บาลีวันละคำ

พหุวัฒนธรรม (บาลีวันละคำ 2,286)

พหุวัฒนธรรม

อ่านว่า พะ-หุ-วัด-ทะ-นะ-ทำ

พหุวัฒนธรรม” ประกอบด้วยคำว่า พหุ + วัฒนธรรม

(๑) “พหุ

บาลีอ่านว่า พะ-หุ รากศัพท์มาจาก พหฺ (ธาตุ = เจริญ) + อุ ปัจจัย

: พหฺ + อุ = พหุ แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่เจริญขึ้น” ใช้เป็นคุณศัพท์ หมายถึง มาก, หลาย, ใหญ่, ล้นเหลือ; อุดมสมบูรณ์; อย่างมาก, ยิ่งใหญ่ (much, many, large, abundant; plenty; very, greatly)

(๒) “วัฒนธรรม” แยกศัพท์เป็น วัฒน + ธรรม

(ก) “วัฒน” บาลีเป็น “วฑฺฒน” (วัด-ทะ-นะ) รากศัพท์มาจาก วฑฺฒ (ธาตุ = เพิ่มขึ้น) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ)

: วฑฺฒ + ยุ > อน = วฑฺฒน แปลตามศัพท์ว่า “การเพิ่มขึ้น

วฑฺฒน” ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –

(1) การเพิ่มขึ้น, การยกให้สูง, การบำรุง, การเพิ่มเติม, การทำให้เจริญขึ้น, การทำให้ยาวออกไป (increasing, augmenting, fostering; increase, enlargement, prolongation)

(2) การติดใจ, การจดจ่อ, การบริการ, การปฏิบัติ (indulgence in, attachment; serving, practicing)

(3) การจัดการ (arrangement)

(4) การบริการ, การส่งเสริม, การสนับสนุน (serving for, enhancing, favouring)

(5) ชิ้นส่วนหม้อที่แตก (potsherd)

(6) เครื่องนุ่งห่มชนิดหนึ่ง (a kind of garment)

ความหมายโดยรวมของ “วฑฺฒน” ก็คือ การเพิ่มขึ้น, การยกให้สูง, การบำรุง, การเพิ่มเติม, การทำให้เจริญขึ้น, การทำให้ยาวออกไป

วฑฺฒน” ในภาษาไทยตัดตัวสะกดออกตัวหนึ่ง ใช้เป็น “วัฒน

(ข) “ธรรม” บาลีเป็น “ธมฺม” (ทำ-มะ) รากศัพท์มาจาก ธรฺ (ธาตุ = ทรงไว้) + รมฺม (ปัจจัย) ลบ รฺ ที่สุดธาตุ (ธรฺ > ) และ ต้นปัจจัย (รมฺม > มฺม)

: ธรฺ > + รมฺม > มฺม : + มฺม = ธมฺม (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า –

(1) “กรรมที่ทรงไว้ซึ่งความดีทุกอย่าง” (หมายถึงบุญ)

(2) “สภาวะที่ทรงผู้ดำรงตนไว้มิให้ตกไปในอบายและวัฏทุกข์” (หมายถึงคุณธรรมทั่วไปตลอดจนถึงโลกุตรธรรม)

(3) “สภาวะที่ทรงไว้ซึ่งสัตว์ผู้บรรลุมรรคเป็นต้นมิให้ตกไปในอบาย” (หมายถึงโลกุตรธรรม คือมรรคผล)

(4) “สภาวะที่ทรงลักษณะของตนไว้ หรืออันปัจจัยทั้งหลายทรงไว้” (หมายถึงสภาพหรือสัจธรรมทั่วไป)

(5) “สภาวะอันพระอริยะมีโสดาบันเป็นต้นทรงไว้ ปุถุชนทรงไว้ไม่ได้” (หมายถึงโลกุตรธรรม คือมรรคผล)

คำแปลตามศัพท์ที่เป็นกลางๆ “ธมฺม” คือ “สภาพที่ทรงไว้

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ สรุปความหมายในแง่หนึ่งไว้ว่า “ธมฺม” หมายถึง –

(1) doctrine (คำสอน)

(2) right or righteousness (สิทธิหรือความถูกต้อง)

(3) condition (เงื่อนไข)

(4) phenomenon (ปรากฏการณ์)

วัฒน + ธรรม = วัฒนธรรม แปลว่า “ธรรมคือความเจริญ” เป็นคำที่บัญญัติขึ้นเพื่อเทียบคำภาษาอังกฤษว่า culture

ตามที่ปรากฏหลักฐาน เดิมใช้คำว่า “พฤฒิธรรม” (พฺรึด-ทิ-ทำ) แต่ไม่มีผู้นิยม จึงเปลี่ยนเป็น “วัฒนธรรม” และใช้กันมาจนทุกวันนี้

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

วัฒนธรรม : (คำนาม) สิ่งที่ทําความเจริญงอกงามให้แก่หมู่คณะ เช่น วัฒนธรรมไทย วัฒนธรรมในการแต่งกาย, วิถีชีวิตของหมู่คณะ เช่น วัฒนธรรมพื้นบ้าน วัฒนธรรมชาวเขา.”

พหุ + วัฒนธรรม = พหุวัฒนธรรม แปลว่า “วัฒนธรรมที่หลากหลาย” เป็นคำที่บัญญัติขึ้นเพื่อเทียบคำภาษาอังกฤษว่า multiculture มักใช้เป็นคุณศัพท์ เช่น สังคมพหุวัฒนธรรม (multicultural society)

คำว่า “พหุวัฒนธรรม” ยังไม่ได้เก็บไว้ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554

ขยายความ :

พหุวัฒนธรรม” หมายถึงวิถีชีวิตของหมู่ชนที่มีรูปแบบแตกต่างกัน แต่มาอยู่ในสังคมเดียวกัน ใช้ชีวิตร่วมกัน อยู่ภายใต้กฎหมายหรือกติกาของสังคมเดียวกัน แต่ละกลุ่มยังคงรักษารูปแบบของตนไว้ แต่ไม่ขัดแย้งกัน

สังคมที่ตรงกันข้ามกับ “พหุวัฒนธรรม” คือสังคมวัฒนธรรมเดียว (monoculural society)

มีข้อน่าสังเกตคือ กลุ่มชนในสังคมวัฒนธรรมเดียวเมื่อไปอยู่ในสังคมอื่น มักพยายามเรียกร้องสิทธิ์ที่จะทำอะไรๆ ได้ตามวัฒนธรรมประเพณีวิถีชีวิตของตน แต่ขณะเดียวกันก็มักไม่ยอมให้กลุ่มชนอื่นที่ไปอยู่ในสังคมของตนมีสิทธิ์ทำอะไรๆ ได้ตามวัฒนธรรมประเพณีวิถีชีวิตของเขา นับเป็นเรื่องที่น่าสังเกตอย่างหนึ่ง

…………..

ดูก่อนภราดา!

: บัณฑิต อยู่กันเป็นร้อยตระกูลก็กลมเกลียว

: คนพาล อยู่คนเดียวก็ทะเลาะกับตัวเอง

#บาลีวันละคำ (2,286)

15-9-61

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *