อัคนีบูชา (บาลีวันละคำ 2,538)
อัคนีบูชา
เพราะ แต่เพี้ยน
25 พฤษภาคม 2562 แรม 7 ค่ำ เดือน 6 พ่อค้าดอกไม้ที่ตลาดร้องเชื้อเชิญลูกค้าว่า “ดอกไม้ครับ ดอกไม้ พรุ่งนี้วันอัคนีบูชา วันถวายพระเพลิงพระพุทธเจ้า”
วันถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระ คือวันแรม 8 ค่ำ เดือนวิสาขะ หรือเดือน 6 นั่นคือ 7 วันหลังจากพุทธปรินิพพาน
วันถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระเรียกเป็นคำศัพท์ว่า “วันอัฐมี” หรือ “อัฐมีบูชา”
“อัฐมีบูชา” อ่านว่า อัด-ถะ-มี-บู-ชา แปลว่า “การบูชาในดิถีที่แปด” หรือการบูชาในวัน 8 ค่ำ
“อัฐมีบูชา” เป็นคำศัพท์ คนที่ไม่คุ้นกับคำวัดและไม่คุ้นกับพุทธประวัติส่วนมากจะไม่เข้าใจ เมื่อฟังแต่เสียงย่อมนึกศัพท์ที่ถูกต้องไม่ออก
เสียงที่ได้ยินว่า อัด-ถะ-มี- พร้อมกับความคิดที่พอรู้อยู่บ้างว่า “วันถวายพระเพลิง” จิตจึงปรุง อัด-ถะ-มี- เป็น “อัคนี” – อัก-คะ-นี ซึ่งคนส่วนมากค่อนข้างจะคุ้นหูและพอรู้ว่าหมายถึง “ไฟ” สอดรับกับความรู้เดิมว่า “วันถวายพระเพลิง”
“อัฐมีบูชา” จึงถูกเข้าใจเป็น “อัคนีบูชา” อย่างแนบเนียน และปราศจากข้อกังขาด้วยประการทั้งปวง
พ่อค้ายอมรับว่า เขาได้ยินคำว่า “อัฐมีบูชา” แต่เข้าใจไปว่าเป็น “อัคนีบูชา”
ผิดเป็นครู หาความรู้จากคำ :
“อัคนีบูชา” อ่านว่า อัก-คะ-นี-บู-ชา ประกอบด้วยคำว่า อัคนี + บูชา
(๑) “อัคนี”
บาลีเป็น “อคฺคิ” (อัก-คิ) รากศัพท์มาจาก อคฺคฺ (ธาตุ = ไปคด) + อิ ปัจจัย
: อคฺคฺ + อิ = อคฺคิ (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ไปคด” (คือวูบวาบๆ คดไปคดมา)
“อคฺคิ” ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –
(1) ไฟ, เปลวไฟ, ประกาย; เพลิง (fire, flames, sparks; conflagration)
(2) ไฟบูชายัญ (the sacrificial fire)
(3) ไฟที่เผา, ไฟที่ทำลาย, ความรู้สึกเร่าร้อน (the fire of burning, consuming, feverish sensations)
บาลี “อคฺคิ” สันสกฤตเป็น “อคฺนิ”
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –
“อคฺนิ : (คำนาม) ไฟ; fire.”
ในภาษาไทย ใช้เป็น “อัคนิ” และ “อัคนี” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“อัคนิ, อัคนี : (คำนาม) ไฟ; ชื่อเทพแห่งไฟ. (ส. อคฺนิ; ป. อคฺคิ).”
(๒) “บูชา”
บาลีเป็น “ปูชา” (ปู– ป ปลา) รากศัพท์มาจาก ปูชฺ (ธาตุ = บูชา) + อ ปัจจัย + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์
: ปูชฺ + อ = ปูช + อา = ปูชา แปลตามศัพท์ว่า “การบูชา” หมายถึง การบูชา, การนับถือ, การแสดงความภักดี (honour, worship, devotional attention)
บาลี “ปูชา” ภาษาไทยใช้ว่า “บูชา” (บู– บ ใบไม้)
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“บูชา : (คำกริยา) แสดงความเคารพบุคคลหรือสิ่งที่นับถือด้วยเครื่องสักการะ มีดอกไม้ ธูป เทียน เป็นต้น เช่น บูชาพระ บูชาเทวดา บูชาไฟ, ยกย่องเทิดทูนด้วยความนับถือหรือเลื่อมใสในความรู้ความสามารถ เช่น บูชาวีรบุรุษ บูชาความรู้ บูชาฝีมือ; ซื้อพระพุทธรูป วัตถุมงคล หรือสิ่งที่ถือว่าขลังหรือศักดิ์สิทธิ์ เช่น พระพุทธรูปองค์นี้บูชามาเท่าไร, เช่า ก็ใช้. (ป., ส. ปูชา).”
อัคนี + บูชา = อัคนีบูชา แปลเพื่อมิให้คนพูดผิดรู้สึกเก้อเขินว่า “การบูชาด้วยไฟ” และขยายความเพื่อรักษาน้ำใจว่า-หมายถึง การถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระ!
อภิปราย :
คำที่หมายถึงบูชาไฟ ที่พบทั่วไปในคัมภีร์ คือ “อคฺคิปริจรณ” (อัก-คิ-ปะ-ริ-จะ-ระ-นะ) และ “อคฺคิปริจริยา” (อัก-คิ-ปะ-ริ-จะ-ริ-ยา) = การบูชาไฟ (fire-worship) และ “อคฺคิโหม” (อัก-คิ-โห-มะ) = การบูชาไฟ (fire-oblation)
อีกคำหนึ่งคือ “อคฺคิหุตฺต” (อัก-คิ-หุด-ตะ) = ไฟบูชายัญ (the sacrificial fire)
คำว่า “อัคนีบูชา” แปลงกลับเป็นบาลีว่า “อคฺคิปูชา” แปลตรงตัวว่า “การบูชาไฟ” รูปคำเช่นนี้ยังไม่พบว่ามีใช้ในคัมภีร์
คำว่า “อัคนีบูชา” รูปและเสียงฟังดูดี ความหมายก็ขลังๆ เข้าพวกได้ดีกับลัทธิบูชาไฟ ทั้งสามารถอธิบายลากเข้าหา “วันถวายพระเพลิง” ได้อย่างแนบเนียน
ถ้าไม่ดักคอไว้ก่อน เชื่อว่าต้องมีผู้หยิบฉวยเอาไปเรียกขานแทน “อัฐมีบูชา” แล้วอธิบายสวมรอยกันสนิทแน่ๆ
โปรดช่วยกันรู้ทันแต่เนิ่นๆ
ดูเพิ่มเติม: “อัฏฐมีบูชา” บาลีวันละคำ (1,456) 28-5-59
…………..
ดูก่อนภราดา!
: การเกรงใจคนผิด
: คือรากเหง้าของความวิปริตในสังคม
#บาลีวันละคำ (2,538)
25-5-62