บาลีวันละคำ

กิจวัตร (บาลีวันละคำ 2,271)

กิจวัตร

อ่านว่า กิด-จะ-วัด

ประกอบด้วยคำว่า กิจ + วัตร

(๑) “กิจ

บาลีเป็น “กิจฺจ” (กิด-จะ) รากศัพท์มาจาก กรฺ (ธาตุ = กระทำ) + ริจฺจ ปัจจัย, ลบ รฺ ที่ (ก)-รฺ (กรฺ > ) และ ที่ ริ-(จฺจ) (ริจฺจ > อิจฺจ)

: กรฺ > + ริจฺจ > อิจฺจ : + อิจฺจ = กิจฺจ แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่พึงทำ” หมายถึง หน้าที่, การงาน, การบริการ; พิธี, การกระทำ (duty, obligation, service, attention; ceremony, performance)

กิจฺจ” ในภาษาไทยใช้เป็น “กิจ” (กิด)

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

กิจ, กิจ– : (คำนาม) ธุระ, งาน. (ป. กิจฺจ).”

(๒) “วัตร

(1) บาลีเป็น “วตฺต” (วัด-ตะ) รากศัพท์มาจาก วตฺตฺ (ธาตุ = ถือเอา, ประพฤติ) + ปัจจัย

: วตฺต + = วตฺต แปลตามศัพท์ว่า “ข้อที่ควรถือประพฤติ

(2) บาลีเป็น “วต” (วะ-ตะ) รากศัพท์มาจาก –

(ก) วตฺ (ธาตุ = เป็นไป) + ปัจจัย

: วตฺ + = วต แปลตามศัพท์ว่า “การที่เป็นไปตามปกติ

(ข) วชฺ (ธาตุ = ปรุงแต่ง, กระทำ) + ปัจจัย, แปลง เป็น

: วชฺ > วต + = วต แปลตามศัพท์ว่า “การอันเขาปรุงแต่ง

วตฺต” หรือ “วต” ใช้ในภาษาไทยเป็น “วัตร” หมายถึงกิจที่ควรถือประพฤติ, กิจพึงกระทำ, ข้อปฏิบัติ, ความประพฤติ, ธรรมเนียม, ประเพณี, สิ่งที่ทำ, หน้าที่, การบริการ, ประเพณี, งาน (observance, vow, virtue, that which is done, which goes on or is customary, duty, service, custom, function)

กิจ + วัตร = กิจวัตร พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

กิจวัตร : (คำนาม) กิจที่ทําเป็นประจํา.”

ขยายความ :

ในภาษาไทยมีคำที่มีความหมายคล้ายกับ “กิจวัตร” คือคำว่า “กิจกรรม

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

กิจกรรม : (คำนาม) การที่ผู้เรียนปฏิบัติการอย่างใดอย่างหนึ่งเพื่อการเรียนรู้; กิจการ.”

นักภาษาบอกว่า :

กิจกรรม” ตรงกับคำอังกฤษว่า activity

กิจวัตร” ตรงกับคำอังกฤษว่า routine หรือ daily observances

สรุปความแตกต่างในภาษาไทย :

กิจกรรม : มีกำหนดเริ่มต้นและกำหนดเลิก

กิจวัตร : ทำตลอดไป และทำจนเป็นนิสัยคือเป็นวิถีชีวิต

ในสังคมสงฆ์ ท่านจำแนก “วัตร” เป็นดังนี้ –

๑ “กิจวัตร” ว่าด้วยกิจที่ควรทำ เช่น อุปัชฌายวัตร (กิจที่ควรปฏิบัติต่ออุปัชฌาย์อาจารย์) สัทธิวิหาริกวัตร (กิจที่ควรปฏิบัติต่อศิษย์) อาคันตุกวัตร (กิจที่พึงปฏิบัติต่อแขก)

๒ “จริยาวัตร” ว่าด้วยมารยาทอันควรประพฤติ เช่น ไม่ทิ้งขยะทางหน้าต่างหรือทิ้งลงนอกฝานอกกำแพง, ไม่ขากถ่มในที่อันไม่สมควร

๓ “วิธีวัตร” ว่าด้วยแบบอย่างที่พึงกระทำ เช่น วิธีเก็บบริขาร วิธีเปิดปิดหน้าต่างตามฤดู วิธีเดินเป็นหมู่ (เช่นเดินบิณฑบาต)

เฉพาะในคณะสงฆ์ไทย ได้มีผู้รวบรวม “กิจวัตร” ไว้ 10 อย่าง คือ

————-

๑ ลงอุโบสถ

————-

หมายถึง ประชุมกันฟังพระปาติโมกข์ คือศีล 227 ข้อ ทุกครึ่งเดือน ตามกำหนดที่ถือกันมาก็คือในวัน 15 ค่ำ หรือ 14 ค่ำกรณีเดือนขาด เรียกสั้นๆ ว่า “ลงโบสถ์”

ท่านว่าในศาสนาของพระพุทธเจ้าบางองค์ในอดีตกาล 7 ปีพระสงฆ์ลงโบสถ์กันหนหนึ่ง แต่ในศาสนาของพระพุทธเจ้าองค์นี้กำหนด 15 วันลงโบสถ์หนหนึ่ง

———————-

๒ บิณฑบาตเลี้ยงชีพ

———————-

พระต้องออกบิณฑบาตเป็นกิจวัตรประจำวัน กิจข้อนี้ท่านสอนไว้ตั้งแต่วันแรกที่บวช เป็นการยืนยันว่าพระดำรงชีพอยู่ได้ด้วยศรัทธาของชาวบ้าน ให้ตระหนักว่าต้องทำตนเป็นคนเลี้ยงง่าย และต้องทำหน้าที่ของพระให้เต็มที่ อย่าให้เสียข้าวสุกชาวบ้านเปล่าๆ

พระบางรูปที่ไม่ออกบิณฑบาต ต้องมีคำอธิบายได้ตามพระวินัยว่าทำไม

———————

๓ สวดมนต์ไหว้พระ

———————

ตามปกติ พระในเมืองไทยจะชุมนุมกันเพื่อสวดมนต์ไหว้พระวันละ 2 เวลา คือเช้าครั้งหนึ่ง และเย็น (หรือค่ำ) อีกครั้งหนึ่ง เรียกรู้กันว่า ทำวัตรเช้า-ทำวัตรเย็น ถ้าในระหว่างเข้าพรรษา 3 เดือนก็จะเพิ่มพิเศษขึ้นอีกเวลาหนึ่งในเวลาตีสี่

———————————–

๔ กวาดอาวาสวิหารลานพระเจดีย์

———————————–

ข้อนี้ก็คือทำความสะอาดที่อยู่ และทำความสะอาดวัด โดยมากท่านมักจะทำทุกวันในเวลาบ่ายๆ กวาดวัดเสร็จ สรงน้ำ ได้เวลาทำวัตรเย็นพอดี

—————–

๕ รักษาผ้าครอง

—————–

ข้อนี้เป็นการปฏิบัติตามพระวินัย ผ้าไตรจีวรเป็นบริขารประจำตัวที่จำเป็นมาก สมัยโบราณผ้าสำหรับทำไตรจีวรหายาก จึงต้องใช้อย่างประหยัด คือน้อยชิ้นที่สุด ตามวินัยกำหนดให้มีเพียง 3 ชิ้น (ไตรจีวร = ผ้าสามผืน) และต้องใช้ให้คุ้มค่า ชุดหนึ่งต้องใช้ให้ได้ 1 ปี การทอดกฐินปีละครั้งก็คือเป็นวาระผลัดเปลี่ยนไตรจีวรชุดใหม่ประจำปีนั่นเอง

รักษาผ้าครองก็คือดูแลให้ไตรจีวรอยู่กับตัวเสมอ มีศีลข้อหนึ่งบัญญัติไว้ว่า ภิกษุไม่เอาไตรจีวรติดตัวไว้ครบชุดแม้เพียงคืนเดียวก็ต้องอาบัติ

——————

๖ อยู่ปริวาสกรรม

——————

ปริวาส-เป็นวิธีปฏิบัติเพื่อให้พ้นผิดในกรณีที่ต้องอาบัติสังฆาทิเสสแล้วปกปิดไว้ เป็นการลงโทษแบบอารยชน เช่นตัดสิทธิ์บางอย่างเป็นต้น และให้อยู่ในความควบคุมของคณะสงฆ์ เทียบคล้ายกับกักบริเวณทำนองนั้น

พระสมัยก่อนท่านอ้างว่า แม้ไม่ได้ต้องอาบัติสังฆาทิเสสก็ควรอยู่ปริวาสเพื่อความบริสุทธิ์แห่งศีล ผิดหรือไม่ผิดไม่แน่ใจ แต่มายอมรับโทษไว้ก่อน เกินดีกว่าขาด-ประมาณนั้น

—————————–

๗ โกนผมปลงหนวดตัดเล็บ

—————————–

ข้อนี้คำเก่าท่านเรียก “กายบริหาร” ไม่ได้แปลว่าทำท่าดัดตัวหรือยืดเส้นยืดสาย แต่หมายถึงดูแลร่างกายให้สะอาดเรียบร้อยอยู่เป็นนิตย์ จะรวมไปถึงการรักษาสุขภาพให้ปกติด้วยก็ได้

วันที่เรียกกันว่า “วันโกน” ก็สืบเนื่องมาจากการปฏิบัติตามกิจวัตรข้อนี้

——————————————-

๘ ศึกษาสิกขาบทและปฏิบัติพระอาจารย์

——————————————-

ข้อนี้เป็นกิจที่สำคัญมาก คันถธุระทั้งหมดอยู่ในข้อนี้ เป็นที่มาของคำว่า “บวชเรียน” คือบวชแล้วต้องศึกษาพระธรรมวินัยให้รู้เข้าใจชัดเจน ที่ยก “สิกขาบท” ขึ้นมาเป็นหลักก็เพราะเป็นศีลของพระ จำเป็นต้องรู้ ไม่รู้ก็ทำผิด ทำผิดก็เพราะไม่รู้ จึงต้องเรียนให้รู้ นอกจากสิกขาบทแล้วคำสอนอื่นๆ ก็ต้องศึกษาด้วย

เรื่องอื่นๆ จะศึกษาหรือไม่ศึกษา ไม่ว่ากัน แต่เรื่องพระธรรมวินัย ต้องศึกษา ไม่ศึกษาถือว่าบกพร่องต่อหน้าที่อย่างร้ายแรง

ส่วน “ปฏิบัติพระอาจารย์” หมายถึงพระที่บวชยังไม่เกิน 5 พรรษา ตามหลักพระวินัยต้องอยู่ในความปกครองของพระอุปัชฌาย์อาจารย์ เพื่อท่านจะได้อบรมสั่งสอนการควรเว้นควรประพฤติทั้งปวงให้เข้าใจ เมื่ออยู่ในความปกครองของท่านก็ต้องปฏิบัติกิจต่างๆ ที่ศิษย์จะพึงปฏิบัติต่อครูบาอาจารย์ ช่วงเวลาที่เข้าปฏิบัติกิจต่อท่านนี่เองเป็นโอกาสที่ท่านจะแนะนำสั่งสอนไปด้วยในตัวว่าอะไรควรทำอย่างไร ทำอย่างไรผิด ทำอย่างไรถูก คือสอนกันด้วยการกระทำจริง (learning by doing)

ศึกษาสิกขาบทเหมือนภาคทฤษฎี ปฏิบัติพระอาจารย์เหมือนภาคปฏิบัติ

อาจกล่าวได้ว่าการปฏิบัติพระศาสนาที่สืบทอดมาถึงปัจจุบันมาโดยทางนี้มากที่สุด คือศิษย์รับถ่ายทอดมาจากอาจารย์ แล้วศิษย์ก็ถ่ายทอดไปยังศิษย์รุ่นต่อๆ ไป

————-

๙ เทศนาบัติ

————-

คำนี้แปลจากหน้าไปหลัง คือแปลว่า “แสดงอาบัติ” (เทศนา = แสดง) คำเก่าพูดว่า “ปลงอาบัติ” เป็นกิจอย่างหนึ่งของพระ มีแนวคิดทำนองเดียวกับการอยู่ปริวาสกรรม กล่าวคือ ปริวาสกรรมเป็นขั้นตอนการเปลื้องความผิดอันเกิดจากอาบัติหนัก แต่เทศนาบัติเป็นขั้นตอนการเปลื้องความผิดอันเกิดจากอาบัติเบา ซึ่งจะพ้นผิดได้ด้วยการเปิดเผยการกระทำผิดต่อเพื่อนพระด้วยกัน ลงท้ายด้วยรับปากว่าจะสำรวมระวังไม่กระทำผิดเช่นนั้นอีกต่อไป

พระสมัยก่อนนิยมแสดงอาบัติเมื่อฉันเช้าเสร็จแล้วตอนหนึ่ง ก่อนจะทำวัตรสวดมนต์เช้าเย็นอีกตอนหนึ่ง รวมทั้งก่อนจะลงโบสถ์ด้วย ช่วงเวลาดังกล่าวนี้เป็นเวลาที่พระมาอยู่พร้อมหน้ากัน เหมาะที่จะเปิดเผยความผิดของตนให้เพื่อนพระด้วยกันรับทราบ

เทศนาบัติไม่ได้มีเจตนาจะให้ประมาทชะล่าใจไปว่าทำผิดก็ไม่เป็นไร แสดงอาบัติเสียแล้วก็พ้นผิด แต่เป็นการย้ำเตือนให้สังวรระวังตั้งใจรักษาศีลให้บริสุทธิ์อยู่เสมอ

—————————————–

๑๐ พิจารณาปัจจเวกขณะทั้ง 4 เป็นต้น

—————————————–

ปัจจเวกขณะ แปลว่า การไตร่ตรองใคร่ครวญในกิจที่กำลังทำ

เวลาพระจะฉันภัตตาหาร 1 นุ่งห่มจีวร 1 เข้าอยู่อาศัยในกุฎิที่พัก 1 ฉันยาเมื่ออาพาธหรือป้องกันโรค 1 ทั้ง 4 เวลานี้จะต้องไตร่ตรองใคร่ครวญก่อนว่าทำไปเพื่ออะไร เพื่อมิให้เกิดความประมาทเมามัวเพลิดเพลินติดใจในสิ่งนั้นๆ เรียกว่า พิจารณาปัจเวกขณะ บางทีก็เรียกสั้นๆ ว่า “ปัจจเวกขณ์” (มักออกเสียงว่า ปัด-จะ-เหฺวก) ถ้าไม่ทำเช่นนี้ถือว่าประมาท บริโภคใช้สอยปัจจัยสี่ในฐานะเป็นหนี้ชาวบ้าน ไม่สมกับที่เข้ามาบวช การพิจารณาเช่นนี้นับเข้าในภาวนาชนิดหนึ่ง

คำว่า “เป็นต้น” แสดงเจตนาว่าให้พิจารณาธรรมะอื่นๆ ด้วย ว่าโดยเนื้อหานี่ก็คือ “วิปัสสนาธุระ” นั่นเอง

————

ตอนท้ายของกิจวัตร 10 อย่าง มีคำสรุปว่า –

กิจวัตร 10 เหล่านี้เป็นกิจใหญ่ ควรที่ภิกษุจะต้องศึกษาให้ทราบความชัด และจำไว้เพื่อปฏิบัติสมควรแก่สมณสารูปแห่งตน

…………..

บาลีวันละคำชุด:-

: ช่วยกันสืบทอดพระศาสนา

: ช่วยกันรู้ภาษาพระธรรมวินัย

…………..

ดูก่อนภราดา!

: กิจวัตรไม่กี่ข้อ ถ้ายังไม่ช่วยกันเรียนรู้รักษา

: แล้วพระศาสนาทั้งศาสนาเราจะรักษากันไว้ได้อย่างไร

#บาลีวันละคำ (2,271)

31-8-61

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย