บาลีวันละคำ

สังกัป (บาลีวันละคำ 2,245)

สังกัป

อ่านว่า สัง-กับ

สังกัป” บาลีเป็น “สงฺกปฺป” อ่านว่า สัง-กับ-ปะ รากศัพท์มาจาก สํ (คำอุปสรรค = พร้อมกัน, ร่วมกัน) + กปฺปฺ (ธาตุ = ตรึก) + ปัจจัย, แปลงนิคหิตที่ สํ เป็น งฺ (สํ > สงฺ)

: สํ > สงฺ + กปฺป = สงฺกปฺปฺ + = สงฺกปฺปฺ (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า (1) “ธรรมเป็นเหตุดำริ” (2) “ธรรมเครื่องดำริ” หมายถึง ความคิด, ความจำนง, ความประสงค์, ความดำริ (thought, intention, purpose, plan)

สงฺกปฺปฺ” ในภาษาไทยใช้เป็น “สังกัปปะ

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

สังกัปปะ : (คำนาม) ความดําริ. (ป.).”

คำที่สะกดเป็น “สังกัป” ยังไม่มีเก็บไว้ในพจนานุกรมฯ

อภิปราย :

พจนานุกรมบางฉบับบอกว่า “สังกัป” เป็นคำที่บัญญัติเทียบคำอังกฤษว่า concept

ศัพท์บัญญัติของราชบัณฑิตยสถานมีคำว่า concept บัญญัติเป็นคำไทยว่า แนวคิด, แนวความคิด, มโนทัศน์, มโนภาพ

พจนานุกรมบางฉบับแปล concept ว่า ความคิดรวบยอด, มโนทัศน์, มโนมติ, สังกัป, แนวคิด

พจนานุกรม สอ เสถบุตร แปล concept ว่า ความคิด, สิ่งที่คิดขึ้น

พจนานุกรมอังกฤษ-บาลี แปล concept เป็นบาลีดังนี้ –

(1) saṅkappa สงฺกปฺป (สัง-กับ-ปะ) = ความดำริ, ความนึกคิด

(2) mati มติ (มะ-ติ) = ความคิด, ความรู้, ความเห็น

ขยายความ :

สังกัป” เป็นองค์ธรรมที่สำคัญอย่างหนึ่งในคำสอนทางพระพุทธศาสนา มี 2 อย่าง คือ สัมมาสังกัปปะ (Right Thought สังกัปถูก) และ มิจฉาสังกัปปะ (Wrong Thought สังกัปผิด)

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “สมฺมาสงฺกปฺปฺ” ว่า right thoughts or intentions (การดำริหรือความตั้งใจชอบ)

พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ไทย-อังกฤษ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต แปล “สัมมาสังกัปปะ” เป็นอังกฤษ ดังนี้ –

Sammāsaŋkappa : Right Thought; Right Mental Attitude; Right Motives; Right Aspiration.

ลักษณะของ “สังกัปถูก” (สัมมาสังกัปปะ – Right Thought) ท่านแสดงไว้ดังนี้ –

1. เนกขัมมสังกัป = ความตรึกปลอดจากกาม, ความนึกคิดในทางเสียสละ ไม่ติดในการปรนปรือสนองความอยากของตน (thought of renunciation; thought free from selfish desire)

2. อพยาบาทสังกัป = ความตรึกปลอดจากพยาบาท, ความนึกคิดที่ประกอบด้วยเมตตา ไม่ขัดเคืองหรือเพ่งมองในแง่ร้าย (thought free from hatred)

3. อวิหิงสาสังกัป = ความตรึกปลอดจากการเบียดเบียน, ความนึกคิดที่ประกอบด้วยกรุณาไม่คิดร้ายหรือมุ่งทำลาย (thought of non-violence; thought free from cruelty)

ส่วน “สังกัปผิด” (มิจฉาสังกัปปะ – Wrong Thought) มีลักษณะตรงกันข้าม

…………..

ดูก่อนภราดา!

: สังคมวิปริต

: เพราะเห็นการประพฤติผิดเป็นเรื่องธรรมดา

#บาลีวันละคำ (2,245)

5-8-61

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย