เจตจำนง ไม่ใช่ “เจตน์จำนงค์” (บาลีวันละคำ 2,378)
เจตจำนง ไม่ใช่ “เจตน์จำนงค์”
ถ้าให้เขียนคำว่า “เจตจำนง” คนเป็นอันมากมักจะเขียนเป็น “เจตน์จำนงค์”
“เจตน์จำนงค์” เป็นคำที่เขียนผิด
“เจตจำนง” เป็นคำที่ถูกต้อง
(๑) “เจต”
บาลีอ่านว่า เจ-ตะ รากศัพท์มาจาก จิตฺ (ธาตุ = คิด, รู้, จงใจ) + อ ปัจจัย, แผลง อิ ที่ จิ-(ตฺ) เป็น เอ (จิตฺ > เจต)
: จิตฺ + อ = จิต > เจต แปลตามศัพท์ว่า “ภาวะที่คิด” หมายถึง ความตั้งใจ, ความคิด, ความจงใจ, ความประสงค์, ความปรารถนา (state of mind in action, thinking as active thought, intention, purpose, will)
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“เจต, เจต– : (คำนาม) สิ่งที่คิด, ใจ. (ป.; ส. เจตสฺ).”
ที่เขียน “เจต” เป็น “เจตน์” นั้น เข้าใจว่าตั้งใจจะให้หมายถึง “เจตนา” (ตั้งใจ, จงใจ, มุ่งหมาย; ความตั้งใจ, ความจงใจ, ความมุ่งหมาย) แต่เมื่อออกเสียงว่า เจด จึงเขียนเป็น “เจตน์” เพื่อให้ออกเสียงเหมือนกัน
เสริมหลักภาษา :
คำที่มีความหมายอย่างเดียวกับ “เจต” ที่เราคุ้นกันดีคือ “จิต” (บาลี “จิตฺต”) ก็มีรากศัพท์มาในแนวเดียวกัน ที่ควรสังเกตคือ “จิ-” แผลงเป็น “เจ-” เรียกเป็นคำกลางๆ ว่า แผลง “อิ” เป็น “เอ”
หลักการแผลงสระในบาลีที่น่าจำไว้ประดับความรู้ คือ “อิ เป็น เอ” และ “อุ เป็น โอ”
“อิ เป็น เอ” เช่น –
ฉิท = เฉท
นิติ = เนติ
มิตร = เมตตา
ศิลา = เสล
“อุ เป็น โอ” เช่น –
กุมุท = โกมุท
กุศล = โกศล
ชุติ = โชติ
ประมุท = ประโมทย์
รุจ = โรจ
รุจน = โรจน
ถ้ารู้หลักนี้ เมื่อเห็น “เอ-” ก็สามารถสาวกลับไปหา “อิ-” ได้ และเมื่อเห็น “โอ-” ก็สามารถสาวกลับไปหา “อุ-” ได้ ช่วยให้เข้าถึงลีลาของภาษาได้ดียิ่งขึ้น
(๒) “จำนง” เป็นคำไทย แผลงมาจาก “จง”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
(1) จง : เป็นคําช่วยกริยา บอกความบังคับ เช่น จงปฏิบัติตามระเบียบวินัย, หรือบอกความหวัง เช่น จงมีความสุขความเจริญ.
(2) จำนง : (คำกริยา) ประสงค์, มุ่งหวัง, ตั้งใจ. (แผลงมาจาก จง).
ในภาษไทย จ– แผลงเป็น จ–น– มีใช้ทั่วไป เช่น –
จน = จำนน
จำ = จำนำ
จ่าย = จำหน่าย
เจียร = จำเนียร
แจก = จำแนก
โจทย์ = จำโนทย์
และ จง = จำนง
คำเดิมคือ “จง” ไม่มี –ค์ เมื่อแผลงเป็น “จำนง” ก็ต้องไม่มี –ค์ เช่นกัน
“จำนงค์” จึงเป็นคำที่เขียนผิด
สาเหตุที่มักเขียนผิดนั้นเรียกเป็นวิชาการก็ว่า เพราะมีแนวเทียบผิด เช่น เห็นคำว่า “อนงค์” มี –ค์ เห็นคำว่า “สรรพางค์” มี –ค์ จึงจับหลักผิดคิดไปว่า คำที่ลงท้ายด้วย –ง ต้องตามด้วย –ค์ คือต้องเป็น “-งค์” พอเขียนคำว่า “จำนง” เข้าหลักพอดี จึงสะกดเป็น “จำนงค์”
เจต + จำนง = เจตจำนง แปลว่า ใจที่มุ่งหวัง, ความมุ่งหวังของใจ, ใจหวัง, หวังใจ
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“เจตจำนง : (คำนาม) ความตั้งใจมุ่งหมาย, ความจงใจ.”
…………..
ดูก่อนภราดา!
: ตั้งเจตจำนงว่าจะไม่ประพฤติผิด
: เป็นบัณฑิตทันที
#บาลีวันละคำ (2,378)
16-12-61