บาลีวันละคำ

สีมานิมิต (บาลีวันละคำ 4,642)

สีมานิมิต

เครื่องหมายบอกเขตสีมา

อ่านว่า สี-มา-นิ-มิด

ประกอบด้วยคำว่า สีมา + นิมิต 

(๑) “สีมา” 

อ่านว่า สี-มา รากศัพท์มาจาก สี (ธาตุ = ผูก) + ปัจจัย + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์

: สี + = สีม + อา = สีมา แปลตามศัพท์ว่า “ขอบเขตอันสงฆ์พร้อมเพรียงกันผูกไว้ด้วยการสวดกรรมวาจา” หมายถึง แดน, ขอบเขต, ตำบล (boundary, limit, parish) 

บาลี “สีมา” สันสกฤตก็เป็น “สีมา

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ดังนี้ –

(สะกดตามต้นฉบับ)

สีมา : (คำนาม) เขตต์; เกษตร์, นา; ตลิ่ง, ฝั่ง, ฟาก; สัตยศีลตาหรือความซื่อตรง; ต้นคอ; อัณฑโกศ, พวงอัณฑะ; boundary or limit; a field; a bank or shore; rectitude or uprightness; the nape of the neck; the scrotum.”

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า – 

สีมา : (คำนาม) เขต, แดน; เครื่องหมายบอกเขตโบสถ์ มักทำด้วยแผ่นหินหรือหลักหินเป็นต้น เรียกว่า ใบพัทธสีมา, ใบสีมา หรือ ใบเสมา ก็ว่า. (ป., ส.).” 

และที่คำว่า “เสมา” บอกไว้ว่า – 

เสมา ๑ : (คำนาม) สีมา, เครื่องหมายบอกเขตโบสถ์; เรียกสิ่งที่มีลักษณะคล้ายใบสีมาที่เรียงกันอยู่บนกำแพงอย่างกำแพงเมืองว่า ใบเสมา; เครื่องประดับหรือเครื่องรางสำหรับห้อยคอ มีรูปร่างอย่างใบเสมา. (ป., ส. สีมา).”

(๒) “นิมิต” 

บาลีเป็น “นิมิตฺต” อ่านว่า นิ-มิด-ตะ รากศัพท์มาจาก – 

(1) นิ (คำอุปสรรค = เข้า,ลง) + มา (ธาตุ = กะ, กำหนด, นับ) + ปัจจัย, แปลง อา ที่ มา เป็น อิ (มา > มิ), ซ้อน ตฺ ระหว่างธาตุกับปัจจัย (มา + ตฺ + )

: นิ + มา = นิมา + ตฺ + = นิมาตฺต > นิมิตฺต แปลตามศัพท์ว่า (1) “สิ่งที่กำหนดผลของตนไว้” (2) “สิ่งเป็นเครื่องอันเขากำหนด” (คือใช้เป็นเครื่องหมาย) 

(2) นิ (คำอุปสรรค = เข้า,ลง) + มิ (ธาตุ = ใส่) + ปัจจัย, ซ้อน ตฺ ระหว่างธาตุกับปัจจัย (มิ + ตฺ + )

: นิ + มิ = นิมิ + ตฺ + = นิมิตฺต แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งเป็นที่อันเขาใส่ผลไว้แล้ว” 

(3) นิ (คำอุปสรรค = ออก) + มิหฺ (ธาตุ = ไหล, หลั่ง) + ปัจจัย, แปลง เป็น (มิหฺ > มิตฺ

: นิ + มิหฺ = นิมิหฺ + = นิมิหฺต > นิมิตฺต แปลตามศัพท์ว่า “อวัยวะที่หลั่งน้ำออกมา” 

นิมิตฺต” (ปุงลิงค์; นปุงสกลิงค์) ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ – 

(1) เครื่องหมาย, นิมิต, สิ่งบอกเหตุ, การทำนาย (sign, omen, portent, prognostication) 

(2) รูปร่างภายนอก, ตำหนิ [ของร่างกาย], ลักษณะ, คุณสมบัติ, ปรากฏการณ์ (outward appearance, mark, characteristic, attribute, phenomenon) 

(3) เครื่องหมาย, จุดมุ่งหมาย (mark, aim) 

(4) องคชาต (sexual organ)

(5) หลักฐาน, เหตุผล, เงื่อนไข (ground, reason, condition) 

บาลี “นิมิตฺต” สันสกฤตก็เป็น “นิมิตฺต” เหมือนบาลี 

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ดังนี้ – 

(สะกดตามต้นฉบับ)

นิมิตฺต : (คำนาม) ‘นิมิตต์,’ มูล, การณ์, นิมิตตการณ์, ต้นเหตุหรือตัวการหรือผู้บันดาน; ลักษณะ, จิห์น, องก์; เครื่องหมาย; ลาง; ลักษณะดีหรือร้าย; cause, motive, efficient or instrumental cause; mark, sign, trace; omen, a good omen or an ill one.”

นิมิตฺต” ในภาษาไทยตัดตัวสะกดออกตัวหนึ่ง ใช้เป็น “นิมิต” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ดังนี้ –

นิมิต ๒ : (คำนาม) เครื่องหมาย, ลาง, เหตุ, เค้ามูล; (แบบ) น. อวัยวะสืบพันธุ์ เช่น อิตถีนิมิต ปุริสนิมิต. (ป., ส. นิมิตฺต).”

พึงสังเกตว่า “นิมิต” ในภาษาไทยไม่ต้องมี ร เรือ

สีมา + นิมิตฺต = สีมานิมิตฺต (สี-มา-นิ-มิด-ตะ) แปลว่า “เครื่องหมายแห่งสีมา” หมายถึง เครื่องหมายบอกเขตที่สงฆ์กำหนดให้เป็นสีมาเพื่อทำสังฆกรรม

สีมานิมิตฺต” ใช้ในภาษาไทยเป็น “สีมานิมิต” (สี-มา-นิ-มิด)

คำว่า “สีมานิมิต” ยังไม่ได้เก็บไว้ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554

ขยายความ :

สีมานิมิต” สิ่งที่ใช้เป็นเครื่องหมายกำหนดเขตสีมา มี 8 อย่าง ตามพุทธานุญาตที่ตรัสไว้ในอุโปสถขันธกะ วินัยปิฎก ดังนี้ 

…………..

       อนุชานามิ  ภิกฺขเว  สีมํ  สมฺมนฺนิตุํ  ฯ  เอวญฺจ  ปน  ภิกฺขเว  สมฺมนฺนิตพฺพา  ฯ  ปฐมํ  นิมิตฺตา  กิตฺเตตพฺพา  ปพฺพตนิมิตฺตํ  ปาสาณนิมิตฺตํ  วนนิมิตฺตํ  รุกฺขนิมิตฺตํ  มคฺคนิมิตฺตํ  วมฺมิกนิมิตฺตํ  นทีนิมิตฺตํ  อุทกนิมิตฺตํ.

       ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้สมมติสีมา. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็แลพึงสมมติสีมาอย่างนี้:-

       ชั้นต้นพึ่งทักนิมิต คือ –

       ปพฺพตนิมิตฺตํ = นิมิตคือภูเขา (ใช้ภูเขาเป็นเครื่องหมาย)

       ปาสาณนิมิตฺตํ = นิมิตคือก่อนหิน (ใช้ก้อนหินเป็นเครื่องหมาย)

       วนนิมิตฺตํ = นิมิตคือป่าไม้ (ใช้ป่าไม้เป็นเครื่องหมาย)

       รุกฺขนิมิตฺตํ = นิมิตคือต้นไม้ (ใช้ต้นไม้เป็นเครื่องหมาย)

       มคฺคนิมิตฺตํ = นิมิตคือทางเดิน (ใช้ทางเดินเป็นเครื่องหมาย)

       วมฺมิกนิมิตฺตํ = นิมิตคือจอมปลวก (ใช้จอมปลวกเป็นเครื่องหมาย)

       นทีนิมิตฺตํ = นิมิตคือแม่น้ำ (ใช้แม่น้ำเป็นเครื่องหมาย)

       อุทกนิมิตฺตํ = นิมิตคือน้ำ (ใช้น้ำเป็นเครื่องหมาย)

ที่มา: อุโปสถขันธกะ วินัยปิฎก มหาวรรค ภาค 1 พระไตรปิฎกเล่ม 4 ข้อ 154 

…………..

สีมานิมิตบางอย่างมีเงื่อนไขที่ควรทราบ เช่น –

ปาสาณนิมิตฺตํ = นิมิตคือก่อนหิน หมายถึง หินเป็นก้อนใหญ่ ไม่ใช่หินที่ทุบเป็นก้อนเล็ก ๆ หรือกองหิน

รุกฺขนิมิตฺตํ = นิมิตคือต้นไม้ หมายถึง ไม้มีแก่นหรือไม้เนื้อแข็ง ต้นตาลต้นมะพร้าว ใช้เป็นนิมิตไม่ได้

มคฺคนิมิตฺตํ = นิมิตคือทางเดิน หมายถึง ทางที่ยังมีคนเดินอยู่ หรือมีพาหนะไปมาอยู่

อุทกนิมิตฺตํ = นิมิตคือน้ำ หมายถึง น้ำที่ขังอยู่กับพื้นตามธรรมชาติ ตักน้ำใส่ภาชนะมาตั้งไว้ ใช้เป็นนิมิตไม่ได้

รายละเอียดเหล่านี้ท่านอธิบายไว้ในคัมภีร์สมันตปาสาทิกา ภาค 3 หน้า 116-121

…………..

https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=4&i=154

…………..

ดูก่อนภราดา!

: วินัยพระ

: ไม่ใช่ธุระของชาวบ้าน

ท่านเป็นคนหนึ่งใช่ไหมที่คิดอย่างนี้?

ถ้าใช่

ท่านคิดผิด 

————————-

อ่านหนังสือ: ฝังลูกนิมิต-ผูกสีมา ปุจฉา-วิสัชนา

https://www.papayutto.org/th/book_detail/265

————————-

#บาลีวันละคำ (4,642)

26-2-68 

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *