ทุศีล (บาลีวันละคำ 2,273)
ทุศีล
คืออย่างไร
อ่านว่า ทุ-สีน
“ทุศีล” บาลีเป็น “ทุสฺสีล” อ่านว่า ทุด-สี-ละ รากศัพท์มาจาก ทุ + สีล
(๑) “ทุ”
เป็นคําอุปสรรค (อุปสรรค : คำสำหรับใช้เติมข้างหน้าคำนามหรือคำกริยาที่เป็นรูปคำบาลีหรือสันสกฤตให้มีความหมายแผกเพี้ยนไปจากเดิม หรือมีความหมายตรงข้ามกับความหมายเดิมเป็นต้น และถือเป็นคำเดียวกับคำนามหรือคำกริยานั้น เพราะตามปรกติจะไม่ใช้ตามลำพัง) มีความหมายว่า ชั่ว, ผิด, ยาก, ลําบาก, ทราม, การใช้ไปในทางที่ผิด, ความยุ่งยาก, ความเลว (bad, wrong, perverseness, difficulty, badness)
“ทุ” อุปสรรคคำนี้นักเรียนบาลีในไทยท่องจำคำแปลได้ตั้งแต่ชั้นไวยากรณ์ว่า “ชั่ว, ยาก, ลําบาก, ทราม, น้อย”
(๒) “สีล”
บาลีอ่านว่า สี-ละ รากศัพท์มาจาก –
(1) สีลฺ (ธาตุ = สงบ, ทรงไว้) + อ ปัจจัย
: สีลฺ + อ = สีล แปลตามศัพท์ว่า “เหตุสงบแห่งจิต” “เหตุให้ธำรงกุศลธรรมไว้ได้” “ธรรมที่ธำรงผู้ปฏิบัติไว้มิให้เกิดในอบาย”
(2) สิ (ธาตุ = ผูก) + ล ปัจจัย, ยืดเสียง (ทีฆะ) อิ ที่ สิ เป็น อี
: สิ + ล = สิล > สีล แปลตามศัพท์ว่า “เครื่องผูกจิตไว้”
นัยหนึ่งนิยมแปลกันว่า “เย็น” หรือ “ปกติ” โดยความหมายว่า เมื่อไม่ละเมิดข้อห้ามก็จะทำให้เกิดความร่มเย็นเป็นปกติเรียบร้อย
“สีล” หมายถึง :
(1) ข้อปฏิบัติทางศีลธรรม, นิสัยที่ดี, จริยธรรมในพุทธศาสนา, หลักศีลธรรม (moral practice, good character, Buddhist ethics, code of morality)
(2) ธรรมชาติ, นิสัย, ความเคยชิน, ความประพฤติ (nature, character, habit, behavior)
“สีล” ในบาลี เป็น “ศีล” ในสันสกฤต
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –
(สะกดตามต้นฉบับ)
(1) ศีล : (คำคุณศัพท์) มี; มีความชำนาญ; มีมรรยาทหรือจรรยาดี, มีอารมณ์ดี; endowed with, or possessed of; versed in; well-behaved, well-disposed.
(2) ศีล : (คำนาม) ชาติหรือปรกฤติ, คุณหรือลักษณะ; ภาวะหรืออารมณ์; สุศีล, จรรยา– มรรยาท– หรืออารมณ์ดี; การรักษาหรือประติบัทธรรมและจรรยาไว้มั่นและเปนระเบียบ; โศภา, ความงาม; งูใหญ่; nature, quality; disposition or inclination; good conduct or disposition; steady or uniform observance of law and morals; beauty; a large snake.
ในภาษาไทยนิยมใช้ตามรูปสันสกฤตเป็น “ศีล”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“ศีล : (คำนาม) ข้อบัญญัติทางพระพุทธศาสนาที่กําหนดการปฏิบัติกายและวาจา เช่น ศีล ๕ ศีล ๘, การรักษากายวาจาให้เรียบร้อย, เป็นธรรมข้อ ๑ ในทศพิธราชธรรม; (ดู ทศพิธราชธรรม และ ราชธรรม); พิธีกรรมบางอย่างทางศาสนา เช่น ศีลจุ่ม ศีลมหาสนิท. (ส. ศีล ว่า ความประพฤติที่ดี; ป. สีล).”
พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ.ปยุตฺโต ขยายความคำว่า “ศีล” ไว้ว่า –
“ศีล : ความประพฤติดีทางกายและวาจา, การรักษากายและวาจาให้เรียบร้อย, ข้อปฏิบัติสำหรับควบคุมกายและวาจาให้ตั้งอยู่ในความดีงาม, การรักษาปกติตามระเบียบวินัย, ปกติมารยาทที่ปราศจากโทษ, ข้อปฏิบัติในการฝึกหัดกายวาจาให้ดียิ่งขึ้น, ความสุจริตทางกายวาจาและอาชีพ; มักใช้เป็นคำเรียกอย่างง่ายสำหรับคำว่า อธิศีลสิกขา (ข้อ 1 ในไตรสิกขา, ข้อ 2 ในบารมี 10, ข้อ 2 ในอริยทรัพย์ 7, ข้อ 2 ในอริยวัฑฒิ 5).”
การประสมคำ :
ทุ + สีล, ซ้อน สฺ
: ทุ + สฺ + สีล = ทุสฺสีล (คุณศัพท์) แปลตามศัพท์ว่า “ผู้มีศีลอันโทษประทุษร้ายแล้ว” หมายถึง มีนิสัยเลว, บกพร่องทางศีลธรรม, ไร้ศีลธรรม (of bad character, of bad conduct; void of morality; immoral.)
“ทุสฺสีล” ในภาษาไทยใช้เป็น “ทุศีล” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“ทุศีล : (คำวิเศษณ์) ล่วงละเมิดศีลหรือวินัย (มักใช้แก่นักบวชนักพรต). (ส.; ป. ทุสฺสีล).”
อภิปราย :
คำว่า “ทุศีล” มักใช้เรียกคนที่-โดยฐานะแล้วจะต้องมีศีล เช่นสมณะละเมิดศีล หรือผู้ต้องวางตนอยู่ในกรอบแห่งระเบียบวินัยตามฐานะของตนอย่างเคร่งครัด แต่กลับประพฤติผิดวินัย และมักล่วงละเมิดเช่นนั้นอยู่เนืองๆ โดยไม่ละอายแก่ใจ เช่นเป็นข้าราชการ แต่ประพฤติทุจริตเป็นต้น
แต่ผู้ที่โดยปกติธรรมดาย่อมประพฤติชั่ว เช่นโจรผู้ร้าย หรือผู้ที่ไม่ได้มีกรอบขอบเขตว่าจะต้องอยู่ในศีลธรรมอย่างเคร่งครัด จึงอาจกระทำการบางอย่างที่ไม่เหมาะสมเป็นครั้งคราว เช่นชาวบ้านดื่มสุรา เช่นนี้โดยโลกโวหารมักไม่นิยมเรียกว่า “ทุศีล”
แต่โดยหลักพระธรรมวินัยในพระพุทธศาสนา คำว่า “ทุสฺสีล” หรือ “ทุศีล” ท่านหมายถึง คนที่ไม่มีศีล ไม่ถือศีล หรือไม่คำนึงถึงศีลธรรมใดๆ
…………..
บาลีวันละคำชุด:-
: ช่วยกันสืบทอดพระศาสนา
: ช่วยกันรู้ภาษาพระธรรมวินัย
…………..
ดูก่อนภราดา!
: โจรมีศีล เป็นเรื่องผิดธรรมชาติ
: สมณะศีลขาด เป็นเรื่องผิดธรรมดา
#บาลีวันละคำ (2,273)
2-9-61