ลีลาวดี (บาลีวันละคำ 2,229)
ลีลาวดี
อ่านว่า ลี-ลา-วะ-ดี
แยกศัพท์เป็น ลีลา + วดี
(๑) “ลีลา”
บาลีอ่านว่า ลี-ลา รากศัพท์มาจาก ลลฺ (ธาตุ = งาม) + อ ปัจจัย, แปลง อะ ต้นธาตุ เป็น อี (ลลฺ > ลีลฺ) + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์
: ลลฺ + อ = ลล > ลีล + อา = ลีลา แปลตามศัพท์ว่า “กิริยาที่งดงาม” หมายถึง การเล่น, ลีลา, การเยื้องกราย (play, sport, dalliance)
“ลีลา” เป็นทั้งรูปบาลีและสันสกฤต
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกความหมายของ “ลีลา” ในสันสกฤตไว้ดังนี้ –
(สะกดตามต้นฉบับ)
“ลีลา : (คำนาม) กรีฑา, เกลิ, การเล่นสนุก; สวิลาสกรีฑา; play; sport, amorous sport.”
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“ลีลา : (คำนาม) ท่าทาง, ท่าทางอันงาม, การเยื้องกราย, เช่น พุทธลีลา; ชื่อพระพุทธรูปปางหนึ่ง อยู่ในพระอิริยาบถยืนยกส้นพระบาทขวาสูงขึ้นจากพื้น ปลายพระบาทยังจดอยู่กับพื้นอยู่ในท่าจะก้าวเพื่อทรงพระดำเนิน พระหัตถ์ขวาห้อยอยู่ในท่าไกว พระหัตถ์ซ้ายยกเสมอพระอุระ ตั้งฝ่าพระหัตถ์ป้องไปเบื้องหน้าเป็นกิริยาเดิน ที่สร้างเป็นท่ายกพระหัตถ์ขวาก็มี; ท่วงทำนอง เช่น ลีลาการพูด ลีลาการเขียน; การเลือกสรรฉันท์หรือแบบประพันธ์ให้เหมาะแก่ข้อความของเรื่อง เช่น ลีลาการประพันธ์. (ป., ส. ลีลา).”
(๒) “วดี”
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
(1) วดี ๑ : (คำนาม) รั้ว, กําแพง. (ป. วติ; ส. วฺฤติ).
(2) วดี ๒ : (คำนาม) คําเติมท้ายคําอื่นที่เป็นนาม หมายความว่า มี เป็นเพศหญิงตามหลักไวยากรณ์ เช่น ดาราวดี ว่า มีดาว.
ได้ความตามพจนานุกรมฯ ว่า “วดี” ในคำไทย มาจาก –
(๑) “วติ” ในบาลี ซึ่งสันสกฤตเป็น “วฺฤติ”
(๒) เป็นคำเติมท้ายคำนามเพศหญิง แปลว่า “มี”
(๑) “วติ” ในบาลี
อ่านว่า วะ-ติ รากศัพท์มาจาก วรฺ (ธาตุ = ห้าม, ปิดกั้น) + ติ ปัจจัย, ลบ รฺ ที่สุดธาตุ (วรฺ > ว)
: วรฺ + ติ = วรติ > วติ (: วรฺ > ว + ติ = วติ) แปลตามศัพท์ว่า “เครื่องกั้น”
“วติ” ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –
(1) รั้ว (a fence)
(2) สิ่งที่เลือก, สิ่งที่เป็นคุณหรือได้ประโยชน์ (a choice, boon)
บาลี “วติ” สันสกฤตเป็น “วฺฤติ”
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ดังนี้ –
“วฺฤติ : (คำนาม) การเลือก; การขอ, การเชิญ; การแวดล้อม; การซ่อนหรือปิดบัง; selecting; asking, requesting; surrounding; hiding.”
โปรดสังเกต :
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน (คนไทยทำ) “การเลือก” แปลเป็นอังกฤษว่า selecting
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ (ฝรั่งทำ) แปล “วติ” เป็นอังกฤษคำหนึ่งว่า a choice (สิ่งที่เลือก)
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน แปล “วฺฤติ” คำหนึ่งว่า “การแวดล้อม” (surrounding)
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “วติ” เป็นอังกฤษคำหนึ่งว่า a fence (รั้ว)
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน: วฺฤติ = การแวดล้อม > surrounding
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ: วติ = รั้ว > a fence
(๒) คำเติมท้ายคำนามเพศหญิง แปลว่า “มี”
ในบาลีมี “ปัจจัย” ตัวหนึ่ง คือ “วนฺตุ” (วัน-ตุ) ลงท้ายคำนาม ทำให้นามคำนั้นแปลว่า “มี-” (ต่อด้วยคำแปลนามคำนั้น) เช่น –
“ภค” (พะ-คะ) แปลว่า โชค (โชคดี)
ภค + วนฺตุ = ภควนฺตุ แปลว่า ผู้มีโชคดี
“ภควนฺตุ” เป็นปุงลิงค์ (คำนามเพศชาย = คำที่หมายถึงชาย) นำไปแจกด้วยวิภัตตินามที่หนึ่ง (ปฐมาวิภัตติ) เอกพจน์ ได้รูปเป็น “ภควา” เป็นคำเรียกพระพุทธเจ้าที่เราคุ้นกันดี นิยมแปลกันว่า “พระผู้มีพระภาค” มีความหมายว่า พระผู้มีโชค
ถ้าจะทำให้เป็นคำนามเพศหญิง ต้องแปลง “วนฺตุ” ปัจจัยเป็น “วนฺตี” เช่น –
ภค + วนฺตี = ภควนฺตี
“ภควนฺตี” นำไปแจกด้วยวิภัตตินามที่หนึ่ง เอกพจน์ ได้รูปเป็น “ภควตี” (พะ-คะ-วะ-ตี)
“ภควตี” เขียนแบบไทยเป็น “ภควดี” แปลว่า หญิงผู้มีโชค
นี่คือที่พจนานุกรมฯ บอกว่า “วดี” เป็น “คําเติมท้ายคําอื่นที่เป็นนาม หมายความว่า มี เป็นเพศหญิงตามหลักไวยากรณ์” (ดูข้างต้น)
เมื่อไปเห็นคำที่ลงท้าย –วดี พึงเทียบเคียงโดยนัยนี้
ลีลา + วดี = ลีลาวดี แปลตามประสงค์ว่า “สตรีผู้มีการเยื้องกรายงดงาม”
ขยายความ :
“ลีลาวดี” เป็นหนังสือธรรมนิยาย บทประพันธ์ของ “ธรรมโฆษ” (ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แสง จันทร์งาม) นางเอกในเรื่องชื่อ “ลีลาวดี” ซึ่งถูกนำมาตั้งเป็นชื่อหนังสือด้วย
นักอ่านรุ่นเก่าตลอดมาจนถึงรุ่นกลางเก่ากลางใหม่ย่อมจะเคยอ่านหรืออย่างน้อยก็ (น่าจะ) เคยได้ยินชื่อธรรมนิยายเรื่องนี้มาแล้วโดยทั่วกัน
อาจกล่าวได้ว่า เพราะอิทธิพลของธรรมนิยายเรื่องนี้จึงทำให้สตรีไทยนิยมตั้งชื่อว่า “ลีลาวดี” ตามชื่อนางเอกในเรื่องกันอยู่ในช่วงเวลาหนึ่ง อันนับได้ว่าเป็นความสำเร็จอย่างงดงามของท่านผู้ประพันธ์
นามปากกา “ธรรมโฆษ” ได้มาจากนามฉายาระหว่างอุปสมบท นั่นคือ “พระมหาแสง โฆสธมฺโม” เปรียญธรรม 6 ประโยค สำนักวัดบรมนิวาส
ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แสง จันทร์งาม หรือ “ธรรมโฆษ” ผู้ประพันธ์ “ลีลาวดี” ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2561 (วันนี้)
…………..
ดูก่อนภราดา!
: ชีวิตสั้น
: แต่ผลงานยาว
————
ภาพประกอบด้วยความเอื้อเฟื้อของ รศ.ดร.จำนง คันธิก
ขอแสดงความขอบคุณไว้ ณ ที่นี้
#บาลีวันละคำ (2,229)
20-7-61