บาลีวันละคำ

ตาโล  มตฺถกจฺฉินฺโน (บาลีวันละคำ 4,448)

ตาโล  มตฺถกจฺฉินฺโน

ตาลยอดด้วน

ภาพนำไปให้ถึงคำบาลี

ผู้เขียนบาลีวันละคำกำลังเลือกหาคำที่จะนำมาเขียน พอดีไปเห็นภาพมะพร้าวยอดด้วนในโพสต์ของญาติมิตรท่านหนึ่ง จิตก็ประหวัดไปถึงคำว่า “ตาลยอดด้วน” ในสำนวนบาลีซึ่งเป็นคำหนึ่งในอุปมาปาราชิก 4 สิกขาบท จึงขอถือโอกาสนำคำบาลีในอุปมานั้นมาแปลให้ฟังกัน ดังนี้

…………..

ปาราชิกสิกขาบทที่ 1 เสพเมถุน : ปุริโส  สีสจฺฉินฺโน = เหมือนคนถูกตัดศีรษะ

ปุริโส” ปกตินักเรียนบาลีจะแปลว่า “อันว่าบุรุษ” ถ้าแปลอย่างนี้ก็จะหมายถึงผู้ชายอย่างเดียว แต่อุปมาข้อนี้ท่านไม่ได้เล็งเฉพาะผู้ชาย แต่เล็งถึงคนทุกเพศ ดังนั้น “ปุริโส” ในที่นี้จึงต้องแปลว่า “อันว่าคน” ซึ่งหมายถึงมนุษย์ทั้งชายทั้งหญิง 

ปุริโส” ในความหมายเช่นนี้ก็ทำนองเดียวกับคำว่า man ในภาษาอังกฤษ ปกติ man เราแปลกันว่า “ผู้ชาย” แต่ความหมายในวงกว้าง man หมายถึง “มนุษย์” ทั้งชายทั้งหญิง

สีส” แปลว่า “ศีรษะ” คือหัว “ฉินฺโน” แปลว่า “ขาดแล้ว

สีสจฺฉินฺโน” แปลว่า “ผู้มีศีรษะขาดแล้ว

ปุริโส  สีสจฺฉินฺโน” = คนหัวขาด

คนหัวขาดไม่อาจจะมีชีวิตอยู่ได้อีกฉันใด 

ภิกษุที่ต้องอาบัติปาราชิกเพราะเสพเมถุนก็พ่ายจากความเป็นพระฉันนั้น

ปาราชิกสิกขาบทที่ 2 ลักทรัพย์ : ปณฺฑุปลาโส  พนฺธนา  ปวุตฺโต = เหมือนใบไม้เหลืองที่หลุดจากขั้ว

ปณฺฑุปลาโส” แปลว่า “อันว่าใบไม้เหลือง” หมายถึงใบไม้ที่แก่แล้ว กลายสีจากเขียวเป็นเหลือง ใกล้จะร่วงหล่น

ปณฺฑุปลาโส” ในที่บางแห่งหมายถึงคนเตรียมบวช ที่เราเรียกกันว่า “นาค”

พนฺธนา” แปลว่า “จากที่ผูก” หมายถึง ขั้วของใบไม้ ซึ่งทำหน้าที่ผูกใบไม้ไว้กับก้านกิ่ง เพราะฉะนั้น แปลตรง ๆ ว่า “จากขั้ว

ปวุตฺโต” แปลว่า “หลุดออกแล้ว” หรือ “หล่นแล้ว” (ในที่บางแห่งศัพท์นี้เป็น “ปมุตฺโต” แปลว่า “พ้นไปแล้ว”)

ปณฺฑุปลาโส  พนฺธนา  ปวุตฺโต” = ใบไม้หลุดจากขั้ว

ใบไม้หลุดจากขั้วไม่อาจจะเขียวสดได้อีกฉันใด 

ภิกษุที่ต้องอาบัติปาราชิกเพราะลักทรัพย์ก็พ่ายจากความเป็นพระฉันนั้น

ปาราชิกสิกขาบทที่ 3 ฆ่ามนุษย์ : ปุถุสิลา  เทฺวธา  ภินฺนา = เหมือนหินทั้งก้อนที่แตกเป็นสองเสี่ยง

ปุถุสิลา” แปลว่า “อันว่าหินก้อนใหญ่

เทฺวธา” แปลว่า “โดยส่วนสอง” หมายถึง สองส่วน สองซีก

ภินฺนา” แปลว่า “แตกแล้ว

ปุถุสิลา  เทฺวธา  ภินฺนา” = หินแตกสองเสี่ยง

ก้อนหินแตกสองเสี่ยงต่อให้ติดสนิทเป็นเนื้อเดิมอีกไม่ได้ฉันใด 

ภิกษุที่ต้องอาบัติปาราชิกเพราะฆ่ามนุษย์ก็พ่ายจากความเป็นพระฉันนั้น

ปาราชิกสิกขาบทที่ 4 อวดอุตริมนุสธรรม : ตาโล  มตฺถกจฺฉินฺโน = เหมือนตาลยอดด้วน

ตาโล” แปลว่า “อันว่าต้นตาล” 

คำว่า “ตาล” นี่เราใช้กันจนคิดว่าเป็นคำไทย ทั้ง ๆ ที่เป็นคำบาลีแท้ ๆ

มตฺถก” แปลตามศัพท์ว่า “อวัยวะอันคนลูบคลำ” หมายถึง ศีรษะหรือหัว เมื่อใช้กับต้นไม้ หมายถึง “ยอด” 

ฉินฺโน” แปลว่า “ขาดแล้ว” 

มตฺถกจฺฉินฺโน” แปลว่า “มียอดขาดแล้ว

ตาโล  มตฺถกจฺฉินฺโน” = ตาลยอดด้วน

ตาลยอดด้วนไม่อาจจะงอกได้อีกฉันใด 

ภิกษุที่ต้องอาบัติปาราชิกเพราะอวดอุตริมนุสธรรมก็พ่ายจากความเป็นพระฉันนั้น

…………..

สิ่งที่ท่านนำมาอุปมานั้นน่าพิจารณา

สำนวนอุปมาก็น่าศึกษา

นับเป็นอลังการทางภาษาได้ส่วนหนึ่ง

…………..

ดูก่อนภราดา!

: เสพเมถุน หมดบุญเหมือนคนหัวขาด

: ฉ้อทรัพย์ หมดรสชาติเหมือนใบไม้หล่น

: ฆ่ามนุษย์ หมดกุศลเหมือนหินแตกสองเสี่ยง

: อวดคุณวิเศษ หมดเกลี้ยงเหมือนตาลยอดด้วน

#บาลีวันละคำ (4,448)

16-8-67 

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *