บาลีวันละคำ

กรรมพันธุ์ – ความหมายทางธรรม (บาลีวันละคำ 2,549)

กรรมพันธุ์ – ความหมายทางธรรม

กรรมพันธุ์” อ่านว่า กำ-มะ-พัน

เมื่อเอ่ยถึงคำว่า “กรรมพันธุ์” คนส่วนมากเข้าใจในความหมายเดียว คือ “กรรมพันธุ์” ที่หมายถึง ลักษณะ นิสัย ตลอดจนโรคหรือความวิกลวิการบางอย่างที่ลูกหลานสืบมาจากบรรพบุรุษ ปู่ย่าตายาย หรือพ่อแม่

เช่นพูดว่า โรคเบาหวานเป็นกรรมพันธุ์

อาจกล่าวได้ว่านี่เป็นความหมายทางโลก

คำว่า “กรรมพันธุ์” ยังมีความหมายในทางธรรมอีกด้วย อันที่จริง คำว่า “กรรมพันธุ์” เดิมแท้เป็นคำที่ใช้ในทางธรรม

กรรมพันธุ์” เขียนแบบบาลีเป็น “กมฺมพนฺธุ” อ่านว่า กำ-มะ-พัน-ทุ ประกอบด้วยคำว่า กมฺม + พนฺธุ

(๑) “กมฺม” (กำ-มะ)

รากศัพท์มาจาก กรฺ (ธาตุ = กระทำ) + รมฺม (รำ-มะ, ปัจจัย) ลบ รฺ ที่สุดธาตุ (กรฺ > -) และ ที่ต้นปัจจัย (รมฺม > –มฺม)

: กร > + รมฺม > มฺม : + มฺม = กมฺม แปลว่า การกระทำ, สิ่งที่ทำ, การงาน (the doing, deed, work)

กมฺม” สันสกฤตเป็น “กรฺม” (กระ-มะ, ควบ กลืนเสียง ระ ลงคอ) ไทยเขียนอิงสันสกฤตเป็น “กรรม

(๒) “พนฺธุ” (พัน-ทุ)

รากศัพท์มาจาก พนฺธฺ (ธาตุ = ผูก, มัด, พัน) + อุ ปัจจัย

: พนฺธฺ + อุ = พนฺธุ แปลตามศัพท์ว่า “ผู้เกี่ยวข้องกัน” “ผู้อันความรักผูกพัน” “ผู้ผูกพันคนอื่นไว้ในตน

พนฺธุ” หมายถึง –

(1) พวกพ้อง, ญาติ, เหล่ากอ (a relation, relative, kinsman)

(2) เกี่ยวข้อง, เกี่ยวพัน, ผูกพัน (connected with, related to, dealing with)

กมฺม + พนฺธุ = กมฺมพนฺธุ นิยมแปลกันว่า มีกรรมเป็นพวกพ้อง, มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “กมฺมพนฺธุ” ว่า having karma as one’s relative, i. e. closely tied to one’s karma (มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ คือ ผูกพันอยู่กับกรรมของตนอย่างใกล้ชิด)

อภิปรายขยายความ :

ที่มาของคำว่า “กมฺมพนฺธุ” ที่เราน่าจะคุ้นกันพอสมควรคือ “พรหมวิหารภาวนา” คำสุดท้ายคือ “อุเบกขา” ที่มีข้อความว่า —

…………..

สพฺเพ สตฺตา กมฺมสฺสกา กมฺมทายาทา กมฺมโยนี กมฺมพนฺธู กมฺมปฏิสรณา, ยํ กมฺมํ กริสฺสนฺติ กลฺยาณํ วา ปาปกํ วา, ตสฺส ทายาทา ภวิสฺสนฺติ.

คำแปล :

สัพเพ สัตตา, สัตว์ทั้งหลาย ที่เป็นเพื่อนทุกข์เกิดแก่เจ็บตายด้วยกันหมดทั้งสิ้น

กัมมัสสะกา, เป็นผู้มีกรรมเป็นของตน

กัมมะทายาทา, เป็นผู้รับผลของกรรม

กัมมะโยนี, เป็นผู้มีกรรมเป็นกำเนิด

กัมมะพันธู, เป็นผู้มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์

กัมมะปะฏิสะระณา, เป็นผู้มีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย

ยัง กัมมัง กะริสสันติ, จักทำกรรมอันใดไว้

กัลยาณัง วา ปาปะกัง วา, ดีหรือชั่ว

ตัสสะ ทายาทา ภะวิสสันติ. จักเป็นผู้รับผลของกรรมอันนั้น

…………..

พนฺธุ” หมายถึง ญาติพี่น้อง พวกพ้อง เพื่อนฝูง สัตว์โลกเกิดมาย่อมมีญาติพี่น้อง พวกพ้อง เพื่อนฝูงเป็น “พนฺธุ” มากบ้าง น้อยบ้าง ตามสถานะของแต่ละชีวิต บางคนมี “พนฺธุ” มาก บางคนมี “พนฺธุ” น้อย และบางคนอาจจะรู้สึกว่าตนเป็นคนไร้ญาติขาดพี่น้อง คือไม่มีใครมาเป็น “พนฺธุ” อยู่ในสังคมอย่างหัวเดียวกระเทียมลีบ

พระพุทธศาสนาสอนว่า ไม่ว่าใครจะมี “พนฺธุ” มากน้อย หรือไม่มี “พนฺธุ” เลยก็ตาม แต่ทุกคนมี “กรรม” คือชั่วดีที่ทำไว้นั่นแหละเป็น “พนฺธุ” ของตน

ชั่วดีที่แต่ละคนทำไว้จะทำหน้าที่เสมือนเป็นญาติพี่น้อง พวกพ้อง เพื่อนฝูงของแต่ละคน จึงไม่ต้องกลัวเลยว่าเราจะอยู่อย่างโดดเดี่ยวเดียวดายไร้ญาติขาดพี่น้อง เพราะถึงจะไม่มีใครเลย เราก็ยังมี “กมฺม” เป็น “พนฺธุ” ประจำตัวเราอยู่นั่นเอง

ดังนี้ คือความหมายของ “กมฺมพนฺธุ” หรือ “กรรมพันธุ์” ในทางธรรม

หาความรู้จากพจนานุกรม :

กมฺมพนฺธุ” ใช้ในภาษาไทยเป็น “กรรมพันธุ์

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 บอกไว้ว่า –

กรรมพันธุ์ : (คำวิเศษณ์) มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ คือ เกี่ยวเนื่องด้วยกรรมของตนเอง. (คำนาม) ลักษณะ นิสัย ตลอดจนโรคหรือความวิกลวิการบางอย่างที่ลูกหลานสืบมาจากบรรพบุรุษ ปู่ย่าตายาย หรือพ่อแม่, พันธุกรรม ก็ว่า. (ส. กรฺม + พนฺธุ; ป. กมฺมพนฺธุ = “มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์” เกี่ยวเนื่องด้วยกรรมของตนเอง).”

ต่อมา พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ปรับแก้คำนิยามใหม่ บอกไว้ว่า –

กรรมพันธุ์ : (คำนาม) ลักษณะ นิสัย ตลอดจนโรคหรือความวิกลวิการบางอย่างที่ลูกหลานสืบมาจากบรรพบุรุษ ปู่ย่าตายาย หรือพ่อแม่, พันธุกรรม ก็ว่า; มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ คือ เกี่ยวเนื่องด้วยกรรมของตนเอง. (ส. กรฺม + พนฺธุ; ป. กมฺม + พนฺธุ).”

โปรดสังเกตว่า —

(1) พจนานุกรมฯ ฉบับ 2542 บอกว่า “กรรมพันธุ์” เป็นคำวิเศษณ์และคำนาม แต่พจนานุกรมฯ ฉบับ 2554 บอกว่า “กรรมพันธุ์” เป็นคำนามอย่างเดียว

(2) พจนานุกรมฯ ฉบับ 2542 ให้ความหมายที่เป็นคำวิเศษณ์ก่อน คือความหมายที่ว่า “มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ คือ เกี่ยวเนื่องด้วยกรรมของตนเอง” ส่วนความหมายที่เป็นคำนาม คือ “… ลักษณะ นิสัย ตลอดจนโรคหรือความวิกลวิการ …” บอกไว้ทีหลัง

แต่พจนานุกรมฯ ฉบับ 2554 ให้ความหมายว่า “… ลักษณะ นิสัย ตลอดจนโรคหรือความวิกลวิการ …” ขึ้นก่อน ส่วนความหมายที่ว่า “… มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ …” ยกไปไว้ทีหลัง

ความจริง เรื่องแบบนี้จะว่าเป็นเรื่องเล็กน้อยปลีกย่อยก็ได้ แต่ในเมื่อพจนานุกรมฯ เป็นหนังสืออ้างอิงระดับชาติ ทุกอย่างย่อมไม่ใช่เรื่องเล็กน้อย

การที่ชวนให้สังเกตก็คือชวนให้ศึกษาหาความรู้ หรือหาเหตุผลว่า ผู้จัดทำพจนานุกรมฯ คิดอย่างไรหรือมีเหตุผลอย่างไรจึงปรับแก้ตรงนั้นตรงนี้ให้เป็นอย่างนั้นอย่างนี้

ถ้ารู้เหตุผล ก็เกิดปัญญา

ถ้ายังไม่รู้ ก็ช่วยกันหาความรู้ต่อไป

…………..

ดูก่อนภราดา!

อันชั่วดีที่ทำจำไว้เถิด

เป็นเพื่อนเกิดเพื่อนตายไม่หายไปไหน

ไม่มีใครหัวเดียวเปลี่ยวหัวใจ

กรรมของใครนั่นแหละเหมือนเป็นเพื่อนตัว

#บาลีวันละคำ (2,549)

5-6-62

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย