มาณพ – มาณวิกา (บาลีวันละคำ 2405)
มาณพ – มาณวิกา
อนาคตของชาติ
อ่านว่า มา-นบ – มา-นะ-วิ-กา
(๑) “มาณพ”
บาลีเป็น “มาณว” (มา-นะ-วะ) รากศัพท์มาจาก มนุ + ณฺว ปัจจัย
(ก) “มนุ” (มะ-นุ) รากศัพท์มาจาก มนฺ (ธาตุ = รู้) + อุ ปัจจัย
: มนฺ + อุ = มนุ แปลตามศัพท์ว่า “ผู้รู้สิ่งที่เป็นประโยชน์และไม่เป็นประโยชน์ของสัตวโลก”
หนังสือ ศัพท์วิเคราะห์ ของ พระมหาโพธิวงศาจารย์ (ทองดี สุรเตโช ป.ธ.๙, ราชบัณฑิต) แปลคำว่า “มนุ” ว่า พระมนู, มนุษย์คนแรก
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “มนุ” ว่า human being; man (มนุษย์; คน)
“มนุ” ภาษาไทยใช้ว่า “มนู” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“มนู : (คำนาม) ชื่อพระผู้สร้างมนุษยชาติและปกครองโลก มี ๑๔ องค์ เรียงกันเป็นยุค ๆ ไป, ยุคหนึ่งเรียกว่า มนวันดร นานกว่า ๔,๐๐๐,๐๐๐ ปี องค์แรก คือ พระสวายมภูวะ พระมนูองค์นี้ถือกันว่าเป็นผู้ทรงออกกฎหมายหรือธรรมศาสตร์ซึ่งยังมีอยู่ตราบเท่าทุกวันนี้เรียกว่า มนุสัมหิตา หรือ มนุสมฺฤติ, เพราะฉะนั้น คํา มนู จึงหมายถึงกฎหมายก็ได้ เช่น มนูกิจ. (ส. มนุ).”
(ข) มนุ + ณฺว ปัจจัย, ลบ ณฺ (ณฺว > ว), ทีฆะ อะ ที่ ม-(นุ) เป็น อา (มนุ > มานุ), “ลบสระหน้า” คือ อุ ที่ มนุ (มนุ > มน), แปลง น เป็น ณ
: มนุ + ณฺว = มนุณฺว > มนุว > มานุว > มานว > มาณว (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “เหล่ากอของมนู”
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “มาณว” ว่า a youth, young man, esp. a young Brahmin (มาณพ, คนหนุ่ม, โดยเฉพาะอย่างยิ่งพราหมณ์หนุ่ม)
บาลี “มาณว” ภาษาไทยแปลง ว เป็น พ ใช้เป็น “มาณพ”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“มาณพ : (คำนาม) ชายหนุ่ม, ชายรุ่น. (ป., ส.).”
(๒) “มาณวิกา”
รากศัพท์มาจาก มาณว + อิก ปัจจัย + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์
: มาณว + อิก = มาณวิก + อา = มาณวิกา ความหมายเหมือน “มาณว” หรือ “มาณพ” เพียงแต่เปลี่ยนจากเพศชายเป็นหญิง คือหมายถึง หญิงสาว, หญิงรุ่น
โปรดสังเกตว่า “มาณว” ภาษาไทยแปลงรูปเป็น “มาณพ” แต่ “มาณวิกา” เราคงใช้ตามรูปคำเดิม ไม่แปลงเป็น “มาณพิกา”
ในภาษาไทยมีคำว่า “มานพ” (-นพ น หนู) อีกคำหนึ่ง พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“มานพ : (คำนาม) คน. (ป.). (มาจากศัพท์ มนุ).”
เป็นอันว่า ในภาษาไทย “มานพ” (-นพ น หนู) หมายถึง คนทั่วไป แต่ “มาณพ” (-ณพ ณ เณร) หมายถึง ชายหนุ่ม, ชายรุ่น
ตามที่แสดงมา จะเห็นว่า “มานพ” กับ “มาณพ” มีรากศัพท์อย่างเดียวกัน แต่ในภาษาไทยกำหนดความหมายตามความเข้าใจของเราเอง
…………..
ดูก่อนภราดา!
: เด็กมองไปข้างหน้า เห็นอนาคต
: ผู้ใหญ่มองไปข้างหน้า เห็นอะไร?
#บาลีวันละคำ (2,405)
12-1-62