บาลีวันละคำ

สัทธาจริต (บาลีวันละคำ 2,782)

สัทธาจริต

อย่าเขียนผิดเป็น “ศรัทธาจริต

ประกอบด้วยคำว่า สัทธา + จริต

(๑) “สัทธา

เขียนตามแบบบาลีเป็น “สทฺธา” (สัด-ทา) รากศัพท์มาจาก –

(1) สํ (คำอุปสรรค = พร้อมกัน, ร่วมกัน) + ธา (ธาตุ = เชื่อถือ, นับถือ) + ปัจจัย, แปลงนิคหิตที่ สํ เป็น นฺ แล้วแปลง นฺ เป็น ทฺ (สํ > สนฺ > สทฺ)

: สํ > สนฺ > สทฺ + ธา = สทฺธา + = สทฺธา แปลตามศัพท์ว่า (1) “กิริยาที่เชื่อถือ” (2) “ธรรมชาติเป็นเหตุให้เชื่อถือ

(2) (ตัดมาจาก “สมฺมา” = ด้วยดี, ถูกต้อง) + นิ (คำอุปสรรค = เข้า, ลง) + ธา (ธาตุ = มอบไว้, ฝากไว้) + ปัจจัย, แปลง นิ เป็น ทฺ

: + นิ + ธา = สนิธา + = สนิธา > สทฺธา แปลตามศัพท์ว่า “ธรรมชาติเป็นเหตุให้มอบจิตไว้ด้วยดี

สทฺธา” หมายถึง ความเชื่อ (faith)

บาลี “สทฺธา” สันสกฤตเป็น “ศฺรทฺธา

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ดังนี้ –

ศฺรทฺธา : (คำนาม) ‘ศรัทธา,’ ความเชื่อ; faith, belief.”

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 เก็บไว้ทั้ง“สัทธา” แบบบาลี และ “ศรัทธา” แบบสันสกฤต บอกไว้ดังนี้ –

(1) สัทธา : (คำนาม) ความเชื่อ, ความเลื่อมใส. (ป.; ส. ศฺรทฺธา).

(2) ศรัทธา : (คำนาม) ความเชื่อ, ความเลื่อมใส, เช่น สิ้นศรัทธา ฉันมีศรัทธาในความดีของเขา บางทีก็ใช้เข้าคู่กับคำ ประสาทะ เป็น ศรัทธาประสาทะ. (คำกริยา) เชื่อ, เลื่อมใส, เช่น เขาศรัทธาในการรักษาแบบแพทย์แผนโบราณ. (ส. ศฺรทฺธา; ป. สทฺธา).”

ในที่นี้ “สัทธา” สะกดแบบบาลี ไม่ใช่ “ศรัทธา” แบบสันสกฤต

(๒) “จริต

บาลีอ่านว่า จะ-ริ-ตะ รากศัพท์มาจาก จรฺ (ธาตุ = ประพฤติ, เที่ยวไป) + ปัจจัย, ลง อิ อาคมระหว่างธาตุกับปัจจัย (จรฺ + อิ + )

: จรฺ + อิ + = จริต แปลตามศัพท์ว่า “อันเขาประพฤติแล้ว

จริต” ถ้าใช้เป็นคำนาม (นปุงสกลิงค์) หมายถึง การกระทำ, ความประพฤติ, การอยู่ (action, behaviour, living)

ถ้าใช้เป็นคุณศัพท์ หมายถึง ไป, เคลื่อนที่, เที่ยวไป, จริต, ประพฤติ (going, moving, being like, behaving)

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

จริต : (คำนาม) ความประพฤติ, กิริยาหรืออาการ, เช่น เสียจริต วิกลจริต, มักใช้ในทางไม่ดี เช่น ดัดจริต มีจริต, จริตจะก้าน ก็ว่า, ความประพฤติปรกติ, ความประพฤติที่หนักไปทางใดทางหนึ่ง อันเป็นปรกติอยู่ในสันดาน, แนวโน้มของจิตใจ, มี ๖ อย่าง คือ ราคจริต โทสจริต โมหจริต สัทธาจริต พุทธิจริต วิตกจริต. (ป.).”

สัทธา + จริต = สัทธาจริต (-จะ-ริ-ตะ) แปลตามศัพท์ว่า “ประพฤติด้วยความเลื่อมใส

พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ไทย-อังกฤษ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต แปล “สัทธาจริต” เป็นอังกฤษว่า the devout; the faithful-natured; one of faithful temperament.

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ที่คำว่า “สัทธาจริต” บอกไว้ว่า –

สัทธาจริต : พื้นนิสัยหนักในศรัทธา เชื่อง่าย พึงแก้ด้วยปสาทนียกถา คือ ถ้อยคำที่นำให้เกิดความเลื่อมใสในทางที่ถูก ที่ควร และด้วยความเชื่อที่มีเหตุผล

…………..

พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ข้อ [262] จริต หรือ จริยา 6 บอกไว้ว่า –

สัทธาจริต : ผู้มีศรัทธาเป็นความประพฤติปกติ, ประพฤติหนักไปทางมีจิตซาบซึ้ง ชื่นบาน น้อมใจเลื่อมใสโดยง่าย (Saddhā-carita: one of faithful temperament) พึงชักนำไปในสิ่งที่ควรแก่ความเลื่อมใส และความเชื่อที่มีเหตุผล เช่น พิจารณาอนุสติ 6 ข้อต้น.

…………..

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

สัทธาจริต : (คำนาม) ความประพฤติที่มีพื้นนิสัยหนักไปในทางมีจิตซาบซึ้ง ชื่นบาน น้อมใจเลื่อมใสโดยง่าย, เป็นจริต ๑ ในจริต ๖. (ป.).”

โปรดสังเกตว่า ในที่นี้ “สัทธา” สะกดแบบบาลี คือ “สัทธาจริต” ไม่ใช่ “ศรัทธาจริต

…………..

ลักษณะของคนสัทธาจริต :

ลักษณะนิสัย คนสัทธาจริตเป็นคนฝักใฝ่ในธรรม ชอบบริจาค ได้ยินว่ามีพระปฏิบัติดีปฏิบัติชอบที่ไหนเป็นต้องพยายามดั้นด้นไปกราบไหว้สนทนาธรรม เป็นคนปากกับใจตรงกัน อยากได้ก็บอกตรงๆ ว่าอยากได้ ไม่มีกระมิดกระเมี้ยน เกลียดก็บอกตรงๆ ว่าเกลียด ไม่เสแสร้ง

ท่าทางการเดินของคนสัทธาจริต เดินโดยอาการเรียบร้อยน่ารัก วางเท้ายกเท้าสม่ำเสมอ รอยเท้าของคนสัทธาจริตเป็นรอยกระโหย่งกลางเหมือนคนราคจริต

ท่ายืนของคนสัทธาจริตก็มีอาการเรียบร้อยน่ารักเช่นกัน

คนสัทธาจริตทำอะไรไม่รีบร้อน เช่นเวลานอน จัดที่นอนเรียบร้อยแล้วค่อยเหยียดกายนอน วางมือวางเท้าเรียบร้อย แม้กำลังหลับก็น่ามอง ถ้าถูกปลุกให้ลุกก็จะค่อยๆ ลุก ไม่ผลุนผลัน ตอนนั้นถ้าถามอะไรก็จะพูดตอบเบาๆ เหมือนไม่อยากพูด

เวลาทำงาน เช่นกวาดพื้น คนสัทธาจริตจับไม้กวาดพอดี ไม่แน่นไม่หลวม ไม่รีบเร่ง ไม่ฟาดป่ายเปะปะ พื้นตรงที่กวาดจะสะอาดเรียบร้อย

งานอื่นๆ คนสัทธาจริตมักทำละเอียดลออเรียบร้อย และทำอย่างระมัดระวัง

อาหารการกิน คนสัทธาจริตชอบของกินที่ประดิดประดอยบรรจงจัดและของกินต้องอร่อยเป็นพิเศษเสมอ ตักเข้าปากแต่ละคำเรียบร้อย ไม่มูมมาม มีรสนิยมในการกิน ได้ของถูกปากจะมีความสุขในการกินเป็นพิเศษ

คนสัทธาจริตชอบงานศิลปะ สามารถชี้จุดดีจุดเด่นให้เห็นได้เสมอแม้ในงานที่มีข้อบกพร่อง เดินชมนิทรรศการแต่ละจุดมักอ้อยอิ่งอยู่ได้นานๆ ซาบซึ้งง่าย ไม่เบื่อ บางทีเดินออกไปแล้วยังย้อนกลับมาดูอีก

โปรดสังเกตว่า คนสัทธาจริตจะมีลักษณะทั่วไปคล้ายคลึงกับคนราคจริต ท่านว่าจริตสองประเภทนี้มีแนวโน้มไปในทางเดียวกัน เทียบง่ายๆ คนราคจริตชอบเสพสุขที่ประณีตฉันใด คนสัทธาจริตก็ชอบทำกุศลอย่างประณีตฉันนั้น

(เก็บความจากคัมภีร์วิสุทธิมรรค ภาค 1 กัมมฐานคหณนิเทส)

…………..

อภิปรายขยายความ :

สัทธาจริต” มีความหมายต่างจาก “สัทธา” หรือ “ศรัทธา

สัทธาจริต” เป็นพื้นนิสัยของคน

ศรัทธา” เป็นอารมณ์ที่เกิดเป็นครั้งคราว

ถ้าพูดว่า “เห็นแล้วเกิดศรัทธา” หมายถึง เห็นแล้วเกิดความเลื่อมใสขึ้นมาเฉพาะในขณะนั้น แต่จะพูดว่า “เห็นแล้วเกิดสัทธาจริต” ดังนี้หาได้ไม่

เพราะ “สัทธาจริต” เป็นพื้นอารมณ์หรือลักษณะนิสัยที่เป็นเช่นนั้นตลอดเวลา เช่นเป็นคนละเอียดอ่อนละเมียดละไม ก็เป็นเช่นนั้นเป็นนิสัย ไม่ใช่เกิดขึ้นเป็นครั้งคราว ส่วน “ศรัทธา” เป็นอาการเลื่อมใสซึ่งเกิดขึ้นเป็นครั้งคราวเท่านั้น เมื่อได้ปฏิบัติอย่างใดอย่างหนึ่งสมประสงค์แล้วก็สงบ ไม่ใช่เกิดขึ้นตลอดเวลา

คนทั่วไปย่อมเกิดความเลื่อมใสศรัทธาในสิ่งใดสิ่งหนึ่งกันทุกคน แต่ไม่ได้เป็นคนสัทธาจริตกันทุกคน บางคนเท่านั้นที่เป็นคน “สัทธาจริต

คนทุกคนที่ชื่นชมยินดีเลื่อมใสใครหรือสิ่งใดๆ เราพูดได้ว่าเขาเกิดศรัทธา

แต่คนเกิดศรัทธาไม่ใช่คนสัทธาจริตหมดทุกคน

โปรดใช้คำให้ถูก ถ้าเคยพูดผิดเขียนผิด จงแก้ไขเสียให้ถูก แต่ไม่ควรอธิบายผิดให้กลายเป็นถูก

…………..

ดูก่อนภราดา!

: จงมีศรัทธาเถิด

: แต่อย่าหลงเชื่อ

#บาลีวันละคำ (2,782)

24-1-63

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *