วร (บาลีวันละคำ 2,609)
วร
คุณศัพท์ที่นิยมอยู่หลังคำนาม
“วร” บาลีอ่านว่า วะ-ระ รากศัพท์มาจาก วรฺ (ธาต = ปรารถนา) + อ (อะ) ปัจจัย
: วรฺ + อ = วร แปลตามศัพท์ว่า “ภาวะอันบุคคลปรารถนา” เป็นคำวิเศษณ์ แปลว่า ประเสริฐ, วิเศษ, เลิศ, อริยะ (excellent, splendid, best, noble) เป็นคำนาม (ปุงลิงค์; นปุงสกลิงค์) แปลว่า ความปรารถนา, พร, ความกรุณา (wish, boon, favour)
ในภาษาไทย “วร” คงใช้เป็น “วร” ก็มี แปลง ว เป็น พ ตามหลักนิยมของไทยเป็น “พร” ก็มี พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 เก็บไว้ทั้ง “วร” และ “พร” บอกไว้ว่า –
(1) วร– [วะระ-, วอระ-] : (คำนาม) พร; ของขวัญ. (คำวิเศษณ์) ยอดเยี่ยม, ประเสริฐ, เลิศ. (ป., ส.).
(2) พร [พอน] : (คำนาม) คําแสดงความปรารถนาให้ประสบสิ่งที่เป็นสิริมงคล เช่น ให้พร ถวายพระพร, สิ่งที่ขอเลือกเอาตามประสงค์ เช่น ขอพร. (ป. วร).
อภิปราย :
เป็นที่รู้กันในหมู่คนไทยที่รู้หลักภาษาบาลีว่า ในภาษาบาลี คำขยายหรือที่เรียกเป็นคำศัพท์ว่า “คำวิเศษณ์” (ไวยากรณ์บาลีเรียก “วิเสสนะ”) ต้องอยู่ข้างหน้าคำที่ถูกขยาย (ภาษาไวยากรณ์บาลีเรียกว่า “วิเสสนบุพบท” = บทที่มีคำขยายอยู่หน้า) เช่นคำว่า “วร” ที่กำลังพูดถึงในที่นี้เป็นคำวิเศษณ์ ก็อยู่ข้างหน้าคำนามที่ถูกขยาย เช่น –
วรชายา = ภรรยาที่ประเสริฐ
วรดนู = หญิงที่ประเสริฐ คือหญิงงาม
วรปัญญ์ = ผู้มีปัญญาเลิศ
วราวุธ = อาวุธอย่างประเสริฐ
แต่หลักที่คนส่วนมากไม่ทราบก็คือ คำขยายในภาษาบาลีที่อยู่หลังคำที่ถูกขยาย (ตรงกันข้ามกับที่เข้าใจกัน) ก็มี โดยเฉพาะคำว่า “วร” ที่อยู่หลังคำที่ถูกขยายก็อย่างเช่น –
ชินวร = พระชินเจ้าผู้ประเสริฐ เป็นคำที่ใช้เรียกพระพุทธเจ้า (the noble victor) คำนี้คือที่เราใช้ในภาษาไทยและอ่านว่า ชิน-นะ-วอน
ธมฺมวร = ธรรมอันประเสริฐ (the best norm)
นครวร = อริยนคร (the noble city)
รตนวร = แก้วอันเลิศ (the best of gems)
ราชวร = พระราชาที่มีพระนามกระเดื่อง (famous king)
ลักษณะเช่นนี้ภาษาไวยากรณ์บาลีเรียกว่า “วิเสสนุตรบท” = บทที่มีคำขยายอยู่หลัง โดยเฉพาะบทที่มีคำว่า “วร” เป็นคำขยายอยู่หลังเช่นนี้จะพบได้ทั่วไปในคัมภีร์บาลี
เฉพาะคำว่า “ราชวร” (รา-ชะ-วะ-ระ) ที่แปลตามศัพท์ว่า “พระราชาผู้ประเสริฐ” นั้น ตามความเข้าใจพื้นฐานที่ว่าคำขยายต้องอยู่ข้างหน้าคำที่ถูกขยาย รูปศัพท์จะต้องเป็น “วรราช” หรือ “วรราชา” ผู้เขียนบาลีวันละคำได้ลองค้นดูในคัมภีร์บาลี พบเพียงแห่งเดียวในคัมภีร์มธุรัตถวิลาสินี อรรถกถาแห่งคัมภีร์พุทธวงศ์ ในหน้า 518 คือคำว่า “วรราชคหํ” ซ้ำไม่ใช่คำที่ขยาย “ราช” ตรงๆ แต่ขยาย “ราชคห” แปลว่า “เมืองราชคฤห์อันประเสริฐ”
แต่รูปศัพท์ “ราชวร” มีใช้อยู่ทั่วไปในคัมภีร์บาลี
หมายเหตุ :
เนื่องจากเวลานี้มีกระแสเรื่องหลักฐานใหม่ในการอ่านพระนาม “พระนเรศวรมหาราช” ว่า ต้องอ่านว่า พฺระ-นะ-เรด-วอ-ระ-มะ-หา-ราด ผู้เสนอหลักฐานใหม่ได้อ้างคำว่า “พระนเรศวรราชาธิราช” แยกคำเป็น พระนเรศ + วรราช + อธิราช บอกคำอ่านว่า พฺระ-นะ-เรด-วอ-ระ-รา-ชา-ทิ-ราด และบอกว่า คำว่า “วรราชาธิราช” (วรราช + อธิราช) นี้เป็นสร้อยพระนาม แปลว่า “พระราชาเหนือพระราชาผู้ประเสริฐ”
ผู้เขียนบาลีวันละคำเห็นคำว่า “วรราช” ก็นึกถึงคำว่า “ราชวร” ในคัมภีร์บาลี ซึ่งตำแหน่งคำสลับกัน จึงนำคำว่า “วร” มาเขียนไว้เพื่อเป็นหลักฐานประกอบการพิจารณาอีกทางหนึ่ง
สรุปว่า ในภาษาบาลี คำขยายอยู่หน้าก็มี อยู่หลังก็มี และบางศัพท์นิยมให้คำขยายอยู่หลัง เช่นคำว่า “วร” ที่แปลว่า “ประเสริฐ” มักอยู่หลังคำที่ถูกขยาย เช่น “ราชวร” (พระราชาผู้ประเสริฐ) เป็นต้น
…………..
ดูก่อนภราดา!
: คนเลวเป็นผู้นำ ใช่ว่าจะลดความระยำเลวทราม
: คนดีเป็นผู้ตาม ใช่ว่าความดีงามจะลดน้อยลงไป
#บาลีวันละคำ (2,609)
4-8-62