่รอดได้ด้วยวิธีไหน?

ในมหาปรินิพพานสูตร มีพระพุทธพจน์ตรัสไว้เป็นใจความว่า –

บ้านเมืองที่จัดการอารักขา ป้องกัน และคุ้มครองประกอบด้วยธรรมด้วยดี(ธมฺมิการกฺขาวรณคุตฺติ) ในสมณชีพราหมณ์ทั้งหลาย ด้วยตั้งใจว่า ท่านเหล่านั้นที่ยังไม่มาพึงมาสู่บ้านเมืองของเรา ที่มาแล้วขอให้อยู่สบาย ดังนี้ ตลอดกาลเพียงไร ก็พึงหวังได้แต่ความเจริญโดยแท้ หาความเสื่อมมิได้เลยตลอดกาลเพียงนั้น

(มหาปรินิพพานสูตร ทีฆนิกาย มหาวรรค พระไตรปิฎกเล่ม 10 ข้อ 68)

และโดยนัยตรงข้าม บ้านเมืองที่ไม่ได้จัดการอารักขา ป้องกัน และคุ้มครองประกอบด้วยธรรมด้วยดีดังว่านั้น ก็พึงหวังได้แต่ความเสื่อมโดยแท้ หาความเจริญมิได้เลย

นี่คือวิธีที่จะช่วยให้พระพุทธศาสนาอยู่รอด แต่ไม่มีใครเรียกร้องให้ทางบ้านเมืองจัดให้มีขึ้น

ไม่มีแม้แต่การเอ่ยถึง-แม้ในหมู่ชาวพุทธด้วยกันเอง

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ความอัปยศของพระพุทธศาสนา

: คือการอยู่ในบ้านเมืองที่ไม่มีการคุ้มครองรักษาที่เป็นธรรม

#บาลีวันละคำ (1,936)

27-9-60

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย