บาลีวันละคำ

ดิศวรกุมาร (บาลีวันละคำ 2,608)

ดิศวรกุมาร

อ่านว่าอย่างไร

คำว่า “ดิศวรกุมาร” เป็นพระนามเดิมของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ คือ “พระองค์เจ้าดิศวรกุมาร

คำว่า “ดิศวรกุมาร” นี้ ถ้าให้คนทั่วไปอ่าน ก็จะอ่านกันว่า ดิ-สวน-กุ-มาน ทั้งนี้เพราะเราคุ้นกับคำว่า —ศวร เช่น พระอิศวร พระนเรศวร อวโลกิเตศวร “–ศวร” พวกนี้เราออกเสียงว่า -สวน กันทั้งนั้น

พอมาเห็น “ดิศวรกุมาร” เราจึงไม่ลังเลเลยที่จะอ่านว่า ดิ-สวน-กุ-มาน บางคนอาจแยกคำให้ดูได้ด้วย คือบอกว่ามาจาก ดิ + อิศวร

คำว่า “ดิศวรกุมาร” ไม่ได้อ่านว่า ดิ-สวน-กุ-มาน

แต่อ่านว่า ดิด-สะ-วอ-ระ-กุ-มาร

ทำไมจึงอ่านเช่นนี้?

เหตุผลคือ “ดิศวรกุมาร” แยกคำเป็น ดิศ + วร + กุมาร

ทำไมจึงแยกคำเช่นนี้?

แยกคำเช่นนี้เพราะมีหลักฐานจากคาถาพระราชทานพระนาม พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 4 มีคำปรารภว่า –

…………..

สมเด็จพระปรเมนทรมหามงกุฎ พระจอมเกล้าเจ้าแผ่นดินสยามผู้บิดา ขอตั้งนามกุมารบุตรที่เกิดแต่ชุ่มเล็กเป็นมารดานั้น และซึ่งคลอดในวันเสาร์ แรม ๙ ค่ำ เดือน๗ ปีจอจัตวาศกนั้น ว่าดังนี้ พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าดิศวรกุมาร …

…………..

คาถาพระราชทานพระนามเป็นภาษาบาลี 2 วรรคแรกว่า –

สุขี อยํ โหตุ สทา กุมาโร

นาเมน โย ติสฺสวโร กุมาโร

แปลว่า –

ขอกุมารผู้มีนามว่า “ดิศวรกุมาร” นี้

จงเป็นผู้มีความสุขทุกเมื่อ

…………..

คำว่า “ติสฺสวโร” อ่านว่า ติด-สะ-วะ-โร แยกคำเป็น ติสฺส + วโร

คำว่า “ติสฺส” (ติด-สะ) เป็นชื่อคนที่นิยมตั้งกันในวัฒนธรรมของชาวชมพูทวีป ในคัมภีร์บาลีจะพบบุคคลชื่อ “ติสสะ” อยู่ทั่วไป พระสารีบุตรอัครสาวกท่านมีชื่อเดิมว่า “อุปติสฺส” (อุ-ปะ-ติด-สะ) ก็ “ติสฺส” คำเดียวกันนี้

ติสฺส > ติสสะ เอามาใช้ในภาษาไทย ตัดตัวสะกดออก จึงเป็น “ดิศ

สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงเป็นต้นราชสกุล “ดิศกุล” ก็มาจาก “ดิศ” พระนามเดิมคำนี้เอง

วโร” คำเดิมเป็น “วร” (วะ-ระ) แปลว่า “ประเสริฐ” เป็นคำที่เราคุ้นกันดีอยู่แล้ว

วร” เป็นคุณศัพท์ คือคำขยาย (ภาษาไวยากรณ์บาลีเรียกว่า “วิเสสนะ”) ปกติ-ตามที่เรารู้กัน ในภาษาบาลีคำขยายทั่วไปต้องอยู่หน้าคำนามที่ถูกขยาย อย่างในที่นี้ก็ควรจะเป็น “วรติสฺส” (วะ-ระ-ติด-สะ) คือเป็น “วรติสฺโส

แต่สำหรับ “วร” ท่านนิยมสลับตำแหน่ง เอาคำขยายมาไว้หลัง (ภาษาไวยากรณ์บาลีเรียกว่า “วิเสสนุตตรบท”) นี่เป็นหลักที่คนทั่วไปมักไม่รู้ ในคัมภีร์จะพบคำที่ “วร” อยู่หลังเช่นนี้ได้ทั่วไป

วร” แจกด้วยปฐมาวิภัตติ เอกพจน์ ปุงลิงค์ เปลี่ยนรูปเป็น “วโร

ติสฺสวโร” เขียนเป็นคำไทยว่า “ดิศวร” แปลว่า “ดิศผู้ประเสริฐ

คำว่า “ดิศวร” ถ้าไม่รู้ที่ไปที่มา เราก็จะต้องเข้าใจว่าเป็น ดิ + ศวร และจะอ่านว่า ดิ-สวน หรือ ดิด-สวน ตามที่คุ้นปาก

ส่วนคำว่า “กุมาร” ในคาถาปรากฏชัดเจนอยู่แล้ว คือ “กุมาโร” เอาคำว่า “กุมาร” มาต่อท้ายก็เป็น “ดิศวรกุมาร” อ่านว่า ดิด-สะ-วะ-ระ-กุ-มาน หรือ ดิด-สะ-วอ-ระ-กุ-มาน (ไม่ใช่ ดิด-สวน-กุ-มาน) แปลว่า “กุมารชื่อดิศผู้ประเสริฐ

อาจารย์เก่าท่านหนึ่งซึ่งได้รับยกย่องว่าเป็นปราชญ์ทางภาษาไทย ท่านก็เคยเข้าใจว่า “ดิศวรกุมาร” อ่านว่า ดิด-สวน-กุ-มาน แต่เมื่อเห็นข้อความในคาถาพระราชทานพระนามที่ปรากฏคำว่า “ติสฺสวโร กุมาโร” อย่างแจ้งชัด ท่านจึง “จำนวนด้วยหลักฐาน” และยอมรับว่าเข้าใจผิดไป

หมายเหตุ :

เนื่องจากเวลานี้มีกระแสเรื่องหลักฐานใหม่ในการอ่านพระนาม “พระนเรศวรมหาราช” ว่า ต้องอ่านว่า พฺระ-นะ-เรด-วอ-ระ-มะ-หา-ราด จึงจะถูกต้อง ประจวบกับมีญาติมิตรถามเรื่องคำว่า “อวโลกิเตศวร” ดังที่ได้เขียนเป็นบาลีวันละคำไปแล้ว (“อวโลกิเตศวร” บาลีวันละคำ (2,607) 2-8-62)

ผู้เขียนบาลีวันละคำนึกถึงคำว่า “ดิศวรกุมาร” ซึ่งมีรูปศัพท์เท่าที่ตาเห็นเหมือนกับ “นเรศวร” และ “อวโลกิเตศวร” จึงนำมาเขียนไว้เพื่อประกอบการพิจารณา

คำถามคือ –

-ศวร” ในคำว่า “นเรศวร” เป็นคำเดียวกับ “-ศวร” ในคำว่า “อวโลกิเตศวร

หรือ –

-ศวร” ในคำว่า “นเรศวร” เป็นคำเดียวกับ “-ศวร” ในคำว่า “ดิศวรกุมาร

ถ้าตอบโจทย์ข้อนี้ได้ เราก็จะได้คำตอบว่า คำว่า “พระนเรศวรมหาราช” อ่านอย่างไรจึงจะถูกต้อง

…………..

ดูก่อนภราดา!

: คำ หลอกได้เฉพาะคนไม่รู้

: แต่คน หลอกได้ทั้งๆ ที่รู้

#บาลีวันละคำ (2,608)

3-8-62

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย