บาลีวันละคำ

นิบาตชาดก (บาลีวันละคำ 4,641)

นิบาตชาดก

อย่าให้ตกสำรวจ-ไม่รู้ว่าคืออะไร

อ่านว่า นิ-บาด-ชา-ดก

ประกอบด้วยคำว่า นิบาต + ชาดก

(๑) “นิบาต” 

บาลีเป็น “นิปาต” อ่านว่า นิ-ปา-ตะ รากศัพท์มาจาก นิ (คำอุปสรรค = เข้า, ลง) + ปต (ธาตุ = ตก) + ปัจจัย, ลบ , ทีฆะต้นธาตุ คือ อะ ที่ -(ตฺ) เป็น อา (ปตฺ > ปาต)

: นิ + ปตฺ = นิปตฺ + = นิปตณ > นิปต > นิปาต แปลตามศัพท์ว่า “ภาวะที่ตกไปโดยไม่เหลือ” (คือตกไปทั้งตัว) 

นิปาต” (ปุงลิงค์) ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ – 

(1) ล้มลงไป (falling down)  

(2) การหยั่งลง (descending) 

(3) นิบาต, คำในไวยากรณ์ ใช้สำหรับกริยาวิเศษณ์, คำต่อและอุทาน (a particle, the grammatical term for adverbs, conjunctions & interjections) 

(4) ตอนของหนังสือ (a section of a book) 

ในที่นี้ “นิปาต” ใช้ในความหมายตามข้อ (4) 

นิปาต” ในภาษาไทยใช้เป็น “นิบาต” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

นิบาต : (คำนาม) เรียกคัมภีร์ในพระพุทธศาสนาประเภทหนึ่งที่รวบรวมพระสูตรเบ็ดเตล็ดหรือชาดกต่าง ๆ ไว้ด้วยกัน เช่น สุตตนิบาต = ชื่อคัมภีร์ที่รวบรวมพระสูตรเบ็ดเตล็ดต่าง ๆ ไว้ด้วยกัน นิบาตชาดก = ชื่อคัมภีร์ที่รวบรวมชาดกต่าง ๆ ในพระไตรปิฎกไว้ด้วยกัน โดยแบ่งย่อยเป็นหมวดต่าง ๆ; หมวดธรรม, ชุมนุมหลักธรรม, เช่น เอกกนิบาต = หมวดหรือชุมนุมหลักธรรมที่มี ๑ ข้อ ทุกนิบาต = หมวดหรือชุมนุมหลักธรรมที่มี ๒ ข้อ. (ป., ส. นิปาต).”

(๒) “ชาดก” 

บาลีเป็น “ชาตก” อ่านว่า ชา-ตะ-กะ รากศัพท์มาจาก –

(1) ชาต (เรื่องที่เกิดแล้ว) + เก (ธาตุ = ส่งเสียง, กล่าว, บอกเล่า) + (อะ) ปัจจัย, แปลง เอ ที่ เก เป็น อะ (เก >

: ชาต + เก = ชาตเก > ชาตก + = ชาตก แปลตามศัพท์ว่า “กล่าวถึงเรื่องอันเกิดมีในภพชาติก่อน

(2) ชา (ธาตุ = เกิด) + ปัจจัย + ณฺวุ ปัจจัย, แปลง ณฺวุ เป็น อก (อะกะ) 

: ชา + = ชาต + ณฺวุ > อก = ชาตก แปลตามศัพท์ว่า “(เรื่องหรือบุคคล) อันเกิดขึ้นแล้ว

ชาตก” (ชา-ตะ-กะ) ในภาษาไทยใช้เป็น “ชาดก” (ชา-ดก, ไทย เด็ก บาลี เต่า)

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า – 

ชาดก : (คำนาม) เรื่องพระพุทธเจ้าที่มีมาในพระชาติก่อน ๆ ตามที่กล่าวไว้ในคัมภีร์ชื่อนี้, ชื่อคัมภีร์ในพระพุทธศาสนา เป็น ๑ ใน ๙ ส่วนของคัมภีร์นวังคสัตถุศาสน์. (ป., ส. ชาตก). (ดู นวังคสัตถุศาสน์ ประกอบ).”

นิบาต + ชาดก = นิบาตชาดก แปลว่า (1) “หมวดของชาดก” (2) “ชาดกที่จัดไว้เป็นหมวด” 

คำว่า “นิบาตชาดก” มีเก็บไว้ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ดังนี้ – 

นิบาตชาดก : (คำนาม) คัมภีร์ที่รวบรวมชาดกต่าง ๆ ในพระไตรปิฎกไว้ด้วยกัน โดยแบ่งย่อยเป็นหมวดต่าง ๆ เช่น เอกกนิบาตชาดก ทุกนิบาตชาดก.”

…………..

ขยายความ :

ชาดก” เป็นชื่อคัมภีร์หนึ่งในขุทกนิกาย (คำเดิมสะกด ขุททกนิกาย) 

ขุทกนิกาย” เป็น 1 ใน 5 ส่วนของพระสุตตันปิฎกหรือพระสูตร (พระสุตตันตปิฎกเป็น 1 ใน 3 ของไตรปิฎก คือ พระวินัย พระสูตร พระอภิธรรม) 

5 ส่วนของพระสุตตันปิฎกเรียกว่า “นิกาย” ประกอบด้วยทีฆนิกาย มัชฌิมนิกาย สังยุตนิกาย (คำเดิมสะกด สังยุตตนิกาย) อังคุตรนิกาย (คำเดิมสะกด อังคุตตรนิกาย) และขุทกนิกาย

ขุทกนิกายเป็นส่วนที่รวมคัมภีร์ย่อยไว้ 15 คัมภีร์ ที่เรียกว่า “คัมภีร์ย่อย” ไม่ได้หมายถึงเป็นคัมภีร์เล็กน้อยที่ไม่สำคัญ หากแต่หมายถึงคัมภีร์ที่ท่านไม่จัดรวมเข้าไว้ในนิกายทั้ง 4 แต่แยกออกมาไว้ต่างหาก บางคัมภีร์ใหญ่มากเช่น “ชาดก” มีความยาว 2 เล่มพระไตรปิฎก และมีคัมภีร์อธิบายขยายความที่เรียกว่า “อรรถกถา” อีกถึง 10 เล่ม 

คัมภีร์ย่อย 15 คัมภีร์มีชื่อดังนี้ (1) ขุททกปาฐะ (2) ธรรมบท (3) อุทาน (4) อิติวุตตกะ (5) สุตตนิบาต (6) วิมานวัตถุ (7) เปตวัตถุ (8 ) เถรคาถา (9) เถรีคาถา (10) ชาดก (11) นิทเทส (12) ปฏิสัมภิทามรรค (13) อปทาน (14) พุทธวงส์ (15) จริยาปิฎก

ชาดก คือคัมภีร์ย่อยลำดับที่ 10 พระไตรปิฎกฉบับสยามรัฐ (ภาษาบาลี อักษรไทย) พิมพ์เป็นเล่มที่ 27 และเล่มที่ 28

…………..

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต อธิบายคำว่า “ชาดก” ไว้ดังนี้ –

…………..

ชาดก, ชาตกะ : “เครื่องเล่าเรื่องราวที่พระพุทธเจ้าได้ทรงเกิดมาแล้ว”, ชื่อคัมภีร์ในพระไตรปิฎก อันเล่าเรื่องพระชาติในอดีตของพระพุทธเจ้า เมื่อยังเป็นพระโพธิสัตว์ซึ่งกำลังทรงบำเพ็ญบารมี มีจำนวนทั้งหมดตามตัวเลขถ้วนที่กล่าวในอรรถกถาทั้งหลายว่า ๕๕๐ ชาดก (นับตรงเลขว่า ๕๔๗ ชาดก แต่คนไทยมักพูดตัดเลขแค่หลักร้อยว่า พระเจ้า ๕๐๐ ชาติ), จัดเป็นคัมภีร์ที่ ๑๐ แห่งขุททกนิกาย ในพระสุตตันตปิฎก.

เนื่องจากชาดกทั้งหมดในพระไตรปิฎก เป็นคาถาล้วนๆ (เว้นชาดกหนึ่งที่เป็นความร้อยแก้ว คือกุณาลชาดก) และโดยมากเป็นเพียงคำกล่าวโต้ตอบกันของบุคคลในเรื่อง พร้อมทั้งพระดำรัสของพระพุทธเจ้าที่ตรัสสรุปหรือแสดงคติธรรม อันเรียกว่าอภิสัมพุทธคาถาเท่านั้น ไม่ได้เล่าเรื่องโดยละเอียด ผู้อ่านเข้าใจได้ยาก จึงมีอรรถกถาขึ้นมาช่วยอธิบาย เรียกว่า “ชาตกัฏฐกถา” (เรียกให้ง่ายว่าอรรถกถาชาดก) ซึ่งขยายความออกไปมาก จัดเป็นเล่มหนังสือฉบับบาลีอักษรไทยรวม ๑๐ เล่ม เรื่องชาดกที่เรียนและเล่ากันทั่วไป ก็คือเล่าตามชาตกัฏฐกถานี้ แต่นักศึกษาพึงรู้จักแยกระหว่างส่วนที่มีในพระไตรปิฎก กับส่วนที่เป็นอรรถกถา.

…………..

“นิบาตชาดก” มีทั้งหมด 22 นิบาต มีชื่อนิบาตตามบาลีดังนี้ –

(ในวงเล็บคือคำอ่าน

ตัวเลขข้างหลังคือจำนวนชาดกในนิบาตนั้น ๆ)

…………..

(1) เอกกนิบาต (เอ-กะ-กะ-นิ-บาด) หมวดหนึ่งคาถา 150

(2) ทุกนิบาต (ทุ-กะ-) หมวดสองคาถา 100

(3) ติกนิบาต (ติ-กะ-) หมวดสามคาถา 50 

(4) จตุกกนิบาต (จะ-ตุก-กะ-) หมวดสี่คาถา 50

(5) ปัญจกนิบาต (ปัน-จะ-กะ-) หมวดห้าคาถา 25

(6) ฉักกนิบาต (ฉัก-กะ-) หมวดหกคาถา 20

(7) สัตตกนิบาต (สัด-ตะ-กะ-) หมวดเจ็ดคาถา 21

(8 ) อัฏฐกนิบาต (อัด-ถะ-กะ-) หมวดแปดคาถา 10

(9) นวกนิบาต (นะ-วะ-กะ-) หมวดเก้าคาถา 12

(10) ทสกนิบาต (ทะ-สะ-กะ-) หมวดสิบคาถา 16

(11) เอกาทสนิบาต (เอ-กา-ทะ-สะ-) หมวดสิบเอ็ดคาถา 9

(12) ทวาทสนิบาต (ทะ-วา-ทะ-สะ-) หมวดสิบสองคาถา 10

(13) เตรสนิบาต (เต-ระ-สะ-) หมวดสิบสามคาถา 10

(14) ปกิณณกนิบาต (ปะ-กิน-นะ-กะ-) หมวดคาถาคละกัน 13

(15) วีสตินิบาต (วี-สะ-ติ-) หมวดยี่สิบคาถา 14

(16) ติงสตินิบาต (ติง-สะ-ติ–) หมวดสามสิบคาถา 10

(17) จัตตาลีสนิบาต (จัด-ตา-ลี-สะ-) หมวดสี่สิบคาถา 5

(18) ปัญญาสนิบาต (ปัน-ยา-สะ-) หมวดห้าสิบคาถา 3

(19) สัฏฐินิบาต (สัด-ถิ-) หมวดหกสิบคาถา 2

(20) สัตตตินิบาต (สัด-ตะ-ติ-) หมวดเจ็บสิบคาถา 2

(21) อสีตินิบาต (อะ-สี-ติ-) หมวดแปดสิบคาถา 5

(22) มหานิบาต (มะ-หา-) หมวดคาถามาก (เกินแปดสิบ) 10

รวมจำนวนชาดกทั้งหมด 547 ชาดก

…………..

หมายเหตุ: 

๑ จำนวนชาดกแต่ละนิบาตและจำนวนรวม ขอแรงท่านผู้มีสติรอบคอบโปรดตรวจสอบกับพระไตรปิฎก ถ้าเห็นว่าคลาดเคลื่อน กรุณาแก้ไขให้ถูกต้องด้วย จะเป็นพระคุณอย่างยิ่ง

๒ งานที่น่าทำต่อไปอีก คือ –

๒.๑ จัดทำรายชื่อชาดกทั้งหมดเรียงตามอักขรานุกรม ประกอบด้วยข้อมูลสั้น ๆ เช่น ชาดกนั้นอยู่ในนิบาตอะไร (ทราบว่าเคยมีผู้ทำไว้)

๒.๒ สรุปเรื่องสั้น ๆ แต่ละชาดก เพื่อให้ผู้สนใจเลือกอ่านได้สะดวก

๒.๓ ค้น-คัดชื่อเฉพาะ (proper name) ในชาดกทั้งหมดจัดทำเป็น “นามานุกรมชาดก” ประกอบด้วยเรื่องราวโดยตลอดของชื่อนั้น ๆ (แบบเดียวกับ DICTIONARY OF PALI PROPER NAMES ของ G.P. MALALASEKERA)

งานที่น่าทำนี้ ขอฝากไว้ในความฝันของวงการนักเรียนบาลีของไทย โดยหวังว่า-คงจะมีสักชาติหนึ่งที่มีนักเรียนบาลีของไทยลุกขึ้นมาทำ

…………..

ดูก่อนภราดา!

: เรียนจบหมอ แต่ไม่รักษาคนป่วย

อาจมีด้วย แต่ยังไม่เคยเห็นสักที

: เรียนจบบาลี แต่ไม่ศึกษาพระไตรปิฎก

มีดื่นดก เห็นได้ทั่วไปในเมืองไทย

#บาลีวันละคำ (4,641)

25-2-68 

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *