บาลีวันละคำ

ตรีผลา (บาลีวันละคำ 2,196)

ตรีผลา

ศัพท์วิชาการในตํารายาไทย

อ่านว่า ตฺรี-ผะ-ลา

ประกอบด้วยคำว่า ตรี + ผลา

(๑) “ตรี

บาลีเป็น “ติ” และแปลงเป็น “เต” ได้ด้วย แปลว่า “สาม” (จำนวน 3)

หลักภาษา :

(1) ติ หรือ เต ถ้าคงรูปเช่นนี้ จะต้องมีคำอื่นมาสมาสท้ายเสมอ ไม่ใช้เดี่ยวๆ

(2) ติ หรือ เต ในบาลี มักแผลงเป็น “ตรี” หรือ “ไตร” ในภาษาไทย เช่น

ติ + จีวร = ติจีวร = ไตรจีวร (จีวร 3 ผืน)

ติ + ปิฏก = ติปิฏก = ตรีปิฎก, ไตรปิฎก (คัมภีร์ 3 หมวด = พระไตรปิฎก)

เต + ภูมิ = เตภูมิ > ไตรภูมิ (ภพภูมิทั้ง 3) เช่น “ไตรภูมิพระร่วง” ชื่อเดิมคือ “เตภูมิกถา” (เต + ภูมิ + กถา) หนังสือว่าด้วยภูมิทั้ง 3

เต + มาส = เตมาส = ตรีมาส, ไตรมาส (3 สามเดือน)

ตรี” ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ตรี ๓ : (คำวิเศษณ์) สาม เช่น ตรีเนตร, ชั้นที่ ๓ (ใช้เกี่ยวกับลําดับชั้นหรือขั้นของยศ ตําแหน่ง คุณภาพ หรือ วิทยฐานะ ตํ่ากว่า โท สูงกว่า จัตวา) เช่น ร้อยตรี ข้าราชการชั้นตรี ปริญญาตรี; เรียกเครื่องหมายวรรณยุกต์รูปดังนี้  ๊ ว่า ไม้ตรี. (ส. ตฺริ).”

(๒) “ผลา

บาลีเป็น “ผล” อ่านว่า ผะ-ละ รากศัพท์มาจาก ผลฺ (ธาตุ = สำเร็จ, เผล็ดผล, แตกออก, แผ่ไป) + ปัจจัย

: ผลฺ + = ผล แปลตามศัพท์ว่า (1) “สิ่งที่เผล็ดออก” (2) “สิ่งเป็นเครื่องแผ่ไป” คือขยายพืชพันธุ์ต่อไป (3) “อวัยวะเป็นเครื่องผลิตบุตร

ผล” ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –

(1) ผลของต้นไม้ ฯลฯ (fruit of trees etc.)

(2) ผลที่ได้รับ, ผลที่เกิดตามมา, การสำเร็จผล, พรที่ได้ (fruit, result, consequence, fruition, blessing)

(3) ลูกอัณฑะข้างหนึ่ง (a testicle)

ในที่นี้ “ผล” ใช้ในความหมายตามข้อ (1)

ตรี + ผล = ตรีผล แปลตามศัพท์ว่า “ผลทั้งสาม

ตรีผล” เป็นรูปคำสันสกฤต ถ้าเป็นบาลีต้องเป็น “ติผล” (ติ-ผะ-ละ) หรือ “เตผล” (เต-ผะ-ละ)

ในที่นี้ไม่ใช่ “ติผล” “เตผล” หรือ “ตรีผล” แต่เป็น “ตรีผลา

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ตรีผลา [-ผะลา] : (คำนาม) พิกัดตัวยาประเภทหนึ่งในตำรายาไทย จำกัดจำนวนตัวยาอันเป็นผลไม้ ๓ อย่าง คือ สมอไทย สมอพิเภก มะขามป้อม. (ส. ตฺริผลา).”

พจนานุกรมฯ บอกว่าคำนี้สันสกฤตเป็น “ตฺริผลา

ตามไปดูในสํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน มีคำว่า “ตฺริผลา” บอกไว้ดังนี้ –

(สะกดตามต้นฉบับ)

ตฺริผลา : (คำนาม) ‘ตริผลา,’ กรรษผลาทั้งสามชนิด; the three kinds of myrobalans.”

หมายเหตุ :

คำว่า myrobalan พจนานุกรม สอ เสถบุตร แปลเป็นไทยว่า สมอไทย, สมอพิเภก

เป็นอันว่า “ติผล” หรือ “เตผล” ใช้เป็น “ตรีผลา” ตามรูปคำสันสกฤตสันสกฤต

อภิปราย :

คำว่า “ตรีผลา” นี้มีผู้อ่านว่า ตฺรี-ผะ-หฺลา หรือบางทีก็อ่านว่า ตฺรี-ผฺลา คืออ่านเช่นนั้นเพราะเข้าใจว่า – เป็นอักษรนำ เหมือนคำว่า ผลาญ อ่านว่า ผฺลาน (เสียงสูง) ไม่ใช่ ผะ-ลาน

แต่เนื่องจากคำว่า “-ผลา” ในที่นี้ รากเดิมมาจาก “ผล” อ่านว่า ผะ-ละ “” กับ “” แยกพยางค์กันชัดเจน จึงต้องอ่านว่า ผะ-ลา ไม่ใช่ ผะ-หฺลา หรือ ผฺลา

โปรดดูเทียบกับคำเหล่านี้ :

ผลานิสงส์ (ผล + อานิสงส์) อ่านว่า ผะ-ลา-นิ-สง ไม่ใช่ ผะ-หลา-นิ-สง หรือ ผฺลา-นิ-สง

ผลาผล (ผล + อผล) อ่านว่า ผะ-ลา-ผน ไม่ใช่ ผะ-หลา-ผน หรือ ผฺลา-ผน

ผลาหาร (ผล + อาหาร) อ่านว่า ผะ-ลา-หาน ไม่ใช่ ผะ-หลา-หาน หรือ ผฺลา-หาน

ดังนั้น “ตรีผลา” จึงต้องอ่าน ตฺรี-ผะ-ลา ไม่ใช่ ตฺรี-ผะ-หฺลา หรือ ตฺรี-ผฺลา

แถม :

ถ้าดูพจนานุกรมฯ ที่คำว่า “ตรี” จะพบศัพท์วิชาการในตํารายาไทยเป็นจำนวนมาก คือ

ตรีกฏุก  ตรีกาลพิษ  ตรีเกสรมาศ  

ตรีคันธวาต 

ตรีฉินทลามกา 

ตรีชาต 

ตรีญาณรส 

ตรีทิพ  ตรีทิพยรส  ตรีทุรวสา 

ตรีธารทิพย์ 

ตรีปิตตผล 

ตรีผลธาตุ  ตรีผลสมุฏฐาน  ตรีผลา 

ตรีพิษจักร  ตรีเพชรสมคุณ 

ตรีมธุรส 

ตรีวาตผล 

ตรีสมอ  ตรีสมุตถาน  ตรีสัตกุลา  ตรีสันนิบาตผล  ตรีสาร  ตรีสินธุรส  ตรีสุคติสมุฏฐาน  ตรีสุคนธ์  ตรีสุรผล  ตรีเสมหผล 

ตรีอมฤต  ตรีอากาศผล 

ชื่อเหล่านี้หมายถึงสมุนไพรไทยชนิดไหน มีบอกไว้ทุกคำ บางคำก็บอกด้วยว่าแก้โรคอะไร เป็นภูมิปัญญาไทยที่ควรค่าแก่การศึกษาเรียนรู้ยิ่งนัก

…………..

: ผลไม้ที่รอดมา มีค่าทุกผล

: แต่คนที่รอดชีวิตมา ไม่ได้มีค่าหมดทุกคน

ดูก่อนภราดา!

ค่าของคนอยู่ที่ทำความดี

ศึกษาเรียนรู้ว่าอะไรคือความดี

แล้วทำซะ!

—————

(ชำระหนี้ตั้งแต่ปี 2559 ตามคำขอของ Surapa Decha ผู้มีความอดทนรอเป็นเลิศ)

ภาพประกอบ: จาก google

#บาลีวันละคำ (2,196)

17-6-61

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *