บาลีวันละคำ

ทิฏฐานุคติ (บาลีวันละคำ 2,610)

ทิฏฐานุคติ

Idol ในภาษาบาลี

อ่านว่า ทิด-ถา-นุ-คะ-ติ

ประกอบด้วยคำว่า ทิฏฐ +อนุคติ

(๑) “ทิฏฐ

บาลีเป็น “ทิฏฐ” (มีจุดใต้ ฏฺ) อ่านว่า ทิด-ถะ รากศัพท์มาจาก ทิสฺ (ธาตุ = เห็น) + ปัจจัย, แปลง สฺต (คือ (ทิ)-สฺ + ) เป็น ฏฺฐ

: ทิสฺ + = ทิสฺต > ทิฏฺฐ แปลตามศัพท์ว่า (1) “เห็นแล้ว” (2) “สิ่งอันเขาเห็น

ทิฏฺฐ” ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –

(ก) เป็นคำนาม หมายถึง การเห็น, มโนภาพ (a vision)

(ข) เป็นคุณศัพท์ หมายถึง –

(1) ได้เห็น (seen)

(2) รู้, เข้าใจ (known, understood)

(3) อันปรากฏ, อันวินิจฉัยได้ด้วยการเห็น (visible, determined by sight)

(๒) “อนุคติ

อ่านว่า อะ-นุ-คะ-ติ รากศัพท์มาจาก อนุ (คำอุปสรรค = น้อย, ภายหลัง, ตาม) + คมฺ (ธาตุ = ไป, ถึง) + ติ ปัจจัย, ลบ มฺ ที่สุดธาตุ (คมฺ > )

: อนุ + คมฺ = อนุคมฺ + ติ = อนุคมติ > อนุคติ แปลตามศัพท์ว่า “การไปตาม” หมายถึง การติดตาม, บริวาร, การตกลงไป, การเกาะติด, การอาศัยหรือขึ้นอยู่กับ (following, being in the train of, falling under, adherence to, dependence on)

ทิฏฺฐ + อนุคติ = ทิฏฺฐานุคติ แปลว่า “การดำเนินตามสิ่งที่เห็น” หมายถึง การเลียนตามแบบอย่างที่ตนเห็น, การเอาอย่าง, การแข่งขัน (imitation of what one sees, emulation, competition)

ทิฏฺฐานุคติ” ในภาษาไทยใช้เป็น “ทิฏฐานุคติ” เท่าบาลี (บาลีมีจุดใต้ ฏฺ ภาษาไทยไม่มี)

ข้อสังเกต :

ตามหลักนิยมในภาษาไทย คำที่มาจากบาลีท่านให้ตัดตัวสะกดออกตัวหนึ่ง เช่น “จิตฺต” (จิด-ตะ) เต่า 2 ตัว ในภาษาไทยตัดตัวสะกดออกตัวหนึ่ง ใช้เป็น “จิต” แต่ในกรณีที่มีคำขึ้นต้นด้วย อ- อา- มาสมาสข้างท้าย ท่านให้คงตัวสะกดไว้ตามเดิม เช่น จิต + อานุภาพ สะกดเป็น “จิตตานุภาพ” ไม่ใช่ “จิตานุภาพ

คำว่า “ทิฏฺฐ” ก็เช่นเดียวกัน ในภาษาไทยตัดตัวสะกดออกตัวหนึ่ง ใช้เป็น “ทิฐ” (อ่านว่า ทิด-ถะ ไม่ใช่ ทิ-ถะ) ในที่นี้มีคำว่า “อนุคติ” (ขึ้นต้นด้วย อ-) มาสมาสข้างท้าย ท่านให้คงตัวสะกดไว้ตามเดิม จึงสะกดเป็น “ทิฏฐานุคติ” ไม่ใช่ “ทิฐานุคติ

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ทิฏฐานุคติ : (คำแบบ = คำที่ใช้เฉพาะในหนังสือ ไม่ใช่คำพูดทั่วไป) (คำนาม) แนวทางตามที่เห็นที่ยึดถือเป็นแบบอย่างได้. (ป. ทิฏฺฐานุคติ ว่า ดำเนินตามสิ่งที่ปรากฏ).”

ตัวอย่างคำว่า “ทิฏฐานุคติ” ที่ใช้ในภาษาไทย เช่น –

“… ผู้เป็นใหญ่เป็นผู้นำในบ้านเมืองสมควรที่จะวางตัวปฏิบัติตนในทางที่ถูกต้องดีงาม เพื่อให้อนุชนคนภายหลังถือเอาเป็นทิฏฐานุคติดำเนินรอยตามต่อไป …”

ทิฏฐานุคติ” มีความหมายตรงกับที่นิยมพูดกันในสมัยนี้ว่า idol

…………..

ดูก่อนภราดา!

: สอนให้จำ เป็นครูของเด็ก

: ทำให้เห็น เป็นครูของสังคม

: เป็นให้ดู เป็นครูของโลก

#บาลีวันละคำ (2,610)

5-8-62

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย