เอวํ โหตุ (บาลีวันละคำ 2,285)
เอวํ โหตุ
ภาษาบาลีก็มี O.K.
อ่านว่า เอ-วัง โห-ตุ
เป็นประโยคที่มีคำบาลี 2 คำ คือ “เอวํ” และ “โหตุ”
(๑) “เอวํ”
เขียนแบบบาลีไทยเป็น “เอวัง” อ่านว่า เอ-วัง เป็นคำจำพวกที่เรียกว่า “นิบาต” ไม่แจกด้วยวิภัตติปัจจัย คงรูปเดิมเสมอ
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“เอวัง : (ภาษาปาก) จบ, หมดสิ้น.”
ในภาษาบาลี “เอวํ” ไม่ได้แปลว่า จบ, หมดสิ้น แต่ที่พจนานุกรมฯ บอกไว้เช่นนั้นก็เนื่องมาจากแต่เดิมพระสงฆ์แสดงธรรมด้วยการยกข้อความในพระไตรปิฎกมาแสดง (ธรรมเนียมพระถือคัมภีร์เทศน์มาจากเหตุนี้) พระไตรปิฎกเป็นภาษาบาลี พระผู้เทศน์จึงต้องแปลเป็นคำไทยสลับกันไป เป็นที่มาของคำว่า “แปลร้อย” (แปลร้อย : แปลเอาความโดยยกศัพท์บาลีมาคั่นไว้. ร่องรอยสำนวนแปลร้อยที่เรารู้จักกันดีคือร่ายยาวมหาเวสสันดรชาดก)
เมื่อจบข้อความที่เทศน์ จะมีคำว่า “เอวํ” ซึ่งแปลเป็นใจความว่า “คำสอนของพระพุทธเจ้ามีเนื้อความดังที่แสดงมานี้” แต่สำนวนที่นิยมกันมากที่สุดและถือว่าเป็นแบบแผนคือ “เอวํ ก็มีด้วยประการฉะนี้” จนเป็นที่รู้กันว่า เมื่อลงท้ายว่า “เอวัง ก็มี…” ก็คือ จบการแสดงพระธรรมเทศนา
คำว่า “เอวัง” ในภาษาไทยจึงเป็นสำนวน มีความหมายว่า จบเรื่อง หมดเรื่อง ยกเลิก เลิกกันไป
แต่ในภาษาบาลี “เอวํ” แปลว่า อย่างนั้น, เช่นนั้น, อย่างนี้, เช่นนี้, ด้วยอาการอย่างนั้น, ด้วยอาการอย่างนี้, ด้วยประการฉะนี้ (so, thus, in this way)
(๒) “โหตุ”
เป็นคำกริยา รากศัพท์มาจาก หุ (ธาตุ = มี, เป็น) + อ ปัจจัยประจำหมวด ภู ธาตุ + ตุ วิภัตติอาขยาต แผลง อุ ที่ หุ เป็น โอ (หุ > โห)
: หุ > โห + อ + ตุ = โหตุ แปลว่า “จงเป็น”
หลักไวยากรณ์ :
คำกริยาในบาลีมี 2 ประเภท เรียกตามบาลีไวยากรณ์ว่า “กิริยากิตก์” (กิ-ริ-ยา-กิด) และ “กิริยาอาขยาต” (กิ-ริ-ยา-อา-ขะ-หฺยาด)
คำว่า “อาขยาต” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“อาขยาต : (คำวิเศษณ์) กล่าวแล้ว. (คำนาม) ชื่อคำกริยาประเภทหนึ่งในไวยากรณ์บาลีและสันสกฤต ประกอบด้วย ธาตุ วิภัตติ กาล บท พจน์ บุรุษ วาจก ปัจจัย เพื่อเป็นเครื่องหมายบอกเนื้อความให้ชัดเจน เช่น กโรติ = ย่อมกระทำ ประกอบด้วย กรฺธาตุ ติวิภัตติ ปัจจุบันกาล ปรัสสบท เอกพจน์ ปฐมบุรุษ กัตตุวาจก โอปัจจัย. (ป., ส.).”
อธิบายตามแนวพจนานุกรมฯ ว่า —
โหตุ = จงเป็น ประกอบด้วย หุธาตุ ตุวิภัตติ อกาล ปรัสสบท เอกพจน์ ปฐมบุรุษ กัตตุวาจก อะปัจจัย
“เอวํ โหตุ” แปลว่า “จงเป็นอย่างนั้น”
ขยายความ :
คำว่า “เอวํ โหตุ” เป็นคำรับ ใช้ในกรณี 2 อย่าง คือ –
(1) เป็นคำรับปาก ในกรณีที่ฝ่ายหนึ่งขอร้อง สั่ง หรือบอกกล่าวแสดงความประสงค์หรือความเห็นอย่างใดอย่างหนึ่ง และฝ่ายที่รับฟังยินยอมทำตามหรือเห็นด้วย ก็จะกล่าวตอบว่า “เอวํ โหตุ” มีความหมายว่า จะดำเนินการให้เป็นไปตามนั้น หรือการคงจะเป็นไปตามที่ว่านั้น
(2) เป็นคำรับรอง ในกรณีที่ฝ่ายหนึ่งแสดงความปรารถนาหรือความคาดหวังในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง และฝ่ายที่รับฟังพิจารณาเห็นว่าความปรารถนานั้นสมควรแก่เหตุ คือมีทางที่จะสำเร็จได้ หรือฝ่ายที่รับฟังมีอำนาจหน้าที่สามารถจะดำเนินการให้เป็นไปตามความปรารถนานั้นได้ ก็จะกล่าวตอบว่า “เอวํ โหตุ” มีความหมายว่า ขอให้ความปรารถนาจงสำเร็จตามที่ต้องการ
“เอวํ โหตุ” ถ้าจะเทียบกับคำที่คนสมัยนี้มักพูดกันติดปาก น่าจะตรงกับคำว่า “โอเค” (O.K.) นั่นเอง
คำว่า “เอวํ โหตุ” ยังมีนัยเป็นคำให้พรหรือสนองความปรารถนาด้วยเมตตาธรรมตามวิสัยของชาวพุทธอีกด้วย
ช่วยกันพูดคำว่า “เอวํ โหตุ” ให้ติดปากบ้างก็น่าจะดี
…………..
บาลีวันละคำชุด:-
: ช่วยกันสืบทอดพระศาสนา
: ช่วยกันรู้ภาษาพระธรรมวินัย
…………..
ดูก่อนภราดา!
: จงหวังความสำเร็จไว้ทุกวันวาร
: แต่อย่าหวังว่าจะมีใครดลบันดาลให้เปล่าๆ
#บาลีวันละคำ (2,285)
14-9-61