หายนธรรม (บาลีวันละคำ 2,716)
หายนธรรม
คำล้อเลียน “วัฒนธรรม”
อ่านว่า หา-ยะ-นะ-ทำ ก็ได้
อ่านว่า หาย-ยะ-นะ-ทำ ก็ได้
(ตามนัยแห่งพจนานุกรมฯ)
การกระทำหลายๆ อย่างที่บัณฑิตติเตียนว่าไม่ดี ไม่งาม ไม่ถูก แต่คนในสังคมนิยมทำ เช่นการอวยประโยชน์ให้ผู้มีอำนาจเพื่อให้เขาเอื้อประโยชน์ตอบแทนตน การประจบประแจงผู้ใหญ่เพื่อหวังยศหวังตำแหน่ง การติดสินบนเพื่อให้พ้นผิด เป็นต้น ตลอดจนพฤติกรรมอื่นๆ ที่เสื่อมทราม แต่มีคนนิยมประพฤติและทำตามกัน
การกระทำและพฤติกรรมดังว่านี้ มีผู้เรียกว่า-เป็น “วัฒนธรรม” อย่างหนึ่งของมนุษย์
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายของคำว่า “วัฒนธรรม” ไว้ดังนี้ –
“วัฒนธรรม : (คำนาม) สิ่งที่ทําความเจริญงอกงามให้แก่หมู่คณะ เช่น วัฒนธรรมไทย วัฒนธรรมในการแต่งกาย, วิถีชีวิตของหมู่คณะ เช่น วัฒนธรรมพื้นบ้าน วัฒนธรรมชาวเขา.”
การกระทำและพฤติกรรมดังกล่าวข้างต้น เป็น “สิ่งที่ทําความเจริญงอกงามให้แก่หมู่คณะ” หรือไม่ และเป็น “วิถีชีวิตของหมู่คณะ” หรือไม่?
มีผู้แสดงความเห็นว่า การกระทำและพฤติกรรมดังกล่าวข้างต้นนั้นไม่ควรเรียกว่า “วัฒนธรรม” แต่ควรเรียกเป็นอย่างอื่นที่มีความหมายตรงกันข้ามกับ “วัฒน-”
“วัฒน-” คำแปลสามัญที่เข้าใจกันดีคือ “ความเจริญ”
ตรงกันข้ามกับ “ความเจริญ” คือ “ความเสื่อม”
คำบาลีที่คู่กับ “วัฒน” และแปลว่า “ความเสื่อม” คือ “หายน” อ่านว่า หา-ยะ-นะ
คำบาลีที่แปลว่า “ความเสื่อม” อีกคำหนึ่งคือ “หานิ” หรือ “ปริหานิ” แต่คำนี้ท่านนิยมใช้คู่กับ “วุฑฺฒิ” (ภาษาไทยใช้เป็น “วุฒิ”) ซึ่งแปลว่า “ความเจริญ” เช่นเดียวกับ “วัฒน” (บาลีเขียนเป็น “วฑฺฒน”)
ได้หลักว่า :
ถ้า “ความเจริญ” ใช้คำว่า “วุฑฺฒิ” (วุฒิ)
“ความเสื่อม” ก็ต้องใช้คำว่า “หานิ” หรือ “ปริหานิ”
ถ้า “ความเจริญ” ใช้คำว่า “วฑฺฒน” (วัฒน)
“ความเสื่อม” ก็ต้องใช้คำว่า “หายน”
แนะนำคำว่า “หายน” :
“หายน” อ่านว่า หา-ยะ-นะ รากศัพท์มาจาก –
(๑) หา (ธาตุ = เสื่อม) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ), ลง ย อาคมระหว่าง หา + ยุ (หา + ย + ยุ)
: หา + ย + ยุ > อน : หา + ย + อน = หายน แปลตามศัพท์ว่า “ภาวะที่เสื่อมไป” หมายถึง ความหายนะ, ความเสื่อม, ความเสื่อมถอยหรือลดลง (diminution, decay, decrease)
(๒) หา (ธาตุ = ละ, ทิ้ง) + อยฺ (ธาตุ = ไป) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ)
: หา + อยฺ = หาย + ยุ > อน : หาย + อน = หายน แปลตามศัพท์ว่า “กาลที่ละไปเรื่อยๆ”
(๓) หา (ธาตุ = แบ่งปัน) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ), ลง ย อาคมระหว่าง หา + ยุ (หา + ย + ยุ)
: หา + ย + ยุ > อน : หา + ย + อน = หายน แปลตามศัพท์ว่า “กาลที่ปันอายุไป”
“หายน” ที่มาจากข้อ (๑) หมายถึง ความเสื่อม
“หายน” ที่มาจากข้อ (๒) และ (๓) หมายถึง ปี (year) ซึ่งคนไทยแทบจะไม่รู้จัก “หายน” ในความหมายนี้
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“หายนะ ๑ : (คำนาม) ความเสื่อม, ความเสียหาย, ความฉิบหาย. (ป.).”
หายน + ธรรม = หายนธรรม แปลว่า “สิ่งที่เป็นความเสื่อม” หรือ “สิ่งที่ทำความเสื่อม”
โปรดทราบว่า คำว่า “หายนธรรม” ไม่มีในพจนานุกรมไม่ว่าฉบับไหนๆ เป็นคำที่ผู้เขียนบาลีวันละคำคิดขึ้นมาเพื่อล้อคำว่า “วัฒนธรรม” เท่านั้น แต่ใครจะเอาไปใช้ก็ไม่สงวนลิขสิทธิ์แต่ประการใด
การกระทำและพฤติกรรมที่เป็นความเสื่อม แต่มีผู้นิยมประพฤติแล้วก็มีผู้นิยมประพฤติตาม ดังที่แสดงไว้ข้างต้นโน้น ย่อมมีอยู่ในสังคมมนุษย์ทุกยุคทุกสมัย
การเห็นของชั่วเป็นของดีหรือเห็นผิดเป็นชอบ ย่อมมีอยู่ในสังคมมนุษย์ทุกยุคทุกสมัยเช่นกัน มีพุทธภาษิตในคัมภีร์พระธรรมบทแสดงคติธรรมไว้ว่า
…………..
ปาโปปิ ปสฺสตี ภทฺรํ
ยาว ปาปํ น ปจฺจติ
ยทา จ ปจฺจตี ปาปํ
อถ ปาโป ปาปานิ ปสฺสติ.
(ปาโปปิ ปัสสะตี ภัท๎รัง
ยาวะ ปาปัง นะ ปัจจะติ
ยะทา จะ ปัจจะตี ปาปัง
อะถะ ปาโป ปาปานิ ปัสสะติ)
เมื่อบาปยังไม่ส่งผล
คนชั่วก็เห็นว่าเป็นของดี
ต่อเมื่อมันเผล็ดผลเมื่อใด
เมื่อนั้นแหละเขาจึงรู้พิษสงของบาป
For the evil-doer all is well,
While the evil ripens not;
But when his evil yields its fruit,
He sees the evil results.
ที่มา: ปาปวรรค ธรรมบท พระไตรปิฎกเล่ม 25 ข้อ 19
คำแปลเป็นไทยและภาษาอังกฤษ จากหนังสือ –
“พุทธวจนะในธรรมบท” ของ เสฐียรพงษ์ วรรณปก
…………..
ดูก่อนภราดา!
: คนทำผิดอาจอ้างได้ว่า “ไม่รู้”
: แต่ความไม่รู้ไม่เป็นเหตุให้อ้างได้ว่า “ไม่ผิด”
#บาลีวันละคำ (2,716)
19-11-62