บาลีวันละคำ

บวชนาค (บาลีวันละคำ 2,230)

บวชนาค

อ่านว่า บวด-นาก

ประกอบด้วยคำว่า บวช + นาค

(๑) “บวช

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ.ปยุตฺโต บอกไว้ว่า –

บวช : การเว้นทั่ว คือเว้นความชั่วทุกอย่าง (ออกมาจากคำว่า + วชฺ) หมายถึงการถือเพศเป็นนักพรตทั่วไป.”

” เป็นคำอุปสรรค แปลว่า ทั่ว, ข้างหน้า, ก่อน, ออก

วชฺ” เป็นธาตุ (รากศัพท์) แปลว่า ไป, ถึง, เกิด, บรรลุ, แสวงหา, ปรุงแต่ง, กระทำ

มีธาตุอีกคำหนึ่ง คือ “วชฺชฺ” (วัด-ชะ) แปลว่า “เว้น

ในบาลีไม่มีศัพท์ว่า “ปวช” ส่วน + วชฺช รูปบาลีเป็น “ปพฺพชฺชา” (ปับ-พัด-ชา) แปลว่า การถือเพศเป็นนักพรต, การทรงเพศสมณะ, การสละชีวิตครองเรือนออกบวช

ไทยเราแปลง วชฺช เป็น “วช” (ลบ เสียตัวหนึ่ง) จึงเท่ากับ + วช แล้วเขียนแบบไทยว่า “บวช

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

บวช ๑ : (คำกริยา) ถือเพศเป็นภิกษุสามเณรหรือนักพรตอื่น ๆ.”

(๒) “นาค

บาลีอ่านว่า นา-คะ รากศัพท์มาจาก –

(1) (คำนิบาต = ไม่, ไม่ใช่) + อาคุ (ความผิด, ความชั่ว) + ปัจจัย, ลบ อุ ที่ (อา)-คุ (อาคุ > อาค)

: + อาคุ = นาคุ > นาค + = นาค แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ไม่ทำความชั่ว

(2) (คำนิบาต = ไม่, ไม่ใช่) + อฆ (บาป, ความชั่ว), แปลง เป็น (อฆ > อค), ทีฆะ อะ ที่ -(ค) เป็น อา (อค > อาค)

: + อฆ = นาฆ > นาค แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ไม่มีบาป

นาค” (ปุงลิงค์) ในที่นี้หมายถึง ผู้มุ่งจะบวช (an applicant (or candidate) for ordination; ordinand.)

ขยายความ :

ในภาษาบาลี “นาค” ยังมีความหมายอย่างอื่นด้วย คือ –

(1) “สัตว์ที่มองเห็นเป็นเหมือนภูเขา” หมายถึง ช้าง

(2) งูใหญ่มีหงอน ที่เรามักเรียกกันว่า “พญานาค” ภาษาบาลีว่า นาคราชา (นา-คะ-รา-ชา) เป็นความหมายที่เราคุ้นกันมากที่สุด

(3) “ต้นไม้ที่ไปไหนไม่ได้” = ไม้กากะทิง (ใบและผลคล้ายสารภี แต่ใบขึ้นสันมากและผลกลมกว่า เปลือกเมล็ดแข็ง ใช้ทําลูกฉลากหรือกระบวยของเล่น, สารภีทะเล หรือ กระทึง ก็เรียก)

(4) “ผู้ไม่มีผู้ที่เลิศกว่า” = ผู้เลิศ, พระอรหันต์

ในภาษาไทย เฉพาะความหมายในที่นี้ พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

นาค ๕ : (คำแบบ) (คำนาม) ผู้ประเสริฐ, ผู้ไม่ทําบาป; เรียกคนที่ไปอยู่วัดเตรียมตัวจะบวชหรือกําลังจะบวช. (ป., ส.).”

ขยายความ :

การเรียกคนที่ไปอยู่วัดเตรียมตัวจะบวชหรือกําลังจะบวชว่า “นาค” มีมูลเหตุมาจากในเวลาทำพิธีบวช จะต้องระบุชื่อผู้บวชเป็นภาษาบาลี (ที่เรียกว่า “ฉายา” – ดูคำนี้) ในยุคแรกๆ มักสมมุติชื่อผู้บวชว่า “นาโค” ทุกคนเพื่อสะดวกแก่การสวดกรรมวาจา (ปัจจุบันตั้งฉายาต่างกันออกไปเหมือนตั้งชื่อ)

คำว่า “นาโค = นาค” จึงเรียกกันติดปาก ใครจะบวชก็เรียกกันว่า “นาค” มาจนทุกวันนี้

บวช + นาค = บวชนาค เป็นคำประสมแบบไทย แปลจากหน้าไปหลังว่า “ทำพิธีบวชให้แก่นาค

อภิปราย :

ในพระไตรปิฎกแสดงเหตุผลต้นเดิมของการออกบวชไว้ดังนี้ –

…………..

อิติ  ปฏิสญฺจิกฺขติ  สมฺพาโธ  ฆราวาโส  รชาปโถ  อพฺโภกาโส  ปพฺพชฺชา  นยิทํ  สุกรํ  อคารํ  อชฺฌาวสตา  เอกนฺตปริปุณฺณํ  เอกนฺตปริสุทฺธํ  สํขลิขิตํ  พฺรหฺมจริยํ  จริตุํ  ยนฺนูนาหํ  เกสมสฺสุํ  โอหาเรตฺวา  กาสายานิ  วตฺถานิ  อจฺฉาเทตฺวา  อคารสฺมา  อนคาริยํ  ปพฺพเชยฺยํ.

ที่มา: สามัญญผลสูตร ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค พระไตรปิฎกเล่ม 9 ข้อ 102 เป็นต้น

คำแปล –

ย่อมเห็นตระหนักว่า ฆราวาสคับแคบ เป็นทางมาแห่งธุลี บรรพชาเป็นทางปลอดโปร่ง การที่บุคคลผู้ครองเรือนจะประพฤติพรหมจรรย์ให้บริบูรณ์บริสุทธิ์โดยส่วนเดียวดุจสังข์ขัดไม่ใช่ทำได้ง่าย ถ้ากระไรเราพึงปลงผมและหนวด นุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ ออกบวชเป็นบรรพชิต

…………..

สรุปความก็คือ บวชแล้วไปพระนิพพานได้ง่ายกว่าอยู่ครองเรือน

…………..

ดูก่อนภราดา!

สามญฺญํ  ทุปฺปรามฏฺฐํ

นิรยายูปกฑฺฒติ. 

ที่มา: ตายนสูตร สังยุตตนิกาย สคาถวรรค พระไตรปิฎกเล่ม 15 ข้อ 239

: บวชแล้วทำสกปรก

: ไปนรกง่ายกว่าอยู่ครองเรือน

#บาลีวันละคำ (2,230)

21-7-61

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *