ธรรมวินัย (บาลีวันละคำ 2,195)
ธรรมวินัย
ลมหายใจของพระพุทธศาสนา
อ่านว่า ทำ-มะ-วิ-ไน
ประกอบด้วยคำว่า ธรรม + วินัย
(๑) “ธรรม”
บาลีเป็น “ธมฺม” (ทำ-มะ) รากศัพท์มาจาก ธรฺ (ธาตุ = ทรงไว้) + รมฺม (ปัจจัย) ลบ รฺ ที่สุดธาตุ (ธรฺ > ธ) และ ร ต้นปัจจัย (รมฺม > มฺม)
: ธรฺ > ธ + รมฺม > มฺม : ธ + มฺม = ธมฺม (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า –
(1) “กรรมที่ทรงไว้ซึ่งความดีทุกอย่าง” (หมายถึงบุญ)
(2) “สภาวะที่ทรงผู้ดำรงตนไว้มิให้ตกไปในอบายและวัฏทุกข์” (หมายถึงคุณธรรมทั่วไปตลอดจนถึงโลกุตรธรรม)
(3) “สภาวะที่ทรงไว้ซึ่งสัตว์ผู้บรรลุมรรคเป็นต้นมิให้ตกไปในอบาย” (หมายถึงโลกุตรธรรม คือมรรคผล)
(4) “สภาวะที่ทรงลักษณะของตนไว้ หรืออันปัจจัยทั้งหลายทรงไว้” (หมายถึงสภาพหรือสัจธรรมทั่วไป)
(5) “สภาวะอันพระอริยะมีโสดาบันเป็นต้นทรงไว้ ปุถุชนทรงไว้ไม่ได้” (หมายถึงโลกุตรธรรม คือมรรคผล)
คำแปลตามศัพท์ที่เป็นกลางๆ “ธมฺม” คือ “สภาพที่ทรงไว้”
“ธมฺม” สันสกฤตเป็น “ธรฺม” เราเขียนอิงสันสกฤตเป็น “ธรรม”
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายของ “ธรรม” ไว้ดังนี้ –
(1) คุณความดี เช่น เป็นคนมีธรรมะ เป็นคนมีศีลมีธรรม
(2) คําสั่งสอนในศาสนา เช่น แสดงธรรม ฟังธรรม ธรรมะของพระพุทธเจ้า
(3) หลักประพฤติปฏิบัติในศาสนา เช่น ปฏิบัติธรรม ประพฤติธรรม
(4) ความจริง เช่น ได้ดวงตาเห็นธรรม
(5) ความยุติธรรม, ความถูกต้อง, เช่น ความเป็นธรรมในสังคม
(6) กฎ, กฎเกณฑ์, เช่น ธรรมะแห่งหมู่คณะ
(7) กฎหมาย เช่น ธรรมะระหว่างประเทศ
(8) สิ่งของ เช่น เครื่องไทยธรรม
ในที่นี้ “ธรรม” มีความหมายเน้นที่-คําสั่งสอนและหลักประพฤติปฏิบัติในพระพุทธศาสนา
(๒) “วินัย”
บาลีเป็น “วินย” (วิ-นะ-ยะ) รากศัพท์มาจาก วิ (คำอุปสรรค = วิเศษ, แจ้ง, ต่าง) + นี (ธาตุ = นำไป) + อ ปัจจัย แผลง อี (ที่ นี) เป็น เอ, แปลง เอ เป็น อย
: วิ + นี = วินี > (อี เป็น เอ = ) วิเน > (เอ เป็น อย = ) วินย + อ = วินย แปลตามศัพท์ว่า “อุบายเป็นเครื่องนำไป” หรือ “การนำไปอย่างวิเศษ” ความหมายที่เข้าใจกันคือ กฎ, ระเบียบแบบแผน, ข้อบังคับ, ข้อปฏิบัติ
“วินย” ในบาลีใช้ในความหมายหลายอย่าง คือ :
(1) การขับออก, การเลิก, การทำลาย, การกำจัดออก (driving out, abolishing, destruction, removal)
(2) กฎ, วิธีพูดหรือตัดสิน, ความหมาย, วาทวิทยา (วิชาการใช้ถ้อยคำ) (rule, way of saying or judging, sense, terminology)
(3) วินัย, จรรยา, ศีลธรรม, ความประพฤติที่ดี (norm of conduct, ethics, morality, good behavior)
(4) ประมวลจรรยา, วินัยสงฆ์, กฎ, จรรยาบรรณหรือพระวินัย (code of ethics, monastic discipline, rule, rules of morality or of canon law)
“วินย” ภาษาไทยใช้ว่า “วินัย”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“วินย-, วินัย : (คำนาม) ระเบียบแบบแผนและข้อบังคับ, ข้อปฏิบัติ, เช่น วินัยทหาร ทหารต้องยึดมั่นในวินัย; สิกขาบทของพระสงฆ์. (ป., ส.).”
ธมฺม + วินย = ธมฺมวินย (ทำ-มะ-วิ-นะ-ยะ) > ธรรมวินัย แปลตามศัพท์ว่า “พระธรรมและพระวินัย”
พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ขยายความไว้ว่า –
“ธรรมวินัย : ธรรมและวินัย, คำสั่งสอนทั้งหมดของพระพุทธเจ้า ซึ่งประกอบด้วย ธรรม = คำสอนแสดงหลักความจริงและแนะนำความประพฤติ, วินัย = บทบัญญัติกำหนดระเบียบความเป็นอยู่และกำกับความประพฤติ; ธรรม = เครื่องควบคุมใจ, วินัย = เครื่องควบคุมกายและวาจา.”
อภิปราย :
เมื่อพระบรมศาสดาจะเสด็จดับขันธปรินิพพานได้ตรัสแก่พระอานนท์ว่า –
…………..
โย โว อานนฺท มยา ธมฺโม จ วินโย จ
เทสิโต ปญฺญตฺโต โส โว มมจฺจเยน สตฺถา.
ดูก่อนอานนท์ ธรรมและวินัยอันใด เราแสดงแล้วบัญญัติแล้วแก่พวกเธอ ธรรมและวินัยอันนั้นจักเป็นศาสดาของพวกเธอโดยกาลล่วงไปแห่งเรา
ที่มา: มหาปริพพานสูตร ทีฆนิกาย มหาวรรค พระไตรปิฎกเล่ม 10 ข้อ 141
ตามพระพุทธพจน์นี้ เป็นอันว่าพระธรรมวินัยยังดำรงอยู่ตราบใด พระศาสดาก็ชื่อว่ายังทรงดำรงอยู่ตราบนั้น
พระธรรมวินัยแสดงตัวให้ปรากฏเห็นได้ที่การประพฤติปฏิบัติของพุทธบริษัท แต่หลักฐานที่บันทึกพระธรรมวินัยไว้คือพระไตรปิฎก
ชาวพุทธจึงถือกันว่าการศึกษาพระไตรปิฎกเป็นกิจสำคัญอย่างยิ่งเพื่อการยังพระศาสนาให้ดำรงอยู่และดำเนินสืบไป
ปัจจุบันมีแนวคิดชนิดหนึ่งปรากฏตัวขึ้นและมีแนวโน้มว่าจะขยายตัวมากขึ้น แนวคิดนั้นบอกว่า พระไตรปิฎกเป็นหนังสือที่มีคนแต่งขึ้นและคัดลอกสืบทอดกันมาช้านาน จึงผิดพลาดคลาดเคลื่อนจากคำสอนที่แท้จริงของพระพุทธเจ้าไปมากแล้ว แต่คำสอนของครูอาจารย์ยังปรากฏตัวให้รู้เห็นอยู่ในปัจจุบัน ดังนั้นคำสอนของครูอาจารย์จึงน่าเชื่อถือกว่าพระไตรปิฎก
ถ้ามีคนคิดอย่างนี้ถืออย่างนี้กันมากขึ้น ก็เป็นอันว่ายิ่งนานวันคำสอนและวิธีประพฤติปฏิบัติก็จะยิ่งผิดแผกแตกต่างขยายกิ่งทิ้งแขนงแตกหน่อออกไปมากขึ้นตามจำนวนอาจารย์ผู้สอนที่นับวันก็จะมากขึ้น จนในที่สุดก็จะไม่มีใครรู้ว่าพระธรรมวินัยคือคำสอนที่แท้จริงของพระพุทธเจ้านั้นเป็นอย่างไรกันแน่
และนั่นก็หมายถึงอวสานสิ้นซากของพระพุทธศาสนานั่นเอง
ถ้าเป็นเช่นนี้ ก็เป็นอันว่าไม่ต้องไปโทษใครที่ไหน การที่เราทุกวันนี้ไม่ศึกษา ไม่เรียนรู้ และไม่ปฏิบัติตามพระธรรมวินัยอันเป็นต้นฉบับที่ถูกต้องนั่นเองคือสาเหตุแห่งความพินาศของพระพุทธศาสนา
…………..
ดูก่อนภราดา!
: พระธรรมวินัยที่อยู่ในตู้
ไม่เท่ากับที่รู้อยู่ในใจ
: แต่ถ้ารู้แล้วไม่ปฏิบัติ
มหาเปรียญเต็มวัด ก็ไม่พ้นวิบัติบรรลัย
#บาลีวันละคำ (2,195)
16-6-61