อามิสบูชา (บาลีวันละคำ 2,536)
อามิสบูชา
อ่านว่า อา-มิด-สะ-บู-ชา
ประกอบด้วยคำว่า อามิส + บูชา
(๑) “อามิส”
บาลีอ่านว่า อา-มิ-สะ รากศัพท์มาจาก –
(1) อา (คำอุปสรรค = ภายใน) + มิ (ธาตุ = ใส่) + สก ปัจจัย, ลบ ก (สก > ส)
: อา + มิ = อามิ + สก = อามิสก > อามิส แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งอันเขาใส่ไว้ภายใน” (คือใส่ไว้ล่อ)
(2) อา (คำอุปสรรค = ทั่วไป, ยิ่ง) + มสฺ (ธาตุ = จับต้อง) + อ ปัจจัย, แปลง อ ที่ ม-(สฺ) เป็น อิ (มสฺ > มิส)
: อา + มสฺ = อามสฺ + อ = อามส > อามิส แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งอันความตายจับต้อง”
“อามิส” (นปุงสกลิงค์) ในภาษาบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –
(1) เนื้อสด (raw meat)
(2) ดิบ, ไม่ได้ตระเตรียม, ไม่มีการปลูกฝัง (raw, unprepared, uncultivated)
(3) มีเนื้อ, วัตถุ, อามิส (fleshy, material, physical)
(4) อาหาร, อาหารที่ถูกปาก, อาหารสำหรับกินเพื่อความเอร็ดอร่อย, อาหารอันโอชะ (food, palatable food, food for enjoyment, dainties
(5) เหยื่อ (bait)
(6) ลาภ, รางวัล, เงิน, สินบน, เงินรางวัล, การให้รางวัล (gain, reward, money, douceur, gratuity, tip)
(7) ความเพลิดเพลิน (enjoyment)
(8) ความโลภ, ความอยากได้, ตัณหา (greed, desire, lust)
บาลี “อามิส” สันสกฤตเป็น “อามิษ”
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ดังนี้ –
(สะกดตามต้นฉบับ)
“อามิษ : (คำนาม) เนื้อ; การเสพ; ของโปรด, ของชอบใจ; ของงาม; สินบล; ความมักได้, ความใคร่; รูป; กาม; อาหาร; flesh; enjoyment; an object of enjoyment, a pleasing object, a beautiful object; a bribe; coveting, desire or longing for; form; lust; food.”
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 เก็บไว้ทั้ง “อามิษ” และ “อามิส” บอกไว้ดังนี้ –
“อามิษ, อามิส, อามิส– : (คำนาม) สิ่งของวัตถุเครื่องล่อใจมีเงินเป็นต้น, เช่น อย่าเห็นแก่อามิสสินจ้าง. (ส. อามิษ; ป. อามิส).”
(๒) “บูชา”
บาลีเป็น “ปูชา” (ปู– ป ปลา) รากศัพท์มาจาก ปูชฺ (ธาตุ = บูชา) + อ ปัจจัย + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์
: ปูชฺ + อ = ปูช + อา = ปูชา แปลตามศัพท์ว่า “การบูชา” หมายถึง การบูชา, การนับถือ, การแสดงความภักดี (honour, worship, devotional attention)
บาลี “ปูชา” ภาษาไทยใช้ว่า “บูชา” (บู– บ ใบไม้)
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“บูชา : (คำกริยา) แสดงความเคารพบุคคลหรือสิ่งที่นับถือด้วยเครื่องสักการะ มีดอกไม้ ธูป เทียน เป็นต้น เช่น บูชาพระ บูชาเทวดา บูชาไฟ, ยกย่องเทิดทูนด้วยความนับถือหรือเลื่อมใสในความรู้ความสามารถ เช่น บูชาวีรบุรุษ บูชาความรู้ บูชาฝีมือ; ซื้อพระพุทธรูป วัตถุมงคล หรือสิ่งที่ถือว่าขลังหรือศักดิ์สิทธิ์ เช่น พระพุทธรูปองค์นี้บูชามาเท่าไร, เช่า ก็ใช้. (ป., ส. ปูชา).”
อามิส + ปูชา = อามิสปูชา (อา-มิ-สะ-ปู-ชา) แปลทับศัพท์ว่า “การบูชาด้วยอามิส”
“อามิสปูชา” ใช้ในภาษาไทยเป็น “อามิสบูชา”
พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ขยายความไว้ว่า –
“อามิสบูชา : การบูชาด้วยอามิส คือ ด้วยสิ่งของมีดอกไม้ ของหอมอาหาร และวัตถุอื่นๆ (ข้อ ๑ ในบูชา ๒).”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“อามิสบูชา : (คำนาม) การบูชาด้วยสิ่งของ, คู่กับ ปฏิบัติบูชา ซึ่งเป็นการบูชาด้วยการปฏิบัติตามคำสั่งสอน.”
โปรดระวัง “อามิสบูชา” อ่านว่า อา-มิด-สะ-บู-ชา
อย่าอ่านผิดๆ ว่า อา-มิด-บู-ชา
…………..
หลักคิดเรื่อง “อามิสบูชา” ที่ท่านแสดงไว้คือ –
อามิสบูชาไม่สามารถช่วยให้พระศาสนามั่นคงยืนยาวอยู่ได้
แต่อามิสบูชาก็มีอานิสงส์ทำให้ไม่จน คือไม่ขัดสนด้วยปัจจัยเพื่อการดำรงชีพ
…………..
ดูก่อนภราดา!
: ความจนไม่ได้กีดกันคนไม่ให้ไปสวรรค์
: ความรวยก็ไม่ใช่หลักประกันว่าจะไม่ตกนรก
#บาลีวันละคำ (2,536)
23-5-62