โฆษก (บาลีวันละคำ 2,197)
โฆษก
อ่านว่า โค-สก
บาลีเป็น “โฆสก” อ่านว่า โค-สะ-กะ รากศัพท์มาจาก ฆุส (ธาตุ = ส่งเสียง) ณฺวุ ปัจจัย, แปลง ณฺวุ เป็น อก (อะ-กะ), แผลง อุ ที่ ฆุ-(สฺ) เป็น โอ (ฆุส > โฆส)
: ฆุส + ณฺวุ > อก = ฆุสก > โฆสก แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ส่งเสียง” หมายถึง ผู้ประกาศ, ผู้โฆษณา
สังเกตหลักไวยากรณ์บาลีแบบง่ายๆ :
คำที่มีรากศัพท์เป็น “อุ” มักแผลงเป็น “โอ” เช่น ฆุส > โฆส
คำอื่นๆ ที่แผลงด้วยวิธีเดียวกัน เช่น –
“กุห” (หลอกลวง) แผลงเป็น “โกห” เช่นคำว่า “โกหก”
“ตุส” (ยินดี) แผลงเป็น “โตส” เช่นคำว่า “สันโดษ” (-โดษ > –โตส)
“พุธิ” (รู้) แผลงเป็น “โพธิ” เช่นคำว่า “โพธิสัตว์”
คำต่อไปนี้ ลองฝึกคืนรูป “โอ” กลับเป็น “อุ” –
“โชติ” รูปเดิมคือ …..?
“โทส” รูปเดิมคือ …..?
“โสต” รูปเดิมคือ …..?
หาความหมายของ “โฆสก” จากรูปคำอื่นๆ :
ฆุสฺ ธาตุ ประกอบรูปเป็น “โฆส” (โค-สะ) ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –
(1) เสียงตะโกน, เสียงดัง, การเปล่งเสียง (shout, sound, utterance)
(2) การตะโกน, การครวญคราง, การร้องคราง (shouting, howling, wailing)
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน มีคำว่า “โฆษ” บอกไว้ดังนี้ –
(สะกดตามต้นฉบับ)
“โฆษ : (คำนาม) โคบาล; ธาตุระฆัง (ธาตุสำหรับหล่อระฆัง); เสียงฟ้าคำรนไม่กึกก้องห้องเวหา, ฟ้าร้องเบาๆ; ศัพท์, เสียง; ประกาศ; มศก, ยุง; a herdsman; bell-metal; low thunder; sound; a proclamation; a mosquito.”
ฆุสฺ ธาตุ ประกอบรูปเป็น “โฆสนา” (โค-สะ-นา) ในบาลีใช้ในความหมายว่า ชื่อเสียง, ความโด่งดัง, การสรรเสริญ (fame, renown, praise)
ในสันสกฤตมีคำว่า “โฆษณ” สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ดังนี้ –
(สะกดตามต้นฉบับ)
“โฆษณ : (คำนาม) การพูดดัง, การเอดตะโร; การป่าวร้องหรือประกาศ; speaking loudly, making a great noise; crying or proclaiming.”
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “โฆสก” ว่า sounding, proclaiming, shouting out (ประกาศ, โฆษณา)
บาลี “โฆสก” สันสกฤตเป็น “โฆษก” สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ดังนี้ –
(สะกดตามต้นฉบับ)
“โฆษก : (คำนาม) ผู้ประกาศ, ผู้ป่าวร้อง, นายฉมอง; a cryer, a proclaimer.”
พจนานุกรม สอ เสถบุตร แปล “โฆษก” เป็นอังกฤษว่า a spokesman, a press officer, a press secretary
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“โฆษก : (คำนาม) ผู้ประกาศ, ผู้โฆษณา, เช่น โฆษกสถานีวิทยุ; ผู้แถลงข่าวแทน เช่น โฆษกพรรคการเมือง. (ส.; ป. โฆสก ว่า ผู้ป่าวร้อง, ผู้โฆษณา).”
ประมวลความตามที่มาทั้งหลายแล้ว “โฆษก” ควรหมายถึงคนที่ทำหน้าที่อะไร?
…………..
ดูก่อนภราดา!
: พูดตามคำสั่ง เป็นได้แค่กระบอกเสียง
: พูดความจริงไม่เอนเอียง เป็นโฆษกตัวจริง
#บาลีวันละคำ (2,197)
18-6-61