สมฺภาร (บาลีวันละคำ 403)
สมฺภาร
อ่านว่า สำ-พา-ระ
“สมฺภาร” (สํ + ภาร) แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งหรือผู้ที่ช่วยให้ขับเคลื่อนไปได้” “สิ่งที่นำไปด้วยกัน” “สิ่งหรือผู้ที่จะพึงดูแลไปด้วยกัน”
“สมฺภาร” ในภาษาบาลี ใช้ในความหมายว่า การนำมารวมกัน, การสะสม, การตระเตรียม (เพื่อนำไปสู่ผลที่ต้องการ), การผลิต, วัตถุ, ของใช้, ปัจจัย, ส่วนประกอบ, องค์ประกอบ, การเกื้อกูล, การเลี้ยงดู
ในภาษาไทย ใช้เป็น 2 คำ คือ
1 “สัมภาระ” (ออกเสียงเท่าคำเดิมในบาลี) ใช้ในความหมายว่า สิ่งของต่าง ๆ เช่น เครื่องมือเครื่องใช้และเสบียงซึ่งสะสมรวบรวมหรือจัดเตรียมไว้เพื่อเดินทางไปทำกิจต่าง ๆ เช่น เตรียมสัมภาระสำหรับไปต่างจังหวัด (ตรงกับความหมายที่ว่า “สิ่งที่ช่วยให้ขับเคลื่อนไปได้” หรือ “สิ่งที่นำไปด้วยกัน”)
2 “สมภาร” อ่านว่า สม-พาน ใช้ในความหมายว่า พระที่เป็นเจ้าอาวาส คือหัวหน้าสงฆ์ในวัด มีอำนาจและหน้าที่ปกครองดูแลอำนวยกิจการทุกอย่างเกี่ยวกับวัด (ตรงกับความหมายที่ว่า “ผู้ที่ช่วยให้ขับเคลื่อนไปได้”)
ผู้ที่ทราบซึ้งและซาบซึ้งกับตำแหน่ง “สมภาร” มักกล่าวว่า “สมภาร” ก็คือ “ศูนย์รวมแห่งการรับภาระที่หนักหน่วง” หลายท่านจึงพยายามที่จะหลีกเลี่ยงไม่รับตำแหน่ง
แต่ในภาษาบาลี คำที่หมายถึง “สมภาร” ในภาษาไทย ไม่ได้ใช้ศัพท์ว่า “สมฺภาร” หากแต่ใช้คำว่า “วิหาราธิปติ – ผู้ยิ่งใหญ่ในวัด”, “อสฺสมสามี – ผู้เป็นเจ้าสำนัก” “อาวาสิก – ผู้ครองวัด” อาจเพราะความหมายเช่นนี้ หลายท่านจึงพยายามที่จะไขว่คว้าหาตำแหน่ง
: ถ้ากิเลสเป็นตัวบงการ
ไม่ว่า “สัมภาระ” หรือ “สมภาร”
ก็ล้วนแต่ “อาน” ไปตามๆ กัน
———————-
(ฉกฉวยด้วยวิสาสะ จากวาทะของคุณครู Charanya Deeboonmee Na Chumphae – ขอบพระคุณครับ)
บาลีวันละคำ (403)
22-6-56
ถาม-ตอบท้ายกระทู้
Up Jaya
ขออาราธนาขยาย “พระราชสมภารเจ้า” “พระราชสมภารบารมี” ขอรับ
ตอบ
ตามคติไทย ถือว่าพระเจ้าแผ่นดินมีหน้าที่นำพาพสกนิกรให้ข้ามพ้นจากความทุกข์ยากเดือดร้อน เข้าถึงความสุขสวัสดีในการครองชีพ เฉกเช่นพระบรมโพธิสัตว์ที่บำเพ็ญ “โพธิสมภาร” เพื่อตรัสรู้อนุตรสัมมาสัมโพธิญาณแล้วและรื้อขนเวไนยนิกรให้ข้ามพ้นจากโอฆกันดาร เข้าสู่อมตนฤพานภูมิ พระสงฆ์ไทยแต่โบราณกาลจึงนิยมที่จะเอ่ยถึงพระเจ้าแผ่นดินโดยใช้คำว่า “โพธิสมภาร” เป็นเนมิตกนาม แต่ตกเติมถ้อยคำให้เป็นแบบไทยๆ เช่น “พระราชสมภารพระองค์” “พระราชสมภารเจ้าผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐ” ตลอดจน “พระราชสมภารบารมี” อันล้วนแต่สื่อความหมายถึงความเป็นผู้สร้างสมอบรมบุญกรรมเยี่ยงพระโพธิสัตว์นั้นแล
Chakkris Uthayophas
สงสัยคำว่าสมดุลย์ครับ จำได้ว่าอาจารย์สอนฟิสิกส์ท่านหนึ่ง ท่านออกเสียงว่า สะมะดุน เช่น แรงเข้าสู่สมดุลย์ ถามท่านว่าทำไมไม่อ่านว่าสมดุน ท่านตอบว่าแล้วสมการ ( สะมะกาน) ทำไมไม่อ่านสม กาน ล่ะ ท่านไม่ใช่อาจารย์ภาษาไทย เสียด้วย ผมก็เลยเหมาว่าเป็น technical term แต่ต่อมาอาจารย์ท่านอื่นอ่านว่าสมดุน ก็เลยยังไม่รู้จนบัดนี้ว่าที่ถูกอ่านว่าอะไร ผมหมายถึงสมดุลย์ในฟิสิกส์นะครับ
สุดที่รัก มายเดียร์
บางคนอ่านสะมะดุน บางคนอ่านสมดุลย์แต่คนส่วนใหญ่อ่านว่าสมดุลย์ ก็ยังงงว่าแบบไหนถึงจะถูก พี่ผู้การฯไขข้อให้กระจ่างก็ดีค่ะ
สมดุล
[สะมะดุน, สมดุน] ว. เสมอกัน, เท่ากัน. (อ. equilibrium).
สมฺภาร = องค์ประกอบ, การเกื้อกูล, การเลี้ยงดู (ศัพท์วิเคราะห์)
สมฺภรียนฺติ สํหรียนฺติ เอเตนาติ สมฺภาโร สิ่งหรือผู้เป็นเครื่องนำไปพร้อม คือช่วยให้ขับเคลื่อนไปได้
สํ บทหน้า ภรฺ ธาตุ ในความหมายว่าเลี้ยงดู, ทรงไว้ ณ ปัจจัย
สมฺภาร = “สิ่งที่นำไปด้วยกัน” (บาลี-อังกฤษ)
1 การสะสม, การผลิต, การตระเตรียม
2 วัตถุ, ปัจจัย, ส่วนประกอบ
3 การนำมารวมกัน, การเรียงลำดับ
สมฺภาร (พจนานุกรมศัพท์บาลี)
การสะสม, รวบรวม, วัตถุ, ของใช้.
สมฺภาร (ประมวลศัพท์)
สิ่งของต่างๆ, วัตถุ, วัสดุ, เครื่องใช้, องค์, ส่วนประกอบ; การประชุมเข้า
เจ้าอาวาส
สมภารวัด, หัวหน้าสงฆ์ในวัด มีอำนาจและหน้าที่ปกครองดูแลอำนวยกิจการทุกอย่างเกี่ยวกับวัด
สัมภาระ
[สำพาระ] น. สิ่งของต่าง ๆ เช่น เครื่องมือเครื่องใช้และเสบียงซึ่งสะสมรวบรวมหรือจัดเตรียมไว้เพื่อภาระต่าง ๆ เช่น เตรียมสัมภาระสำหรับไปต่างจังหวัด; การเกื้อหนุน, การเลี้ยงดู. (ป., ส.).
สมภาร
[-พาน] น. พระที่เป็นเจ้าอาวาส. (ป., ส. สมฺภาร).
abbot : vihārādhipati ; assamasāmī .(วิหาราธิปติ, อสฺสมสามี)