บาลีวันละคำ

วังก์พง (บาลีวันละคำ 2,537)

วังก์พง

จับบวชแล้วเขียนประวัติใหม่?

คำว่า “วังก์พง” ที่เราคุ้นกันดีน่าจะเป็นชื่อสถานีรถไฟแห่งหนึ่งในเส้นทางรถไฟสายใต้ คือสถานีวังก์พง

อักขรานุกรมภูมิศาสตร์ไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถานบอกไว้สั้นๆ ว่า “วังก์พง” เป็นตำบล ขึ้นอำเภอปราณบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์

ยังไม่พบคำอธิบายประวัติความเป็นมาว่าทำไมจึงได้ชื่อเช่นนี้

ผู้เขียนบาลีวันละคำเคยได้ยินนักเลงภาษารุ่นเก่าถกแถลงกันว่า ชื่อ “วังก์พง” แปลว่า “ป่าที่คดเคี้ยวเลี้ยวลด” คือ “วังก์” มาจากคำว่า “วงฺก” ที่แปลว่า คด “พง” หมายถึงป่า เช่นในคำว่า ป่าดงพงพี หรือ ป่าดงพงไพรเป็นต้น

วังก์พง” จึงมีความหมายทำนองเดียวกับ “เขาวงกต” ที่คนไทยคุ้นกันดี หมายความว่า สถานที่บริเวณนั้นเคยเป็นป่ารกคดเคี้ยว จึงเรียกกันว่า “วังก์พง

ถ้าเป็นตามที่ว่านี้ “วังก์” บาลีเป็น “วงฺก” (วัง-กะ) รากศัพท์มาจาก วงฺกฺ (ธาตุ = คด, งอ) + ปัจจัย

: วงฺกฺ + = วงฺก แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่คด

วงฺก” ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –

เป็นคำนาม:

(1) ส่วนงอ, ซอก, ส่วนโค้ง (a bend, nook, curve )

(2) ตะขอ (a hook)

(3) เบ็ด (a fish-hook)

เป็นคุณศัพท์:

(1) (ใช้ตรงๆ) คด, งอ, โค้ง, คดเคี้ยว (crooked, bent, curved)

(2) (ใช้ในเชิงอุปมา) คด, โกง, ไม่ซื่อสัตย์ (crooked, deceitful, dishonest)

(3) สงสัย, คดโกง, หลอกลวง, หลอกหลอน (doubtful, deceitful, deceptive, haunted)

ผู้เขียนบาลีวันละคำมีความเห็นว่า คำว่า “วังก์” เป็นศัพท์ลึกมาก ชาวบ้านที่เรียกชื่อตำบลนี้คงจะไม่คิดไปถึงศัพท์ลึกๆ เช่นนี้ ดีร้ายชื่อตำบลนี้น่าจะเป็นคำไทยๆ เป็นภาษาบ้านๆ นี่เอง

ผู้เขียนบาลีวันละคำขอเสนอว่า ชื่อตำบลนี้ตามที่ชาวบ้านเรียกกันก็คือ “วังกะพง” ประกอบด้วยคำว่า วัง + กะพง

(๑) คำว่า “วัง” หมายถึง ห้วงนํ้าหรือช่วงตอนหนึ่งของลำน้ำ คำเรียกชื่อสถานที่ที่ขึ้นต้นด้วย “วัง-” ที่เราคุ้นกันดี เช่น วังจระเข้, วังน้ำเขียว, วังขนาย ฯลฯ ในภาษาไทยยังมีคำว่า “วังวน” หมายถึง ห้วงนํ้าที่หมุนวน

(๒) คำว่า “กะพง” เป็นชื่อปลาและชื่อหอยทะเล ขอคัดคำอธิบายจากพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 มาเฉพาะที่ประสงค์ดังนี้

(1) กะพง : ชื่อปลาหลายชนิดในหลายวงศ์ที่มีก้านครีบเป็นกระดูกแข็ง ขนาดยาวได้ถึง ๒ เมตร ลำตัวหนา แบนข้างเล็กน้อย หัวโตลาดลงมาจากด้านหลัง ตาค่อนข้างโต ปากกว้าง เช่น กะพงแดง, กะพงขาว, กะพงลาย

(2) กะพง : ชื่อหอยทะเลกาบคู่ เปลือกบางรูปยาวรี สีเขียวหรือเขียวอมเหลือง มีลายเป็นเส้นสีนํ้าตาล อาศัยอยู่ตามพื้นท้องทะเลที่เป็นเลนปนทราย โดยยึดติดกันเองเป็นกระจุกหรือแผ่เป็นแผ่นใหญ่

ในอดีต ลำน้ำตอนใดตอนหนึ่งในท้องที่แห่งนั้นมีปลากะพงหรือหอยกะพงชุกชุมจนเป็นที่รู้กัน ชาวบ้านจึงเรียกกันว่า “วังกะพง” หมายความว่า “วังน้ำที่มีปลากะพงหรือหอยกะพงชุกชุม

คำเทียบที่อาจช่วยให้เข้าใจง่ายขึ้นก็คือชื่อ “หุบกะพง” ซึ่งน่าจะมีที่มาในทำนองเดียวกัน

คำว่า “หุบ” หมายถึง แอ่งน้ำในภูมิประเทศที่เป็นเส้นเป็นแนวยาว 2 ข้างแอ่งขนาบด้วยพื้นแผ่นดินสูง (คำนิยามคำว่า “หุบเขา, หุบผา” จากพจนานุกรมฯ)

ในท้องที่อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี มีหมู่บ้าน “หุบกระทิง” สันนิษฐานว่าในอดีตมีแอ่งน้ำที่ฝูงกระทิงมากินน้ำกันมาก

หุบกระทิง” “หุบกะพง” “วังกะพง” ชื่อเหล่านี้มีที่มาจากธรรมชาติในพื้นที่นั้นๆ ในอดีต

คำว่า “วังกะพง” บางทีอาจจะสะกดแบบชาวบ้านเป็น “วังกพง” (-กพง กะ- ไม่มีสระ อะ) และเวลาออกเสียงจริงๆ ตามวิสัยชาวบ้านไทยๆ ก็อาจจะลดเสียงจาก วัง-กะ-พง พูดลัดๆ เป็น วัง (กะ) พง นักเลงภาษาเลยจัดแจงแยกศัพท์จับบวชเป็น วังก (คดเคี้ยว) + พง (ป่า) แล้วสะกดเป็น “วังก์พง” ตามที่ปรากฏในปัจจุบัน

จาก “วังกะพง” = “วังน้ำที่มีปลากะพงหรือหอยกะพงชุกชุม

กลายเป็น “วังก์พง” = “ป่าที่คดเคี้ยวเลี้ยวลด” ไปด้วยประการฉะนี้

โปรดอย่าลืมว่าทั้งหมดนี้เป็นเพียงข้อสันนิษฐานของผู้เขียนบาลีวันละคำ ท่านทั้งปวงไม่จำเป็นต้องเห็นด้วยแต่ประการใด

…………..

ดูก่อนภราดา!

: คนเป็นผู้เขียนประวัติคำ

: กรรมเป็นผู้เขียนประวัติคน

#บาลีวันละคำ (2,537)

24-5-62

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย