บาลีวันละคำ

เดินธุดงค์ – คำที่ต้องทำความเข้าใจกันใหม่ (บาลีวันละคำ 2,379)

เดินธุดงค์ – คำที่ต้องทำความเข้าใจกันใหม่

เมื่อเห็นพระแบกกลด สะพายบริขาร เดินจากที่หนึ่งไปอีกที่หนึ่ง เรามักเรียกกันว่า “พระธุดงค์” และเรียกกิริยาที่ประพฤติเช่นนั้นว่า “เดินธุดงค์

คำว่า “ธุดงค์” บาลีเป็น “ธุตงฺค” และเป็น “ธูตงฺค” ก็ได้ (ต่างกันที่ ธุ– กับ ธู-)

ธุตงฺค” ประกอบด้วย ธุต + องฺค

(1) “ธุต” (ทุ-ตะ) รากศัพท์มาจาก ธุ (ธาตุ = กำจัด) + ปัจจัย

: ธุ + = ธุต แปลตามศัพท์ว่า “กำจัดอกุศลธรรม

(2) “องฺค” (อัง-คะ) คือที่ในภาษาไทยใช้ว่า “องค์” (อง) แปลว่า ส่วนของร่างกาย, อวัยวะ, ชิ้นส่วน, ส่วนประกอบ, ส่วนประกอบของทั้งหมด หรือของระบบ

ธุต + องฺค = ธุตงฺค แปลตามศัพท์ว่า “องค์แห่งผู้กำจัด” “องค์เป็นเครื่องขัดเกลาอกุศลธรรม

ธุตงฺค” ภาษาไทยใช้ว่า “ธุดงค์

ธุดงค์คืออะไร ขอสรุปความจากพจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม ของท่าน ป.อ.ปยุตฺโต มาเสนอดังต่อไปนี้ :

…………..

ธุดงค์ หมายถึง องค์คุณเครื่องสลัดหรือกำจัดกิเลส, ข้อปฏิบัติประเภทวัตรที่ผู้สมัครใจจะพึงสมาทานประพฤติได้ เพื่อเป็นอุบายขัดเกลากิเลส ช่วยส่งเสริมความมักน้อยและสันโดษเป็นต้น (Dhutaŋga: means of shaking off or removing defilements; austere practices; ascetic practices) มี 13 ข้อ คือ

1. ปังสุกูลิกังคะ (องค์แห่งผู้ถือทรงผ้าบังสุกุลเป็นวัตร – refuse-rag-wearer’s practice)

2. เตจีวริกังคะ (องค์แห่งผู้ถือทรงเพียงไตรจีวรเป็นวัตร – triple-robe-wearer’s practice)

3. ปิณฑปาติกังคะ (องค์แห่งผู้ถือเที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร – alms-food-eater’s practice)

4. สปทานจาริกังคะ (องค์แห่งผู้ถือเที่ยวบิณฑบาตไปตามลำดับเป็นวัตร – house-to-house-seeker’s practice)

5. เอกาสนิกังคะ (องค์แห่งผู้ถือนั่งฉัน ณ อาสนะเดียวเป็นวัตร คือฉันวันละมื้อเดียว ลุกจากที่แล้วไม่ฉันอีก – one-sessioner’s practice)

6. ปัตตปิณฑิกังคะ (องค์แห่งผู้ถือฉันเฉพาะในบาตรเป็นวัตร คือ ไม่ใช้ภาชนะใส่อาหารเกิน 1 อย่างคือบาตร – bowl-food-eater’s practice)

7. ขลุปัจฉาภัตติกังคะ (องค์แห่งผู้ถือห้ามภัตที่ถวายภายหลังเป็นวัตร คือเมื่อได้ปลงใจกำหนดอาหารที่เป็นส่วนของตน ซึ่งเรียกว่าห้ามภัต ด้วยการลงมือฉันเป็นต้นแล้ว ไม่รับอาหารที่เขานำมาถวายอีก แม้จะเป็นของประณีต – later-food-refuser’s practice)

8. อารัญญิกังคะ (องค์แห่งผู้ถืออยู่ป่าเป็นวัตร อยู่ห่างบ้านคนอย่างน้อย 500 ชั่วธนู คือ 25 เส้น – forest-dweller’s practice)

9. รุกขมูลิกังคะ (องค์แห่งผู้ถืออยู่โคนไม้เป็นวัตร – tree-rootdweller’s practice)

10. อัพโภกาสิกังคะ (องค์แห่งผู้ถืออยู่ที่แจ้งเป็นวัตร – open-air-dweller’s practice)

11. โสสานิกังคะ (องค์แห่งผู้ถืออยู่ป่าช้าเป็นวัตร – charnel-ground-dweller’s practice)

12. ยถาสันถติกังคะ (องค์แห่งผู้ถืออยู่ในเสนาสนะแล้วแต่เขาจัดให้ – any-bed-user’s practice)

13. เนสัชชิกังคะ (องค์แห่งผู้ถือการนั่งเป็นวัตร คือเว้นนอน อยู่ด้วยเพียง 3 อิริยาบถ – sitter’s practice)

…………..

ข้อควรเข้าใจให้ถูกต้องเกี่ยวกับธุดงค์ :

ธุดงค์ไม่ใช่บทบัญญัติทางวินัย ขึ้นกับความสมัครใจ มีหลักทั่วไปในการถือว่า ถ้าถือแล้วช่วยให้กรรมฐานเจริญ หรือช่วยให้กุศลธรรมเจริญ อกุศลธรรมเสื่อม ควรถือ ถ้าถือแล้วทำให้กรรมฐานเสื่อม หรือทำให้กุศลธรรมเสื่อม อกุศลธรรมเจริญ ไม่ควรถือ ส่วนผู้ที่ถือหรือไม่ถือก็ไม่ทำให้กรรมฐานเจริญหรือเสื่อม เช่น เป็นพระอรหันต์แล้วอย่างพระมหากัสสปะ เป็นต้น หรือคนอื่นๆ ก็ตาม ควรถือได้ ฝ่ายแรกควรถือในเมื่อคิดจะอนุเคราะห์ชุมชนในภายหลัง ฝ่ายหลังเพื่อเป็นวาสนาต่อไป

คนทั่วไปมักเข้าใจว่า การที่พระแบกกลด สะพายบริขาร เดินจากที่หนึ่งไปอีกที่หนึ่ง นั่นคือ “ธุดงค์” ซึ่งเป็นความเข้าใจผิดอย่างยิ่ง

อาจอธิบายได้ว่า การแบกกลด สะพายบริขาร เดินจากที่หนึ่งไปอีกที่หนึ่งนั้น เป็นภาพที่เกิดขึ้นในสมัยพุทธกาลอันเป็นสมัยที่ยังไม่มีอาวาสหรืออารามแพร่หลายทั่วไป พระภิกษุสามเณรที่บวชเข้ามาในพระศาสนาแล้วล้วนมีความมุ่งหมายจะปฏิบัติขัดเกลาตนเอง เมื่อมีโอกาสจึงมักจะชวนกันจาริกไปแสวงหาสถานที่ปฏิบัติธรรม

ดังมีเรื่องในคัมภีร์ทั่วไปเล่าว่า เมื่อออกพรรษาแล้ว ภิกษุทูลขอให้พระพุทธเจ้าตรัสบอกวิธีเจริญกรรมฐานจนถึงขั้นที่สามารถบรรลุอรหัตผลได้ แล้วทูลลาพากันออกจาริกเป็นคณะ 30 รูปบ้าง 60 รูปบ้าง ไปแสวงหาสถานที่วิเวกเหมาะแก่การเจริญกรรมฐาน

นี่คือที่มาของภาพ-พระแบกกลด สะพายบริขาร เดินจากที่หนึ่งไปอีกที่หนึ่ง คือท่านพากันเดินไปแสวงหาสถานที่ปฏิบัติธรรม ไม่ใช่การถือธุดงค์ใดๆ ทั้งสิ้น

จะเห็นได้ว่า การแบกกลด สะพายบริขาร เดินจากที่หนึ่งไปอีกที่หนึ่ง ไม่มีอยู่ในหัวข้อการถือธุดงค์ ซึ่งหมายความว่าการแบกกลด สะพายบริขาร เดินจากที่หนึ่งไปอีกที่หนึ่งนั้นไม่ใช่ “ธุดงค์” ในพระพุทธศาสนา และจะเรียกว่า “ธุดงค์” ในพระพุทธศาสนาไม่ได้เป็นอันขาด

ผู้ต้องการรู้เรื่องธุดงค์ที่ถูกต้องโดยละเอียด พึงศึกษาจาก ธุตงฺคนิทฺเทส คัมภีร์วิสุทธิมรรค ฉบับภาษาบาลี ภาค 1 หน้า 73-104

…………..

บาลีวันละคำชุด:-

: ช่วยกันสืบทอดพระศาสนา

: ช่วยกันรู้ภาษาพระธรรมวินัย

…………..

ดูก่อนภราดา!

เพราะไม่เรียนจึงไม่รู้ดูไม่ออก

จึงถูกหลอกถูกลวงลงห้วงเหว

เพราะรู้ผิดจึงพลาดฉลาด (ในทาง) เลว

หลงว่าเปลวนรกแปลงเป็นแสงธรรม

#บาลีวันละคำ (2,379)

17-12-61

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย