บาลีวันละคำ

สันโดษ (บาลีวันละคำ 535)

สันโดษ

อ่านว่า สัน-โดด

บาลีเป็น “สนฺโตส” อ่านว่า สัน-โต-สะ

สนฺโตส” (สันสกฤตเป็น สํโตษ) รากศัพท์คือ สํ (= พร้อม, ดี) + ตุส (ธาตุ = ยินดี) + ปัจจัย แปลงนิคหิตที่ สํ เป็น นฺ แผลง อุ ที่ ตุ เป็น โอ : สํ > สนฺ + ตุส > โตส = สนฺโตส

ภาษาไทยเขียนอิงสันสกฤตเป็น “สันโดษ

(อีกรูปหนึ่งของ “สนฺโตส” คือ “สนฺตุฏฺฐิ” (สัน-ตุด-ถิ) : สํ > สนฺ + ตุส + ติ (แปลง ที่ ตุส กับ ที่ ติ เป็น ฏฺฐ) = สนฺตุฏฺฐิ)

สนฺโตสสันโดษ” แปลตามศัพท์ว่า “ภาวะเป็นเหตุยินดีพร้อม” หมายถึง ความยินดี, ความพอใจ, ความปลื้มใจ, ความยินดีในของของตน, ความยินดีตามฐานะ, ความรู้สึกว่ามีความสุขตามฐานะ (ฝรั่งแปลว่า satisfaction, contentment)

พจน.42 บอกไว้ว่า –

สันโดษ : ความยินดีหรือพอใจเท่าที่ตนมีอยู่หรือเป็นอยู่ เช่น เขาถือสันโดษ.(ปาก) มักน้อย เช่น เขาเป็นคนสันโดษ”

สันโดษ เป็นธรรมะที่ต้องปฏิบัติทางใจ หรือการ “ทำใจ” ไม่ใช่ทางกาย หรือทางวาจา คือให้มีความสุขความพอใจด้วยเครื่องเลี้ยงชีพที่หามาได้ด้วยความเพียรพยายามอันชอบธรรมของตน ไม่โลภ ไม่ริษยาใคร โดยมีหลักดังนี้ –

1. ยถาลาภสันโดษ (ยะ-ถา-ลา-ภะ-) = ยินดีตามที่ได้ คือได้สิ่งใดมาด้วยความเพียรของตน ก็พอใจด้วยสิ่งนั้น (หาเงินได้เดือนละหมื่นก็อิ่มใจกับเงินหมื่น ไม่ใช่มีหมื่นก็ไม่ได้สุข เพราะมัวไปทุกข์กับสองหมื่นที่ยังไม่มี)

2. ยถาพลสันโดษ (ยะ-ถา-พะ-ละ-) = ยินดีตามกำลัง คือพอใจตามที่สามารถจะหาได้ทำได้ (มีหมื่น แต่ถ้ายังสามารถจะหาได้อีกถึงสองหมื่น ก็หาอีกทำอีก ไม่ใช่พอใจอยู่แค่นั้น โดยอ้างว่าพระท่านสอนให้สันโดษ)

3. ยถาสารุปปสันโดษ (ยะ-ถา-สา-รุป-ปะ-) = ยินดีตามสมควร คือพอใจตามที่สมควรแก่ภาวะ ฐานะของตน หรือยินดีในสิ่งที่ถูกธรรมถูกทาง (ได้มา หรือสามารถหาได้เป็นร้อยล้านพันล้านก็จริง แต่โดยมิชอบ ไปยินดีเข้า ผิดสันโดษข้อนี้)

คนทั่วไปมักเข้าใจว่า สันโดษ คือ “ไม่อยากได้ใคร่ดี ไม่อยากทำอะไร มีอะไรอย่างไรก็ปล่อยให้มีตามนั้น อะไรจะเกิดก็ปล่อยไปตามเรื่อง ไม่ต้องทำอะไร ไม่อยากยุ่งกับใคร” ซึ่งเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน

: ประเทศชาติจะช่วงโชติ ถ้าสันโดษให้ถูกวิธี

——————

(คำถามของ Ra-work Jal)

2-11-56

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย