หริตติณชาติ (บาลีวันละคำ 2,591)
หริตติณชาติ
“หญ้า ไม่ใช่ “ข้าวกล้า”
อ่านว่า หะ-ริ-ตะ-ติน-นะ-ชาด
ประกอบด้วยคำว่า หริต + ติณชาติ
(๑) “หริต”
บาลีอ่านว่า หะ-ริ-ตะ รากศัพท์มาจาก หรฺ (ธาตุ = ไป, นำไป) + อิต ปัจจัย
: หรฺ + อิต = หริต (คุณศัพท์) แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่ดึงใจของชาวโลกไป” หมายถึง สีเขียวใบไม้, ผัก, หญ้า, ของสดเขียว
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “หริต” ไว้ดังนี้ –
(1) green, pale- green, yellowish (เขียว, เขียวอ่อน, ค่อนข้างเหลือง)
(2) green, fresh (เขียว, สด)
(3) gold (ในกรณีเป็นอิตถีลิงค์ = หริตา) (ทอง)
(๒) “ติณชาติ”
บาลีอ่านว่า ติ-นะ-ชา-ติ ประกอบด้วยคำว่า ติณ + ชาติ
(ก) “ติณ” บาลีอ่านว่า ติ-นะ รากศัพท์มาจาก ติณฺ (ธาตุ = กิน) + อ ปัจจัย
: ติณฺ + อ = ติณ (นปุงสกลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งอันสัตว์กิน” หมายถึง หญ้า, ใบไม้, วัชพืช; ฟาง; แฝก; หญ้าแห้ง, ใบไม้หรือใบหญ้าที่ทิ้งรก (grass, herb; weed; straw; thatch; hay, litter)
ในภาษาไทย “ติณ” คำเดียวอ่านว่า ติน ถ้ามีคำอื่นมาสมาสข้างท้าย อ่านว่า ติ-นะ- หรือ ติน-นะ- ก็ได้ (ตามพจนานุกรมฯ)
(ข) “ชาติ” บาลีอ่านว่า ชา-ติ แปลตามศัพท์ว่า “การเกิด” ในที่นี้มีฐานะเป็น “ศัพท์สกรรถ” (สับ-สะ-กัด) คือต่อท้ายคำ แต่คำนั้นยังมีความหมายเท่าเดิม
ติณ + ชาติ = ติณชาติ แปลว่า “หญ้า” เท่ากับ “ติณ” คำเดียวคำเดิม
พจนานุกรมบาลี-ไทย-อังกฤษ ฉบับภูมิพโลภิกขุ มีศัพท์ว่า “ติณชาติ” (ติ-นะ-ชา-ติ) แปลทับศัพท์ว่า ติณชาติ ภาษาอังกฤษว่า grass-creeper
ในภาษาไทย “ติณชาติ” อ่านว่า ติน-นะ-ชาด พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“ติณชาติ : (คำนาม) หญ้า, พืชจำพวกหญ้า.”
หริต + ติณชาติ = หริตติณชาติ บาลีอ่านว่า หะ-ริ-ตะ-ติ-นะ-ชา-ติ แปลว่า “หญ้าที่เขียวสด”
อภิปราย :
ในการพูดถึงประวัติการเข้าพรรษา มีข้อความหลายกระแสที่เล่าว่า ในสมัยพุทธกาล พระภิกษุสงฆ์ในพระพุทธศาสนาจาริกไปในที่ต่างๆ ไม่มีเวลาหยุดพัก ครั้นถึงฤดูฝนก็เที่ยวเหยียบย่ำข้าวกล้าของชาวบ้านที่ปลูกไว้ในนา ชาวบ้านพากันตำหนิติเตียน พระพุทธองค์จึงทรงมีพุทธบัญญัติให้ภิกษุจำพรรษาเมื่อถึงฤดูฝน เป็นวินัยนิยมสืบมาจนถึงทุกวันนี้
ข้อความตรงที่ว่า “เที่ยวเหยียบย่ำข้าวกล้า” นั้น เราได้ฟังกันมานานแล้วก็เชื่อตามนั้น พร้อมกับนึกตำหนิว่า พระภิกษุพากันเหยียบย่ำข้าวกล้าของชาวบ้านเหมือนคนที่ไม่รู้ประสาอะไรเลย
พระวินัยปิฎก มหาวรรค ภาค 1 ตอนวัสสูปนายิกขันธกะ พระไตรปิฎกเล่ม 4 ข้อ 205 ข้อความที่กล่าวถึงเรื่องนี้ท่านใช้คำว่า
“หริตานิ ติณานิ สมฺมทฺทนฺตา”
(หะริตานิ ติณานิ สัมมัททันตา)
แปลว่า “พากันเหยียบย่ำติณชาติอันเขียวสด”
“หริตานิ ติณานิ” แปลว่า “ติณชาติอันเขียวสด”
“ติณานิ” ศัพท์เดิมคือ “ติณ” แปลว่า “หญ้า” ไม่ได้แปลว่า “ข้าวกล้า”
ศัพท์ที่แปลว่า “ข้าวกล้า” คือ “สสฺส” (สัด-สะ) แจกวิภัตติเหมือน “ติณานิ” ก็จะได้รูปเป็น “สสฺสานิ” (สัด-สา-นิ)
ถ้าจะหมายถึง “พากันเหยียบย่ำข้าวกล้าอันเขียวสด” ข้อความภาษาบาลีต้องเป็น “หริตานิ สสฺสานิ สมฺมทฺทนฺตา”
สรุปว่า ข้อความในพระไตรปิฎกบอกว่า “หริตานิ ติณานิ สมฺมทฺทนฺตา”
แปลว่า “พากันเหยียบย่ำติณชาติอันเขียวสด”
ไม่ใช่ “พากันเหยียบย่ำข้าวกล้าอันเขียวสด”
และ “ติณานิ” หรือ “ติณชาติ” ในที่นี้ก็ไม่ได้หมายถึง “ข้าวกล้า” แต่หมายถึง “หญ้า” ทั่วไป
เรื่องราวที่เล่ากันมาว่า-ภิกษุไปเดินเหยียบย่ำข้าวกล้าของชาวบ้าน เป็นเหตุให้พระพุทธองค์ทรงบัญญัติให้จำพรรษา-จึงผิดพลาดคลาดเคลื่อน
พระไตรปิฎกบอกว่า “เหยียบย่ำหญ้า”
ไม่ใช่ “เหยียบย่ำข้าวกล้า”
หริตานิ ติณานิ = หริตติณชาติ
แปลว่า – หญ้าอันเขียวสด
ไม่ใช่ – ข้าวกล้าอันเขียวสด
…………..
ดูก่อนภราดา!
: เพราะไม่รู้จึงเพี้ยน
เพราะไม่เรียนจึงพลาด
: พระธรรมวินัยจะวินาศ
ก็เพราะลัทธิเชื่อตามกันมา
#บาลีวันละคำ (2,591)
17-7-62