บาลีวันละคำ

สัมปทา (บาลีวันละคำ 2,284)

สัมปทา

หน้าตาคล้าย “สัมปทาน”

อ่านว่า สำ-ปะ-ทา

สัมปทา” เขียนแบบบาลีเป็น “สมฺปทา” อ่านว่า สำ-ปะ-ทา รากศัพท์มาจาก สํ (คำอุปสรรค = พร้อมกัน, ร่วมกัน) + ปทฺ (ธาตุ = ไป, ถึง) + ปัจจัย, แปลงนิคหิตที่ สํ เป็น มฺ (สํ > สมฺ) + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์

: สํ > สมฺ + ปทฺ = สมฺปทฺ + = สมฺปท + อา = สมฺปทา แปลตามศัพท์ว่า “ภาวะที่ถึงพร้อม

สมฺปทา” ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –

(1) การบรรลุ, ความสำเร็จ, สัมปทา; ความสุข, สมบัติ; ความสำราญ, พร (attainment, success, accomplishment; happiness, good fortune; blessing, bliss)

(2) การทำให้สำเร็จ, การประกอบ; ผล, ผลที่ตามมา (execution, performance; result, consequence)

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

สัมปทา : (คำนาม) ความถึงพร้อมด้วยคุณความดี เช่น อุฏฐานสัมปทา = ความถึงพร้อมด้วยความเพียร. (ป., ส.).”

สัมปทา” รูปร่างหน้าตาคล้าย “สัมปทาน” (สำ-ปะ-ทาน) ที่เราได้ยินบ่อยๆ ในภาษาไทย ในภาษาบาลีความหมายบางส่วนก็คล้ายกัน แต่ที่มาหรือรากศัพท์ต่างกัน

สมฺปทาน” บาลีอ่านว่า สำ-ปะ-ทา-นะ รากศัพท์มาจาก สํ (คำอุปสรรค = พร้อมกัน, ร่วมกัน) + (คำอุปสรรค = ทั่วไป, ข้างหน้า, ก่อน, ออก) + ทา (ธาตุ = ให้) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ), แปลงนิคหิตที่ สํ เป็น มฺ (สํ > สมฺ)

: สํ > สมฺ + = สมฺป + ทา = สมฺปทา + ยุ > อน = สมฺปทาน แปลตามศัพท์ว่า “การให้อย่างทั่วถึงพร้อมกัน

สมฺปทาน” ในบาลีใช้ในความหมายว่า –

(1) การให้, การมอบให้ (giving, bestowing)

(2) การบรรลุ, ลักษณะ, คุณสมบัติ (attainment, characteristic, attribute)

แต่ในภาษาไทย “สัมปทาน” ใช้ในความหมายต่างกับ “สัมปทา

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

สัมปทาน : (คำที่ใช้ในกฎหมาย) (คำนาม) การอนุญาตที่รัฐให้แก่เอกชนเพื่อจัดทำบริการสาธารณะหรือจัดทำประโยชน์ หรือแสวงหาประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ ภายในระยะเวลาและตามเงื่อนไขที่รัฐกำหนด เช่น สัมปทานการเดินรถประจำทาง สัมปทานทำไม้ในป่าสัมปทาน. (ป.).”

ดูเพิ่มเติม: “สัมปทาน” บาลีวันละคำ (1,550) 1-9-59

อภิปรายขยายความ :

ในภาษาไทย “สัมปทา” มักใช้ในภาษาเขียนหรือภาษาที่เป็นทางการ ไม่ใช่คำที่พูดในชีวิตประจำวัน เราจึงไม่ได้ยินใครใช้คำว่า “สัมปทา” ในเวลาพูดจาสนทนากัน

แต่ในภาษาทางศาสนาหรือภาษาธรรม “สัมปทา” มีที่ใช้ทั่วไป เช่นเวลาพระให้ศีล ตอนสรุปอานิสงส์ศีล เราจะได้ยินข้อความตอนหนึ่งว่า “สีเลน โภคสมฺปทา” (สีเลนะ โภคะสัมปะทา) แปลว่า “ความถึงพร้อมด้วยโภคทรัพย์ย่อมมีได้เพราะศีล” เป็นต้น

สมฺปทา” ใน “โภคสมฺปทา” ก็คือ “สมฺปทา” คำเดียวกันนี้

สัมปทา” ในฐานะที่เป็นหมวดธรรมมีอยู่หลายหมวด ในที่นี้ขอยกมาเสนอเป็นตัวอย่างเพียง 1 หมวด คือ สัมปทา หรือ สัมปทาคุณ 4 หมวดธรรมที่ตอบโจทย์ว่า ทำบุญอย่างไรจึงจะได้ผลทันตาเห็น

ขอยกมาจากพจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ข้อ [190] มีรายละเอียดดังนี้ –

สัมปทา หรือ สัมปทาคุณ 4 : ความถึงพร้อม, ความพรั่งพร้อมสมบูรณ์แห่งองค์ประกอบต่างๆ ซึ่งทำให้ทานที่บริจาคแล้ว เป็นทานอันยอดเยี่ยม มีผลมาก อาจเห็นผลทันตา (Sampadā: successful attainment; accomplishment; excellence)

1. วัตถุสัมปทา : ถึงพร้อมด้วยวัตถุ คือบุคคลผู้เป็นที่ตั้งรองรับทาน เช่น ทักขิไณยบุคคลเป็นพระอรหันต์ หรือพระอนาคามี ผู้เข้านิโรธสมาบัติได้ (Vatthu-sampadā: excellence of the foundation for merit)

2. ปัจจัยสัมปทา : ถึงพร้อมด้วยปัจจัย คือ สิ่งที่จะให้เป็นของบริสุทธิ์ ได้มาโดยชอบธรรม (Paccaya-sampadā: excellence of the gift)

3. เจตนาสัมปทา : ถึงพร้อมด้วยเจตนา คือ มีเจตนาในการให้สมบูรณ์ครบ 3 กาล ทั้งก่อนให้ ขณะให้ และหลังให้ จิตโสมนัส ประกอบด้วยปัญญา (Cetanā-sampadā: excellence of the intention)

4. คุณาติเรกสัมปทา : ถึงพร้อมด้วยคุณส่วนพิเศษ คือ ปฏิคาหกมีคุณสมบัติพิเศษ เช่น ทักขิไณยบุคคลนั้น ออกจากนิโรธสมาบัติใหม่ๆ (Guṇātireka-sampadā: excellence of extra virtue)

…………..

บาลีวันละคำชุด:-

: ช่วยกันสืบทอดพระศาสนา

: ช่วยกันรู้ภาษาพระธรรมวินัย

…………..

ดูก่อนภราดา!

: พรที่ศักดิ์สิทธิ์สุดวิเศษ

: คือพยายามทำเหตุให้ตรงกับผล

#บาลีวันละคำ (2,284)

13-9-61

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *