จินตภาพ (บาลีวันละคำ 2,228)
จินตภาพ
และอีกบางภาพ
อ่านว่า จิน-ตะ-พาบ
ประกอบด้วยคำว่า จินต + ภาพ
(๑) “จินต”
บาลีเป็น “จินฺตา” (จิน-ตา) รากศัพท์มาจาก จินฺตฺ (ธาตุ = คิด) + อ ปัจจัย + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์
: จินฺตฺ + อ = จินฺต + อา = จินฺตา แปลตามศัพท์ว่า “การคิด” (“the act of thinking”) หมายถึง ความคิด (thought)
“จินตา” สมาสกับ “ภาพ” ใช้สูตร “ลบสระหน้า” คือ อา ที่ จินตา เป็น จินต–
(๒) “ภาพ”
รูปคำเหมือนจะมาจาก “ภาว” (พา-วะ) ในบาลี
“ภาว” รากศัพท์มาจาก ภู (ธาตุ = มี, เป็น) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ, แผลง อู เป็น โอ, แปลง โอ เป็น อาว
: ภู + ณ = ภูณ > ภู > โภ > ภาว แปลตามศัพท์ว่า “ความมี” “ความเป็น”
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “ภาว” ไว้ดังนี้ –
(1) being, becoming, condition, nature (ความมี, ความเป็น, ภาวะ, ธรรมชาติ)
(2) cultivation or production by thought, mental condition (การปลูกฝัง หรือการผลิตผลด้วยความคิด, ภาวะทางใจ)
ความหมายของ “ภาว” ในภาษาไทย พจน.54 บอกไว้ว่า –
“ภาว-, ภาวะ : (คำนาม) ความมี, ความเป็น, ความปรากฏ, เช่น ภาวะน้ำท่วม ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ. (ป., ส.).”
ภาว แปลง ว เป็น พ = ภาพ
ความหมายของ “ภาพ” ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
(1) ความ, ความมี, ความเป็น, มักใช้ประกอบเป็นส่วนท้ายของคำสมาส เช่น มรณภาพ ว่า ความตาย.
(2) รูปที่ปรากฏเห็นหรือนึกเห็น เช่น ภาพทิวทัศน์ ภาพในฝัน.
(3) สิ่งที่วาดขึ้นเป็นรูปหรือสิ่งที่ถ่ายแบบไว้ เช่น ภาพสีน้ำมัน ภาพถ่าย.
ในที่นี้ “ภาพ” ใช้ในความหมายตามข้อ (2)
เป็นอันว่า “ภาพ” ตามความหมายในภาษาไทยในคำนี้เป็นคนละคำกับ “ภาว” ในบาลี หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง “ภาพ” ในที่นี้เป็นคำที่เรากำหนดความหมายเอาเองในภาษาไทย ไม่ใช่ “ภาว” ในบาลี
จินต + ภาพ = จินตภาพ
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“จินตภาพ : (คำนาม) ภาพที่เกิดจากความนึกคิดหรือที่คิดว่าควรจะเป็นเช่นนั้น, ภาพลักษณ์ ก็ว่า. (อ. image).”
ที่คำว่า “ภาพลักษณ์” (พาบ-ลัก) พจนานุกรมฯ บอกไว้ว่า –
“ภาพลักษณ์ : (คำนาม) ภาพที่เกิดจากความนึกคิดหรือที่คิดว่าควรจะเป็นเช่นนั้น, จินตภาพ ก็ว่า. (อ. image).”
ดูเพิ่มเติม: “ภาพลักษณ์” บาลีวันละคำ (1,647) 7-12-59
“จินตภาพ” เป็นศัพท์บัญญัติจากคำอังกฤษว่า image
พจนานุกรม สอ เสถบุตร แปล image ว่า รูปจำลอง, รูปบูชา เช่น พระพุทธรูป, เงา, ภาพบนจอ บนกระจก หรือบนฟิล์มถ่ายรูป, ภาพในใจ, รูปถ่าย
พจนานุกรมอังกฤษ-บาลี แปล image เป็นบาลีไว้ดังนี้ –
(1) paṭimā ปฏิมา (ปะ-ติ-มา) = รูปจำลอง, รูปปั้น
(2) upaṭṭhiti อุปฏฺฐิติ (อุ-ปัด-ถิ-ติ) = สิ่งที่ถูกแต่งขึ้น
(3) paṭibimba ปฏิพิมฺพ (ปะ-ติ-พิม-พะ) = รูปจำลอง, รูปเปรียบ
(4) paṭirūpa ปฏิรูป (ปะ-ติ-รู-ปะ) = รูปเทียม
(5) ākāra อาการ (อา-กา-ระ) = “สิ่งที่ทำทั่ว” = รูปร่างหน้าตา
โปรดสังเกตว่า ไม่มีคำแปลว่า “จินฺตภาว” (จินตภาพ) ไม่มีแม้แต่ “จินฺต” หรือ “ภาว” คำใดคำหนึ่ง
“จินตภาพ” จึงเป็นคำไทยที่แต่งตัวให้เป็นบาลีสันสกฤต
อีกคำหนึ่งที่มีความหมายคล้ายกับ “จินตภาพ” และ “ภาพลักษณ์” คือ “มโนภาพ”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“มโนภาพ : (คำนาม) ความคิดเห็นเป็นภาพขึ้นในใจ.”
โปรดดูพจนานุกรม สอ เสถบุตร ที่อ้างข้างต้น แปล image เป็นไทยคำหนึ่งว่า “ภาพในใจ”
คำว่า “ภาพ” อีกคำหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับคำว่า image และนิยมพูดกันในภาษาไทยปัจจุบัน คือ “ภาพรวม”
พจนานุกรม Thai-English-French แปล “ภาพรวม” เป็นอังกฤษว่า overall image; overview; synopsis. (ฉบับอื่นอาจแปลเป็นอย่างอื่นอีก)
เข้าใจว่าหลายคนแม้จะชอบใช้คำ-เช่นว่า “โดยภาพรวม” แต่ก็คงอธิบายได้ยากว่า “ภาพรวม” หมายความว่าอย่างไร
…………..
ดูก่อนภราดา!
: ภาพรวมมักจะเป็นภาพลวง
#บาลีวันละคำ (2,228)
19-7-61