บาลีวันละคำ

กาลกิณี (บาลีวันละคำ 2,380)

กาลกิณี

สาเหตุที่ทำให้คนบางคนเปลี่ยนชื่อ

อ่านว่า กา-ละ-กิ-นี ก็ได้ กาน-ละ-กิ-นี ก็ได้

(ตามพจนานุกรมฯ)

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 เก็บคำว่า “กาลกรรณี” และ “กาลกิณี” ไว้ด้วยกัน บอกไว้ดังนี้ –

กาลกรรณี, กาลกิณี : (คำนาม) เสนียดจัญไร, ลักษณะที่เป็นอัปมงคล. (ส. กาลกรฺณี; ป. กาลกณฺณี).”

เท่าที่ฟังจากเสียงพูด คำนี้โดยมากพูดกันว่า กา-ละ-กิ-นี ซึ่งน่าจะเป็นเพราะออกเสียงสะดวกปากมากกว่ารูปคำอื่น

พจนานุกรมฯ บอกว่า คำนี้บาลีเป็น “กาฬกณฺณี

กาฬกณฺณี” บาลีอ่านว่า กา-ละ-กัน-นี รากศัพท์มาจาก กาฬ (= ดำ) + กรฺ (ธาตุ = ทำ) + ณี ปัจจัย, แปลง รฺ ที่สุดธาตุเป็น ณฺ (กรฺ > กณฺ)

: กาฬ + กรฺ = กาฬกรฺ + ณี = กาฬกรฺณี > กาฬกณฺณี แปลตามศัพท์ว่า (1) “คนหรือสิ่งที่ทำให้ดำ” (ขยายความว่า อยู่ที่ไหนหรือเกี่ยวข้องกับใคร ก็ทำให้ที่นั้นกลายเป็นสีดำ อับเฉา มืดมัว ขัดข้องไปหมดคน) (2) “คนหรือสิ่งที่มีธรรมดำและส่งผลให้เกิดธรรมดำแก่ผู้อื่นหรือสิ่งอื่น

ความหมายของ “กาฬกณฺณี” ที่เข้าใจกัน คือ คนจัญไร, ความจัญไร, ความเป็นเสนียด, เสนียดจัญไร, อัปมงคล, ลักษณะที่เป็นอัปมงคล, ตัวก่ออุบาทว์, ตัวนำเคราะห์ร้ายหรือทำให้อับโชค

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปลคำว่า “กาฬกณฺณี” ตรงตามศัพท์ที่เห็น คือ กาฬ = ดำ + กณฺณี = มีหู = มีหูดำ จึงแปล “กาฬกณฺณี” ว่า “black-eared” และขยายความว่า การเห็นคนมีหูดำจัดว่าเป็นลางร้ายซึ่งทำลายโชคของคนบางอาชีพ เช่นนายพราน (the vision of the “black-eared” is a bad omen, which spoils the luck of a hunter)

ตามอักขรวิธีในบาลี “” กับ “” ใช้แทนกันได้ คำว่า “กาฬกณฺณี” ในบางแห่งจึงสะกดเป็น “กาลกณฺณี” ภาษาไทยใช้เป็น “กาลกรรณี” และ “กาลกิณี

กาลกิณี” เป็นเรื่องที่มีผู้ “ถือ” กันอยู่มากในหมู่คนไทย ที่เห็นได้ชัดก็คือการตั้งชื่อ อันมีตำราวางเป็นกฎเกณฑ์ไว้ว่า คนเกิดในไหนอักษรอะไรเป็น “กาลกิณี” เวลาตั้งชื่อก็จะหลีกเลี่ยงไม่ให้มีอักษรนั้นๆ อยู่ในชื่อ ถ้าจำเป็นจะต้องมีอักษรที่เป็นกาลกิณี ก็หาวิธีเลี่ยงต่อไปอีก เช่นไม่ใช้เป็นอักษรนำหน้าชื่อเป็นต้น

น่าสังเกตว่า คนไทยสมัยก่อนตั้งชื่อลูกโดยใช้หลักนิยมอย่างอื่น เช่น ใช้อักษรตัวเดียวกันกับชื่อพ่อหรือชื่อแม่ หรือในหมู่ชื่อลูกด้วยกันก็ใช้อักษรตัวเดียวกันทุกคน ดังนี้เป็นต้น นั่นคือไม่ได้คำนึงถึงกฎเกณฑ์เรื่องอักษร “กาลกิณี

เราจึงได้เห็นบางคนเปลี่ยนชื่อใหม่ด้วยเหตุผลสำคัญ คือชื่อเดิมมีอักษรเป็น “กาลกิณี

…………..

ดูก่อนภราดา!

: คนเปลี่ยนชื่อได้

: แต่ชื่อเปลี่ยนคนไม่ได้

#บาลีวันละคำ (2,380)

18-12-61

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *