บาลีวันละคำ

มธุภาณี (บาลีวันละคำ 2,659)

มธุภาณี

ปากหวานปานน้ำผึ้ง

อ่านว่า มะ-ทุ-พา-นี

ประกอบด้วยคำว่า มธุ + ภาณี

(๑) “มธุ

อ่านว่า มะ-ทุ รากศัพท์มาจาก –

(1) มธฺ (ธาตุ = สดชื่น) + อุ ปัจจัย

: มธฺ + อุ = มธุ แปลตามศัพท์ว่า “น้ำที่สดชื่น

(2) มนฺ (ธาตุ = รู้) + อุ ปัจจัย, แปลง เป็น

: มนฺ + อุ = มนุ > มธุ แปลตามศัพท์ว่า “น้ำอันผู้ดื่มรู้ว่าหวาน

มธุ” (นปุงสกลิงค์) หมายถึง น้ำผึ้ง (honey)

(๒) “ภาณี

บาลีอ่านว่า พา-นี รากศัพท์มาจาก ภณฺ (ธาตุ = กล่าว, ส่งเสียง) + ณี ปัจจัย, ลบ (ณี > อี), ทีฆะต้นธาตุ “ด้วยอำนาจปัจจัยเนื่องด้วย ” (ภณฺ > ภาณฺ)

: ภณฺ + ณี > อี = ภณี > ภาณี (คุณศัพท์) แปลตามศัพท์ว่า “ผู้กล่าว” หมายถึง พูด, สาธยายหรือสวด (speaking, reciting)

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ภาณี : (คำนาม) ผู้สวด, ผู้กล่าว, ผู้บอก, คนช่างพูด, เพศหญิง ใช้ว่า ภาณินี.”

มธุ + ภาณี = มธุภาณี แปลว่า “ผู้มีปกติกล่าวถ้อยคำประดุจน้ำผึ้ง

คำนี้แปลตรงตัวว่า “พูดหวานปานน้ำผึ้ง” หมายถึงคำพูดของเขาเปรียบเหมือนน้ำผึ้ง ในภาษาไทยมักเข้าใจกันว่า พูดเพราะ เรียกเทียบคำบาลีว่า “ปากหวาน

ขยายความ :

พูดอย่างไรเรียกว่า “มธุภาณี” = ปากหวาน?

ในพระไตรปิฎก มีพระสูตรหนึ่งชื่อ “คูถภาณีสูตร” คัมภีร์ติกนิบาต อังคุตรนิกาย เป็นคำตรัสของพระพุทธเจ้า ขออัญเชิญมาทั้งคำบาลีและคำแปลเพื่อเจริญปัญญา ดังนี้ –

…………..

กตโม  จ  ภิกฺขเว  ปุคฺคโล  มธุภาณี

บุคคลมธุภาณีเป็นอย่างไร?

อิธ  ภิกฺขเว  เอกจฺโจ  ปุคฺคโล 

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุคคลลางคนในโลกนี้

ผรุสํ  วาจํ  ปหาย  ผรุสาย  วาจาย  ปฏิวิรโต  โหติ

เป็นผู้ละวาจาหยาบ เว้นจากวาจาหยาบ

ยา  สา  วาจา  เนฬา

วาจาใดไม่มีโทษ (faultless)

กณฺณสุขา

สบายหู (pleasant to the ear)

เปมนิยา

น่าดูดดื่ม (affectionate)

หทยงฺคมา

จับใจ (heart-stirring)

โปรี

เป็นคำชาวเมือง (urbane, polite)

พหุชนกนฺตา  พหุชนมนาปา

เป็นที่พอใจชอบใจแห่งพหูชน

ตถารูปึ  วาจํ  ภาสิตา  โหติ

เป็นผู้กล่าววาจาอย่างนั้น

อยํ  วุจฺจติ  ภิกฺขเว  ปุคฺคโล  มธุภาณี.

บุคคลเช่นนี้แหละภิกษุทั้งหลาย เราเรียกว่ามธุภาณี

ที่มา: ติกนิบาต อังคุตรนิกาย

พระไตรปิฎกเล่ม ๒๐ ข้อ ๔๖๗

…………..

ในภาษาไทยมีคำว่า “มธุรสวาจา” ความหมายตรงกับ “มธุภาณี

อรรถกถาขยายความลักษณะอย่างหนึ่งของ “มธุภาณี” ว่า –

ปิติมตฺตํ  ปิตาติ

เรียกคนวัยปูนพ่อว่า คุณพ่อ

มาติมตฺตํ  มาตาติ

เรียกคนวัยปูนแม่ว่า คุณแม่

ภาติมตฺตํ  ภาตาติ  วทนฺติ.

เรียกคนวัยปูนพี่ว่า คุณพี่

คงระลึกกันได้ว่า ไทยเรามีวัฒนธรรมเรียกขานกันด้วย “มธุรสวาจา” เช่นนี้ทั่วไป

…………..

ดูก่อนภราดา!

: พูดความจริงแม้จะเป็นคำสกปรก

: ดีกว่าโกหกด้วยคำหวาน

#บาลีวันละคำ (2,659)

23-9-62

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย