สักรบรรพ (บาลีวันละคำ 2,082)
สักรบรรพ
กัณฑ์ที่ 10 ในมหาเวสสันดรชาดก 13 กัณฑ์
อ่านว่า สัก-กะ-บับ
ประกอบด้วยคำว่า สักร + บรรพ
(๑) “สักร”
บาลีเป็น “สกฺก” (สัก-กะ) รากศัพท์มาจาก –
(1) สกฺกฺ (ธาตุ = อาจ, สามารถ) + อ ปัจจัย
: สกฺกฺ + อ = สกฺก แปลตามศัพท์ว่า (1) “ผู้สามารถชนะอสูรได้” (2) “ผู้สามารถทำประโยชน์ผู้อื่นและประโยชน์ตนเพราะสามารถคิดเนื้อความพันหนึ่งได้เพียงครู่เดียว”
(2) สกฺกจฺจ (เคารพ, เห็นความสำคัญ) + ณ ปัจจัย, ลบ จฺจ (สกฺกจฺจ > สกฺก) และลบ ณ
: สกฺกจฺจ + ณ = สกฺกจฺจฺณ > สกฺกจฺจ > สกฺก แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ให้ทานโดยเคารพ”
“สกฺก” ถ้าเป็นคุณศัพท์ หมายถึง สามารถ, เป็นไปได้ (able, possible)
“สกฺก” ในที่นี้หมายถึง พระอินทร์ (The god Indra) ภาษาไทยใช้ทับศัพท์ว่า “สักกะ” หรือ “ท้าวสักกะ” หรือเรียกเต็มยศว่า “ท้าวสักกเทวราช”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“สักกะ ๑ : (คำแบบ) (คำนาม) พระอินทร์. (ป.; ส. ศกฺร).”
ในที่นี้ใช้อิงสันสกฤตเป็น “สักร” (สันสกฤต “ศกฺร”)
(๒) “บรรพ”
บาลีเป็น “ปพฺพ” (ปับ-พะ) รากศัพท์มาจาก ปพฺพฺ (ธาตุ = เต็ม, ทำให้เต็ม) + อ ปัจจัย
: ปพฺพฺ + อ = ปพฺพ (นปุงสกลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่เพิ่มเข้ามา”
“ปพฺพ” ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –
(1) ปุ่มหรือข้อ (ของก้านใบไม้), ปล้อง a knot [of a stalk], joint)
(2) ข้อศอก (the elbow)
(3) ส่วน, แผนก, ตอน (section, division, part)
ในที่นี้ “ปพฺพ” มีความหมายตามข้อ (3)
บาลี “ปพฺพ” ภาษาไทยใช้เป็น “บรรพ”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“บรรพ, บรรพ– ๑ : (คำนาม) เล่ม, หมวด, ภาค, ตอน, กัณฑ์. (ป. ปพฺพ; ส. ปรฺวนฺ ว่า ข้อ, ปล้อง).”
สกฺก + ปพฺพ = สกฺกปพฺพ แปลว่า “(เรื่องราว) ตอนที่ว่าด้วยท้าวสักกะ”
“สกฺกปพฺพ” ใช้ในภาษาไทย (ในที่นี้) เป็น “สักรบรรพ”
ข้อสังเกต :
ชื่อกัณฑ์ในมหาเวสสันดรชาดกที่ลงท้ายด้วยคำว่า “ปพฺพ” มีหลายกัณฑ์ คือ ชูชกปพฺพํ ทารกปพฺพํ (กุมารปพฺพํ) มทฺทีปพฺพํ แต่ในภาษาไทยท่านก็ไม่ใช้คำว่า “-บรรพ” ต่อท้าย
ชูชกปพฺพํ ใช้เป็น “ชูชก” ไม่ใช่ “ชูชกบรรพ”
ทารกปพฺพํ (กุมารปพฺพํ) ใช้เป็น “กุมาร” ไม่ใช่ “ทารกบรรพ” หรือ “กุมารบรรพ”
มทฺทีปพฺพํ ใช้เป็น “มัทรี” ไม่ใช่ “มัทรีบรรพ”
แต่ครั้นมาถึง “สกฺกปพฺพํ” แทนที่จะใช้เป็น “สักระ” หรือ “สักกะ” ให้เป็นแนวเดียวกับกัณฑ์อื่นที่มีคำว่า “ปพฺพํ” ต่อท้าย ท่านกลับคงคำว่า “ปพฺพ” ไว้ด้วย ใช้เต็มตามคำเดิมว่า “สักรบรรพ”
ขยายความ :
“สักรบรรพ” เป็นชื่อกัณฑ์ที่ 10 ของมหาเวสสันดรชาดก
ในคัมภีร์ชาดก (พระไตรปิฎกเล่ม 28 ข้อ 1202-1214 หน้า 433-437) เรียกชื่อกัณฑ์นี้ว่า “สกฺกปพฺพํ” (ดูภาพประกอบ) ภาษาไทยใช้ว่า “สักรบรรพ” (สักร-) ก็มี “สักกบรรพ” (สักก-) ก็มี ในที่นี้ใช้ตามที่ปรากฏในหนังสือ “มหาเวสสันดรชาดก” พระนิพนธ์สมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระปรมานุชิตชิโนรส (ตามภาพประกอบ) ซึ่งตรงกับที่สะกดในหนังสือ “มหาชาติคำหลวง” ฉบับหอพระสมุดวชิรญาณ
เรื่องราวในกัณฑ์ “สักรบรรพ” ว่าด้วยท้าวสักกเทวราช ทรงแปลงเพศเป็นพราหมณ์มาทูลขอพระนางมัทรี พระเวสสันดรก็ทรงบำเพ็ญทานบริจาคให้แก่พราหมณ์แปลง
เมื่อท้าวสักกเทวราชได้รับพระราชทานพระนางมัทรีแล้วก็ถวายคืน แล้วทูลว่าพระองค์เป็นท้าวสักกเทวราช มาเพื่อประทานพรแด่พระองค์ ขอพระองค์จงเลือกอัฐวราพร
พระเวสสันดรขอพรแปดประการแด่ท้าวสักกเทวราชช มีรายละเอียดดังนี้ –
พรข้อที่ 1 ขอให้พระบิดามารับข้าพเจ้ากลับไปครองราชสมบัติดังเดิม
พรข้อที่ 2 ขอให้ข้าพเจ้าอย่าพึงพอใจซึ่งการฆ่าคนแม้ผู้นั้นจะเป็นนักโทษถึงประหารชีวิตกระทำผิดอย่างร้ายกาจ ขอให้สามารถปล่อยให้พ้นจากการถูกประหาร
พรข้อที่ 3 ขอให้ข้าพเจ้าได้เป็นที่พึ่งแก่ประชาชนทั้งปวงทุกเพศทุกวัย
พรข้อที่ 4 ขอให้ข้าพเจ้าอย่าได้คบหาภรรยาผู้อื่น ขอให้พึงพอใจแต่ในภรรยาของตน และไม่ตกอยู่ในอำนาจแห่งหญิงทั้งหลาย
พรข้อที่ 5 ขอให้บุตรของข้าพเจ้ามีอายุยืนนาน ได้ครองแผ่นดินโดยธรรมต่อจากข้าพเจ้า
พรข้อที่ 6 ตั้งแต่วันที่กลับคืนถึงพระนคร เมื่อรุ่งอุทัยขึ้นในแต่ละวัน ขอให้อาหารอันเป็นทิพย์พึงปรากฏ
พรข้อที่ 7 เมื่อข้าพเจ้าให้ทาน ขอให้สิ่งของที่ให้นั้นอย่าได้หมดสิ้นไป ขอให้ข้าพเจ้ามีจิตผ่องใสทั้ง ๓ กาล คือก่อนให้ ขณะให้ หลังจากให้แล้ว
พรข้อที่ 8 เมื่อล่วงลับจากภพนี้ ขอให้ข้าพเจ้าได้ไปเกิดในสวรรค์ชั้นดุสิต จุติจากชั้นดุสิตแล้วพึงมาเกิดเป็นมนุษย์และได้ตรัสแก่พระอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ
……..
กัณฑ์ที่ 10 สกฺกปพฺพํ 43 พระคาถา
เพลงประจำกัณฑ์: เพลงกลม
…………..
ดูก่อนภราดา!
: บำเพ็ญบุญเป็นอาจิณ
: ไม่ต้องรอให้พระอินทร์ดลบันดาล
#บาลีวันละคำ (2,082)
23-2-61