สามัญญะ > สามัญ (บาลีวันละคำ 2,548)
สามัญญะ > สามัญ
ไม่ใช่สามัญอย่างที่คิด
ในภาษาไทย เมื่อพูดว่า “สามัญ” เราก็มักจะเข้าใจกันในความหมายที่ว่า ปรกติ, ธรรมดา, ทั่วไป, เท่ากัน เช่น ชนชั้นสามัญ คนสามัญ ซึ่งความหมายนี้ตรงกับคำอังกฤษว่า general, generality; equality, conformity
“สามัญ” ตามความหมายนี้ รากศัพท์คำบาลีมาจาก สมาน (สะ-มา-นะ, เสมอกัน, เหมือนกัน, เหมาะสมกัน) + ณฺย ปัจจัย, ลบ ณฺ, ทีฆะ อะ ที่ ส-(มาน) เป็น อา– ด้วยอำนาจ ณฺย ปัจจัย (สมาน > สามาน), แปลง อาน (ที่ –มาน) กับ ย เป็น ญฺญ
: สมาน + ณฺย = สมานณฺย > สมานฺย > สามานฺย > สามญฺญ (สา-มัน-ยะ) แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่เสมอกัน”
อีกนัยหนึ่ง มาจาก สม (สะ-มะ, เสมอกัน, เหมาะสมกัน) + ณฺย ปัจจัย, ทีฆะ อะ ที่ ส-(ม) เป็น อา– ด้วยอำนาจ ณฺย ปัจจัย (สม > สาม), แปลง ณฺย เป็น ญฺญ
: สม + ณฺย = สมณฺย > สามณฺย > สามญฺญ แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่เสมอกัน”
นั่นคือ “สามญฺญ” หรือ “สามัญ” ที่เราเข้าใจกันทั่วไป
แต่ “สามัญ” อีกความหมายหนึ่งที่เราส่วนมากไม่ทราบ นั่นคือ “สามัญ” ที่แปลว่า “ความเป็นสมณะ”
“สามัญ” ในความหมายนี้บาลีก็เป็น “สามญฺญ” (สา-มัน-ยะ) เหมือนกัน แต่รากศัพท์มาจาก สมณ (สะ-มะ-นะ, = นักบวช, นักพรต) + ณฺย ปัจจัย, ลบ ณฺ, ทีฆะ อะ ที่ ส-(มณ) เป็น อา– ด้วยอำนาจ ณฺย ปัจจัย (สมณ > สามณ), แปลง ณ (ที่ สมณ) กับ ย (จาก ณฺย ปัจจัย) เป็น ญฺญ
: สมณ + ณฺย = สมณณฺย > สามณณฺย > สามณฺย > สามญฺญ
“สามญฺญ” ตามรากศัพท์นี้แปลตามศัพท์ว่า “ความเป็นสมณะ” คือ ภาวะแห่งนักบวช, ชีวิตของนักพรต (true Samaṇaship, the life of the recluse)
“สามัญ” ในความหมายนี้ พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“สามัญ– ๑ : (คำนาม) ความเป็นสมณะ เช่น สามัญผล. (ป. สามญฺญ; ส. ศฺรามณฺย).”
ขยายความ :
ในพระไตรปิฎกมีพระสูตรหนึ่งชื่อ “สามัญผลสูตร” (สามญฺญผลสุตฺต) “สามัญผล” ในชื่อพระสูตรนี้ไม่ได้แปลว่า “ผลอย่างสามัญ” หรือผลในระดับธรรมดาสามัญ แต่แปลว่า “ผลแห่งความเป็นสมณะ”
“สามัญผลสูตร” ว่าด้วยผู้ที่เข้ามาบวชในพระพุทธศาสนาเมื่อปฏิบัติธรรมจะได้บรรลุผลอย่างไรบ้าง (ดู: ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค พระไตรปิฎกเล่ม 9 ข้อ 91-140 และดูอรรถกถาของพระสูตรนี้ในคัมภีร์สุมังคลวิลาสินี ภาค 1 หน้า 198-351, พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ชุด 91 เล่ม สามัญผลสูตรอยู่ในเล่มที่ 11 หน้า 288-496)
พระไตรปิฎกอีกแห่งหนึ่งแสดงภาษิตว่าด้วย “สามญฺญ” หรือ “สามัญ” คือ “ความเป็นสมณะ” ที่บุคคลปฏิบัติไม่ดีจะเกิดโทษอย่างไร ดังนี้ –
…………..
กุโส ยถา ทุคฺคหิโต
หตฺถเมวานุกนฺตติ
สามญฺญํ ทุปฺปรามฏฺฐํ
นิรยายูปกฑฺฒติ.
(กุโส ยะถา ทุคคะหิโต
หัตถะเมวานุกันตะติ
สามัญญัง ทุปปะรามัฏฐัง
นิระยายูปะกัฑฒะติ)
หญ้าคาที่จับไม่ดี
ย่อมบาดมือนั่นเอง ฉันใด
ความเป็นสมณะที่ปฏิบัติไม่ดี
ย่อมฉุดผู้ปฏิบัติไปลงนรกได้ ฉันนั้น
ที่มา: ตายนสูตร สังยุตนิกาย สคาถวรรค
พระไตรปิฎกเล่ม 15 ข้อ 239
…………..
ดูก่อนภราดา!
: เป็นพระทำสกปรก
: ไปนรกง่ายกว่าคนสามัญ
#บาลีวันละคำ (2,548)
4-6-62