อัฏฐารส (บาลีวันละคำ 2,550)
อัฏฐารส
นาม “พระอัฏฐารส” มีที่มาจากไหน
อ่านว่า อัด-ถา-รด
“อัฏฐารส” เขียนแบบบาลีเป็น “อฏฺฐารส” (มีจุดใต้ ฏ ปฏัก) อ่านว่า อัด-ถา-ระ-สะ
“อฏฺฐารส” เป็นศัพท์สังขยา (คำบอกจำนวน) แปลว่า สิบแปด (จำนวน 18)
ตามรูปศัพท์ “อฏฺฐารส” ประกอบขึ้นจาก อฏฺฐ (แปด) + ทส (สิบ) แทนที่จะเป็น “อฏฺฐทส” (อัด-ถะ-ทะ-สะ) ก็กลายรูปตามธรรมชาติของการเปล่งเสียงเป็น “อฏฺฐารส” (อัด-ถา-ระ-สะ) แต่ก็มีบางแห่งใช้เป็น “อฏฺฐาทส” (อัด-ถา-ทะ-สะ)
“อัฏฐารส” ที่รู้จักกันทั่วไปก็คือพระพุทธปฏิมาที่เรียกกันว่า “พระอัฏฐารส” และเข้าใจกันว่าที่ได้นามเช่นนั้นเพราะมีความสูง 18 ศอก
ตัวเลข “18 ศอก” นี้น่าจะมาจากข้อความตอนหนึ่งในคัมภีร์มธุรัตถวิลาสินี อรรถกถาแห่งคัมภีร์พุทธวงศ์ ที่อธิบายประวัติของพระพุทธเจ้าที่เคยอุบัติขึ้นแล้วในอดีตจนถึงพระองค์ปัจจุบัน ในหน้า 539-540 บรรยายถึงส่วนสูงแห่งพระวรกายของพระพุทธเจ้าแต่ละพระองค์ เฉพาะพระองค์ปัจจุบัน (พระศากยมุนีโคดม) คัมภีร์กล่าวไว้ว่า —
อมฺหากํ ภควา อฏฺฐารสหตฺถุพฺเพโธ อโหสิ.
แปลว่า “พระผู้มีพระภาคของชาวเราสูงสิบแปดศอก”
“อฏฺฐารสหตฺถุพฺเพโธ” ประกอบด้วยคำว่า อฏฺฐารส + หตฺถ + อุพฺเพธ
“อฏฺฐารส” แปลว่า สิบแปด (18)
“หตฺถ” ในที่นี้เป็นมาตราวัดความยาว แปลกันว่า ศอก (a cubit)
“อุพฺเพธ” แปลว่า ส่วนสูง
“อฏฺฐารสหตฺถุพฺเพโธ” แปลว่า “สูงสิบแปดศอก”
ผู้รู้บางท่านตั้งข้อสังเกตว่า มนุษย์ในชมพูทวีปในสมัยเมื่อ 2,600 ปี สูง 18 ศอก น่าจะเกินความเป็นจริง พระพุทธเจ้าน่าจะสูงประมาณคนทั่วไป โดยนัยนี้คำว่า “หตฺถ” น่าจะไม่ใช่ความยาว “หนึ่งศอก” (a cubit) ตามที่แปลกัน
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “หตฺถ” ในความหมายที่เป็นมาตราวัดความยาวว่า the hand as measure, a cubit (มือในฐานเป็นเครื่องวัด, ระยะหนึ่งศอก)
แต่ในที่แห่งหนึ่งซึ่งบรรยายความสูงของรั้ว (หรือกำแพง) ใช้คำว่า “อฏฺฐารสหตฺถุพฺเพธ” เช่นเดียวกัน พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปลว่า 18 hands high
พจนานุกรมบาลี-ไทย-อังกฤษ ฉบับภูมิพโลภิกขุ แปล 18 hands high เป็นไทยว่า “สูง 18 ฝ่ามือ”
ถ้า “หตฺถ” แปลว่า “ฝ่ามือ” และฝ่ามือหนึ่งเมื่อตั้งกับพื้นสูงประมาณ 10 เซ็นต์ 18 ฝ่ามือก็เท่ากับ 180 เซ็นต์ น่าจะเป็นความสูงของผู้ชายชาวชมพูทวีปที่งามได้มาตรฐาน
ถ้า 2 ศอกเท่ากับ 1 เมตรตามวิธีเทียบมาตรา 18 ศอกก็เท่ากับ 9 เมตร ลองนึกดูว่า พระพุทธเจ้าของเราสูง 9 เมตร กับสูง 180 เซ็นต์ ตามมาตรฐานความสูงของมนุษย์ในยุคนี้ความสูงขนาดไหนน่าจะเป็นไปได้มากกว่ากัน
“อัฏฐารส” คือจำนวน “สิบแปด” ที่เกี่ยวกับพระพุทธเจ้าอีกประการหนึ่งที่คนทั่วไปไม่ค่อยรู้ แต่เป็นเรื่องที่น่าสนใจ ก็คือ “พุทธธรรม 18” คำบาลีว่า “อัฏฐารสพุทธธรรม” แปลว่า “ธรรมคือคุณสมบัติของพระพุทธเจ้า 18 ประการ”
นาม “พระอัฏฐารส” อาจมาจาก “อัฏฐารสพุทธธรรม” นี้ก็เป็นได้
คัมภีร์สุมังคลวิลาสินี อรรถกถาทีฆนิกาย ภาค 3 หน้า 297 ตอนอธิบายสังคีติสูตร กล่าวถึง “อัฏฐารสพุทธธรรม” ไว้ดังนี้ –
…………..
อฏฺฐารส พุทฺธธมฺมา นาม
อันว่าพุทธธรรม (คือคุณสมบัติของพระพุทธเจ้า) 18 ประการ มีดังนี้ –
(1) นตฺถิ ตถาคตสฺส กายทุจฺจริตํ.
ตถาคตไม่มีกายทุจริต
(2) นตฺถิ วจีทุจฺจริตํ.
ตถาคตไม่มีวจีทุจริต
(3) นตฺถิ มโนทุจฺจริตํ.
ตถาคตไม่มีมโนทุจริต
(4) อตีเต พุทฺธสฺส อปฺปฏิหตํ ญาณํ.
พระพุทธญาณไม่มีอะไรติดขัดในอดีต
(ทรงระลึกความเป็นไปในอดีตได้เหมือนกำลังเกิดอยู่ตรงหน้า)
(5) อนาคเต พุทฺธสฺส อปฺปฏิหตํ ญาณํ.
พระพุทธญาณไม่มีอะไรติดขัดในอนาคต
(ทรงหยั่งรู้ความเป็นไปในอนาคตได้เหมือนกำลังเกิดอยู่ตรงหน้า)
(6) ปจฺจุปฺปนฺเน พุทฺธสฺส อปฺปฏิหตํ ญาณํ.
พระพุทธญาณไม่มีอะไรติดขัดในปัจจุบัน
(ทรงรู้แจ้งแทงตลอดความเป็นไปทั้งปวงในปัจจุบัน)
(7) สพฺพํ กายกมฺมํ พุทฺธสฺส ภควโต ญาณานุปริวตฺติ.
กายกรรมทั้งปวงของพระผู้มีพระภาคเจ้าคล้อยตามพระญาณ
(ไม่ว่าจะทำกิจใด ทรงกำหนดรู้กิจนั้นตลอดแล้วจึงทำ)
(8) สพฺพํ วจีกมฺมํ พุทฺธสฺส ภควโต ญาณานุปริวตฺติ.
วจีกรรมทั้งปวงของพระผู้มีพระภาคเจ้าคล้อยตามพระญาณ
(ไม่ว่าจะตรัสเรื่องใด ทรงกำหนดรู้เรื่องนั้นตลอดแล้วจึงตรัส)
(9) สพฺพํ มโนกมฺมํ พุทฺธสฺส ภควโต ญาณานุปริวตฺติ.
มโนกรรมทั้งปวงของพระผู้มีพระภาคเจ้าคล้อยตามพระญาณ
(ไม่ว่าจะคิดเรื่องใด ทรงกำหนดรู้เรื่องที่ทรงคิดนั้นได้ตลอด)
(10) นตฺถิ ฉนฺทสฺส หานิ.
ไม่มีความเสื่อมฉันทะ
(มุ่งบำเพ็ญประโยชน์ดีงามแก่เวไนยสัตว์เต็มที่เสมอ ไม่เบื่อหน่าย)
(11) นตฺถิ วิริยสฺส หานิ.
ไม่มีความเสื่อมวิริยะ
(ความเด็ดเดี่ยวมุ่งมั่นที่จะปฏิบัติพุทธกิจ ไม่มีถดถอย)
(12) นตฺถิ สติยา หานิ.
ไม่มีความเสื่อมสติ
(ไม่หลงลืมฟั่นเฟือน นึกไม่ออกบอกไม่ถูกเพราะลืม)
(13) นตฺถิ ทวา.
ไม่มีการเล่น
(เช่นพูดเล่นสนุก ทำอะไรสนุกเล่น)
(14) นตฺถิ รวา.
ไม่มีการพูดพลั้ง
(เช่นพูดพลั้งพระโอษฐ์ ต้องกลับพูดใหม่)
(15) นตฺถิ ขลิตํ.
ไม่มีการทำพลาด
(ไม่มีกิจใดที่ทรงทำผิดพลาด ต้องกลับทำใหม่)
(16) นตฺถิ สหสา.
ไม่มีความผลุนผลัน
(ไม่ทำอะไรโดยตัดสินใจฉับพลันไม่ทันคิด)
(17) นตฺถิ อพฺยาวโต มโน.
ไม่มีพระทัยที่ไม่ขวนขวาย
(ความรู้สึกเกียจคร้านไม่อยากทำอะไร ไม่มีแก่พระพุทธเจ้า)
(18) นตฺถิ อกุสลํ จิตฺตํ.
ไม่มีอกุศลจิต
(ความในวงเล็บเป็นเพียงคำขยายความพอให้เข้าใจง่ายขึ้น ข้อที่อาจเข้าใจชัดแล้วไม่ได้ขยายความไว้)
สรุปว่า นาม “พระอัฏฐารส” อาจมีที่มาจากคำว่า –
(๑) “อฏฺฐารสหตฺถุพฺเพธ” = ผู้มีความสูงสิบแปดฝ่ามือ (?) หรือ –
(๒) “อฏฺฐารสพุทฺธธมฺม” = ผู้มีคุณสมบัติสิบแปดประการ
ขอฝากท่านผู้รู้โปรดพิจารณาโดยแยบคายเทอญ
…………..
ดูก่อนภราดา!
: คนเราเป็นพระพุทธเจ้ากันไม่ได้ทุกรูปทุกนาม
: แต่ไม่มีข้อห้ามไม่ให้เราศึกษาพุทธธรรม
#บาลีวันละคำ (2,550)
6-6-62