บาลีวันละคำ

สูปะ-พยัญชนะ (บาลีวันละคำ 1,533)

สูปะ-พยัญชนะ

จากบาลี มาถึง “ข้าวแกง” ของไทย

(๑) “สูปะ

บาลีเขียน “สูป” อ่านว่า สู-ปะ รากศัพท์มาจาก –

1) สุ (คำอุปสรรค = ดี, งาม, ง่าย) + ปา (ธาตุ = ดื่ม) + ปัจจัย, “ลบสระหน้า” คือ ปา + > + , ทีฆะ อุ ที่ สุ เป็น อู (สุ > สู)

: สุ + ปา = สุปา > สุป + = สุป > สูป แปลตามศัพท์ว่า “อาหารอันเขาดื่มเพื่อความสะดวก

2) สุ (ธาตุ = ไหล, หลั่ง) + ปัจจัย, ทีฆะ อุ ที่ สุ เป็น อู (สุ > สู)

: สุ + = สุป > สูป แปลตามศัพท์ว่า “อาหารที่หลั่งความพอใจให้

สูป” หมายถึง แกง, น้ำแกง ตรงกับคำฝรั่งว่า soup นั่นเอง

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “สูป” ว่า broth, soup, curry (น้ำเนื้อต้ม, ซุป, แกง)

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –

(สะกดตามต้นฉบับ)

สูป : (คำนาม) อุปสกร, เครื่องชูรสอาหาร; อาหารต้ม, ‘ต้มหรือแกง’ ก็เรียก; สูปการ; ภาชนะ; ศร; sauce or condiment; soup or broth; a cook; a vessel; an arrow.”

(๒) “พยัญชนะ

ภาษาไทยอ่านว่า พะ-ยัน-ชะ-นะ บาลีเป็น “พฺยญฺชน

โปรดสังเกตว่ามีจุดใต้ พฺ บังคับให้ พฺ กับ ต้องอ่านควบกัน

ออกเสียงว่า เพียน-ชะ-นะ จะได้เสียงที่ตรง

อีกรูปหนึ่งเป็น “วฺยญฺชน” (เวียน-ชะ-นะ) วฺ แปลงเป็น พฺ เป็นหลักเกณฑ์ที่พบได้เสมอ

พฺยญฺชน” รากศัพท์มาจาก วิ (คำอุปสรรค = วิเศษ, แจ้ง, ต่าง) + อญฺช (ธาตุ = ไป, ถึง) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ), แปลง อิ ที่ วิ เป็น , เป็น , (วิ > วฺย > พฺย)

: วิ > วฺย + อญฺช = วฺยญฺช + ยุ > อน = วฺยญฺชน > พฺยญฺชน แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งเป็นเครื่องให้ถึงภัตโดยพิเศษ” (คือทำให้รู้รสชาติอาหาร หรือช่วยให้กินอาหารได้อย่างออกรส) หมายถึง เครื่องปรุง, แกง, กับข้าว (condiment, curry)

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –

(สะกดตามต้นฉบับ)

วฺยญฺชน : (คำนาม) ‘วยัญชน, พยัญชนะ,’ เครื่องหมาย; ลักษณะ, ลิงค์หรือเครื่องหมายบอกลักษณะ; เครา; ส่วน- ภาค- หรือองค์ที่ลับ; อุปสกร, เครื่องชูรสอาหาร (ได้แก่-น้ำสอซ, น้ำปลา, น้ำพริก, ฯลฯ); อักษรตัวหนึ่งในหมวดพยัญชนะ (อันมิใช่สระ); สาลังการพจน์หรืออุปมาโวหาร; บริภาษณ์; a token; an insignia; the beard; A privy part; sauce or condiment; a consonant; a figurative expression; an irony, a sarcasm.”

พฺยญฺชน” ที่หมายถึง “ของกิน” มักมาคู่กับ “สูป” = สูปพฺยญฺชน

ตามความเข้าใจทั่วไป สูป กับ พฺยญฺชน เมื่อพูดควบคู่กัน จะแยกความหมายกันชัดเจน คือ :

สูป” หมายถึง กับข้าวชนิดที่เป็นน้ำ ( = น้ำๆ)

พฺยญฺชน” หมายถึง กับข้าวชนิดที่ไม่เป็นน้ำ ( = แห้งๆ)

ในสำนวนบาลี เมื่อพูดถึง “สูปพฺยญฺชน” มักจะกล่าวถึง “โอทน” (โอ-ทะ-นะ) = ข้าวสุก ควบคู่กันไปด้วยเสมอ เช่น –

(1) โอทโน  อเนกสูโป  อเนกวฺยญฺชโน = ข้าวสุกอันมีแกงและกับเหลือเฟือ

(2) สูปพฺยญฺชนสมฺปนฺนํ  สาลีนํ  โอทนํ (คำบูชาข้าวพระพุทธ) = ข้าวสุกอันประณีต สมบูรณ์ด้วยแกงและกับ

อภิปราย :

สูปพฺยญฺชน > สูปะ-พยัญชนะ ในภาษาบาลีมีความหมายอย่างเดียวกับ “กับข้าว” ในภาษาไทยนั่นเอง (โปรดสังเกตคำแปลของพจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “สูป” ว่า curry และก็แปล “พฺยญฺชน” ว่า curry ด้วยเช่นกัน)

สิ่งที่เรียกว่า “กับข้าว” นั้นคำไทยเรียกรวมว่า “แกง” พยานในข้อนี้คือคำที่พูดว่า

– “รู้คุณข้าวแดงแกงร้อนของท่าน” ถ้าแยกคำ “ข้าวแดง” ก็คือ ข้าว “แกงร้อน” ก็คือกับข้าว “ข้าวแดงแกงร้อน” จึงหมายถึง อาหารการกินที่ท่านเลี้ยงดูมา

– “หุงข้าวต้มแกง” ถ้าแยกคำ “หุงข้าว” ก็คือหุงข้าว “ต้มแกง” ก็คือทำกับข้าว “หุงข้าวต้มแกง” จึงหมายถึงทำอาหารรับประทาน แม้ตำน้ำพริก ทอดไข่ ทอดปลา ก็เรียกว่า “หุงข้าวต้มแกง” ไม่ได้จำกัดว่าต้องทำแกงส้ม แกงเผ็ด ต้มจืด จึงเรียกว่า “ต้มแกง

– “ข้าวหม้อแกงหม้อ” หมายถึงขอความร่วมมือบ้านต่างๆ ทำอาหารมาเลี้ยงพระเลี้ยงคนในเวลามีงาน “แกง” ในคำนี้ก็หมายถึงกับข้าว

คำไทยเราเรียกร้านอาหารที่ขายข้าวและกับข้าวเป็นหลักว่า “ร้านข้าวแกง” เรียกการทำอาชีพเช่นนั้นว่า “ขายข้าวแกง

แต่เด็กไทยปัจจุบัน แทนที่จะศึกษาภูมิหลังหรือรากเหง้าของคำให้เข้าใจ กลับเอาความเข้าใจแคบๆ ของตัวเองเป็นหลัก ไปเข้าใจว่า “แกง” ต้องเป็นแกงส้ม แกงเผ็ด แกงคั่ว เป็นต้น จึงจะเรียกว่า “แกง” กับข้าวชนิดอื่นจะเรียกว่า “แกง” ไม่ได้ (แม้แต่พจนานุกรมก็จำกัดความหมายคำว่า “แกง” แคบตามไปด้วย!)

เพราะไม่รู้ภูมิหลังของคำ จึงมีผู้เรียก “ข้าวแกง” เป็น “ข้าวราดแกง” โดยจับเอากิริยาที่ผู้ขายตักข้าวใส่จานแล้วตัก “แกง” ราดลงไป เป็นการทำลายคำเก่าโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ มิหนำซ้ำยังถกเถียงกันเตลิดเปิดเปิงต่อไปอีกว่า ควรจะเรียกว่า “ข้าวราดแกง” หรือว่า “แกงราดข้าว

ทั้งนี้เกิดจากการไม่รู้ว่า “ข้าวแกง” คืออะไรนั่นเอง

คำเทียบอีกคำหนึ่งคือคำว่า “กินข้าวกินปลา” ภาษาไทยเราหมายถึง “กินอาหาร” ทั้งนี้เพราะข้าวกับปลาเป็นอาหารหลักของไทยมาแต่กาลก่อน ดังคำในศิลาจารึกที่คุ้นกันดีว่า “ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว

ทุกวันนี้ เมื่อพูดถึงการรับประทานอาหารก็ยังมีคนนิยมพูดว่า “กินข้าวกินปลา” ไม่ว่าอาหารมื้อนั้นจะมีข้าวกับปลาหรือไม่ก็ตาม

กินข้าวกินปลา” พูดสั้นลงเป็น “กินข้าว” ก็เป็นที่เข้าใจกันดีว่าหมายถึงรับประทานอาหาร ดังคำว่า “เลี้ยงข้าวสักมื้อหนึ่ง” ก็หมายถึงเป็นเจ้าภาพเลี้ยงอาหารมื้อหนึ่ง

แค่คนรุ่นใหม่ไม่เข้าใจภูมิหลังของคำ คิดแคบๆ ว่า “กินข้าว” ต้องหมายถึง กิน rice ถ้าอาหารที่กินไม่ใช่ rice จะเรียกว่า “กินข้าว” ไม่ได้!!

…………..

: ถือศีล เหมือนกินข้าวเปล่า

: ปฏิบัติธรรมทุกค่ำเช้า เหมือนมีกับข้าวอันโอชา

15-8-59

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย