บาลีวันละคำ

กายพันธน์ (บาลีวันละคำ 2,274)

กายพันธน์

หนึ่งในอัฐบริขาร

อ่านว่า กาย-ยะ-พัน

ประกอบด้วยคำว่า กาย + พันธน์

(๑) “กาย

บาลีอ่านว่า กา-ยะ รากศัพท์มาจาก –

(1) กุ (สิ่งที่น่ารังเกียจ, สิ่งที่น่าเกลียด) + อาย (ที่มา, ที่เกิดขึ้น), “ลบสระหน้า” คือ อุ ที่ กุ (กุ > )

: กุ > + อาย = กาย แปลตามศัพท์ว่า “ที่เกิดขึ้นของสิ่งที่น่ารังเกียจทั้งหลาย

(2) (อวัยวะ) + อายฺ (ธาตุ = ไป, เป็นไป), + ปัจจัย

: + อายฺ = กายฺ + = กาย แปลตามศัพท์ว่า “ที่เป็นที่เป็นไปแห่งอวัยวะทั้งหลาย

(3) กาย (ร่างกาย) + ปัจจัย, ลบ

: กาย + = กายณ > กาย แปลตามศัพท์ว่า “ที่เกิดขึ้นแห่งส่วนย่อยทั้งหลายเหมือนร่างกาย” (คือร่างกายเป็นที่รวมแห่งอวัยวะน้อยใหญ่ฉันใด “สิ่งนั้น” ก็เป็นที่รวมอยู่แห่งส่วนย่อยทั้งหลายฉันนั้น)

กาย” (ปุงลิงค์) หมายถึง ร่างกาย; กลุ่ม, กอง, จำนวนที่รวมกัน, การรวมเข้าด้วยกัน, ที่ชุมนุม (body; group, heap, collection, aggregate, assembly)

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

กาย, กาย– : (คำนาม) ตัว เช่น ไม่มีผ้าพันกาย, และมักใช้เข้าคู่กับคํา ร่าง เป็น ร่างกาย, ใช้เป็นส่วนท้ายของสมาส หมายความว่า หมู่, พวก, เช่น พลกาย = หมู่ทหาร. (ป., ส.).”

(๒) “พันธน์

บาลีเป็น “พนฺธน” อ่านว่า พัน-ทะ-นะ รากศัพท์มาจาก พนฺธฺ (ธาตุ = ผูก, มัด) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ)

: พนธฺ + ยุ > อน = พนฺธน แปลตามศัพท์ว่า “ภาวะอันเขาผูกไว้” “วัตถุเป็นเครื่องผูก

นักเรียนบาลีแปล “พนฺธน” ว่า เครื่องผูก แต่พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปลคำนี้ไว้อีกหลายอย่าง คือ –

(1) binding, bond, fetter (เครื่องผูก, เครื่องมัด, เครื่องรัด)

(2) tying, band, ligature; tie, binding (การมัด, การผูก, การพัน, ผ้าหรือเชือกพันหรือรัดแผล, เครื่องผูกพัน)

(3) holding together, composition, constitution; composition of literature (การยึดถือไว้ด้วยกัน, การประกอบ, การก่อตั้ง; การประพันธ์)

(4) joining together, union, company (การรวมกัน, หมู่หรือบริษัท)

(5) handle (ด้าม)

(6) piecing together (การปะติดปะต่อเข้าด้วยกัน)

(7) strap (สายรัด)

บาลี “พนฺธน” ในภาษาไทยใช้เป็น “พันธน-” และ “พันธนะ” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

พันธน-, พันธนะ : (คำนาม) การผูก, การมัด, การจําขัง; เครื่องผูก, เครื่องมัด, เครื่องจํา. (ป., ส.).”

กาย + พนฺธน = กายพนฺธน (กา-ยะ-พัน-ทะ-นะ) แปลว่า “ผ้าสำหรับผูกกาย” หมายถึง ผ้าหรือเชือกรัดเอว, เข็มขัด, ประคดเอว (a girdle or waistband)

ในที่นี้ “กายพนฺธน” ใช้ในภาษาไทยเป็น “กายพันธน์” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

กายพันธน์ : (คำนาม) เครื่องรัดตัว คือ รัดประคด. (ป., ส.).”

ตามไปดูที่คำว่า “รัดประคด” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 บอกไว้ว่า –

รัดประคด : (คำนาม) ผ้าที่ใช้รัดอกหรือสายที่ถักด้วยด้ายเป็นต้นสําหรับรัดเอวของภิกษุสามเณร, เรียกสั้น ๆ ว่า ประคด, ถ้าใช้รัดอก เรียกว่า ประคดอก, ถ้าใช้รัดเอว เรียกว่า ประคดเอว.”

ต่อมา พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ปรับแก้คำนิยามใหม่เป็นดังนี้ –

รัดประคด : (คำนาม) ผ้าสำหรับรัดอกของภิกษุสามเณร, ประคดอก ก็เรียก.”

อภิปราย :

ตามพจนานุกรมฯ “กายพันธน์” คือ รัดประคด

และ “รัดประคด” คือ ผ้าสำหรับรัดอก

เพราะฉะนั้น “กายพันธน์” ก็คือ ผ้าสำหรับรัดอก

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “กายพนฺธน” ว่า a girdle or waistband (ผ้าหรือเชือกรัดเอว, เข็มขัด, ประคดเอว)

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต มีคำว่า “ประคด” บอกไว้ดังนี้ –

ประคด : ผ้าใช้คาดเอวหรือคาดอกสำหรับพระ (เรียก ประคดอก ประคดเอว) มี ๒ อย่าง คือ ประคดแผ่น ๑ ประคดไส้สุกร ๑.”

อย่างไรก็ตาม พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ที่คำว่า “ประคด” บอกไว้ดังนี้ –

ประคด : (คำนาม) เครื่องคาดเอวหรืออกของพระภิกษุสามเณร, ถ้าเป็นสายถักเป็นแผ่นสําหรับคาดเอว เรียกว่า ประคดเอว, ถ้าเป็นผืนผ้าสําหรับคาดอก เรียกว่า ประคดอก, รัดประคด ก็เรียก; ผ้าสําหรับคาดเอวทับเครื่องแบบขุนนางสมัยโบราณ.”

ตามพจนานุกรมฯ “ประคด” มีทั้งประคดเอวและประคดอก

และ “ประคด” (ซึ่งมีทั้งประคดเอวและประคดอก) นี้ พจนานุกรมฯ บอกว่า “รัดประคด ก็เรียก”

แต่ครั้นไปดูที่คำว่า “รัดประคด” พจนานุกรมฯ ก็บอกว่า “ผ้าสำหรับรัดอกของภิกษุสามเณร, ประคดอก ก็เรียก” คือ “รัดประคด” หมายถึงเฉพาะประคดอก

อ่านดูจะเห็นว่า พจนานุกรมฯ ขัดขาตัวเอง กล่าวคือ พจนานุกรมฯ บอกว่า

คำว่า “ประคด” เรียกว่า “รัดประคด” ก็ได้

ประคด” ซึ่งเรียกว่า “รัดประคด” ก็ได้นี้มีทั้งประคดเอวและประคดอก

แต่ที่คำว่า “รัดประคด” บอกว่าคือประคดอก (ไม่มีประคดเอว)

ถ้าจะไม่ให้พจนานุกรมฯ ขัดขาตัวเองก็ต้อง “หมายความ” กันใหม่ คือ –

ถ้าเรียก “ประคด” หมายถึงทั้งประคดเอวและประคดอก

ถ้าเรียก “รัดประคด” หมายถึงเฉพาะประคดอกเท่านั้น

คือข้อความว่า “รัดประคด ก็เรียก” นั้น กินความเฉพาะข้อความตั้งแต่ “ถ้าเป็นผืนผ้าสําหรับคาดอก เรียกว่า ประคดอก” เท่านั้น ไม่รวมถึงข้อความที่ว่า “ถ้าเป็นสายถักเป็นแผ่นสําหรับคาดเอว เรียกว่า ประคดเอว”

ดังนี้ ประคดเอวจึงไม่เรียกว่า “รัดประคด

เพื่อไม่ให้สับสน พึงกำหนดความหมายตามที่เข้าใจกันทั่วไปว่า

(๑) “กายพันธน์” หมายถึงทั้งประคดเอวและประคดอก

(๒) การครองผ้าทุกรูปแบบของภิกษุสามเณรต้องใช้ประคดเอว คือผ้าที่ทำหน้าที่เหมือนเข็มขัดรัดทับลงไปบนอันตรวาสก (สบง) บริเวณสะเอว

(๓) การครองผ้าแบบที่เรียกว่า “ห่มดอง” เท่านั้นที่ต้องใช้ประคดอก (ประคด-อก) การครองผ้าบางรูปแบบไม่ต้องใช้ประคดอก เช่นห่มคลุม และห่มลดไหล่แบบไม่มีสังฆาฏิ หรือแบบเอาสังฆาฏิพาดบ่าไว้เฉยๆ

กายพันธน์” เป็น 1 ในบริขารทั้ง 8 ที่เรียกรวมกันว่า “อัฐบริขาร” ดังคำบาลีว่า –

ติจีวรญฺจ  ปตฺโต  จ 

วาสี  สูจิ  จ  พนฺธนํ

ปริสฺสาวเนนฏฺเฐเต

ยุตฺตโยคสฺส  ภิกฺขุโน.

บริขารเหล่านี้คือ ไตรจีวร บาตร

มีดน้อย เข็ม และผ้ารัดประคด

เป็น 8 ทั้งผ้ากรองน้ำ

ย่อมควรแก่ภิกษุผู้ประกอบความเพียร

…………..

บาลีวันละคำชุด:-

: ช่วยกันสืบทอดพระศาสนา

: ช่วยกันรู้ภาษาพระธรรมวินัย

…………..

ดูก่อนภราดา!

: พระสงฆ์ท่านผูกเอวด้วยกายพันธน์

: เราจงมาผูกใจกันด้วยไมตรี

#บาลีวันละคำ (2,274)

3-9-61

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *