บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

คำด่าที่น่าคิด

คำด่าที่น่าคิด

————-

ในบรรดาเรื่องที่คนไทยสมัยนี้นิยมยกขึ้นมาด่ากัน อย่างหนึ่งก็คือ ความแก่ หรือคนแก่

ผู้ชายจะถูกด่าว่า “ไอ้แก่”

ผู้หญิงจะถูกด่าว่า “อีแก่”

และมักจะมีคำบริวารตามมาในทำนองว่า-แก่ไม่อยู่ส่วนแก่ แก่แล้วไม่เจียมสังขาร 

อย่างเบาๆ ก็ว่า-อย่าไปถือสาแกเลย แกแก่แล้ว

…………..

ขณะที่เขียนเรื่องนี้ผมอายุ ๗๕ เป็น “คนแก่” เต็มตัว ไม่ต้องสงสัย 

ที่ว่าไม่ต้องสงสัยก็คือ ใครเห็นก็รู้ทันทีว่าผมเป็นคนแก่

เพราะฉะนั้นก็อยู่ในจำพวกมีสิทธิ์เต็มๆ ที่จะถูกด่าด้วยคำด่าชนิดนั้นได้คนหนึ่ง 

ถ้าว่าตามหลักสัจธรรม คือเรื่องที่เป็นตามที่มันเป็น ไม่ใช่เรื่องที่เห็นกันว่าเป็น เชื่อกันว่าเป็น ถือกันว่าเป็น หรือนิยมกันว่าเป็น ท่านว่าคนเราแก่มาแล้วตั้งแต่เกิด 

ที่บางท่านเรียกว่า แก่ขึ้น หรือแก่ลง คือแก่ขาขึ้นหรือแก่ขาลง

จากเด็กเป็นหนุ่มสาว เรียกว่าแก่ขึ้น

จากหนุ่มสาวเป็นคนแก่ เรียกว่าแก่ลง 

ในคัมภีร์ท่านใช้คำบาลีว่า “ปากฏชรา” แปลว่า แก่ที่มองรู้ และ “ปฏิจฺฉนฺนชรา” แปลว่า แก่ที่มองไม่รู้ 

อันนี้ผมแปลเอาเอง นักเลงบาลีอย่าว่ากันนะครับ

“ปากฏชรา” แก่ที่มองรู้ เช่นคนวัยเดียวกับผมเป็นต้น มองก็รู้ทันทีว่า “แกแก่แล้ว”

“ปฏิจฺฉนฺนชรา” แก่ที่มองไม่รู้ เช่นคนที่ยังหนุ่มยังสาว ใครมองก็ไม่รู้ว่าแก่ จึงนึกว่า “กูยังไม่แก่” ทั้งๆ ที่ตามหลักสัจธรรม แก่มาตั้งแต่เกิดโน่นแล้ว 

ถ้าไม่แก่ ก็ต้องยังคงเป็นทารกแบเบาะอยู่ จะเป็นหนุ่มเป็นสาวขึ้นมาได้อย่างไร

จะเห็นได้ว่า เรานิยมเอาวัย อันมองเห็นได้ชัดที่ผิวพรรณรูปร่างหน้าตาเป็นเครื่องตัดสินว่า ใครแก่หรือยังไม่แก่ 

อันนี้ไม่ควรติดใจ เพราะมันเป็นธรรมดาที่ชาวโลกเขาใช้เกณฑ์แบบนี้ เราก็ควรจะใช้ตามเขาไป 

………………

พูดมาถึงตรงนี้นึกขึ้นมาได้ว่า ในคัมภีร์ก็มีกล่าวถึงเรื่องที่คนสมัยพุทธกาลยกขึ้นมาด่ากัน ซึ่งท่านเรียกเป็นศัพท์วิชาการว่า “อักโกสวัตถุ” (อัก-โก-สะ-วัด-ถุ) แปลว่า “เรื่องสำหรับด่า” 

รายการ “อักโกสวัตถุ” ที่ท่านขึ้นบัญชีไว้มี ๑๐ อย่าง คือ – 

๑. ชาติ ได้แก่ชั้นหรือกำเนิดของคน ถ้าเป็นที่อินเดียก็เช่น-ไอ้จัณฑาล 

๒. ชื่อ แล้วแต่ว่าใครจะเห็นว่าชื่ออะไรหยิบเอามาด่าได้

๓. โคตร คือตระกูลหรือแซ่ เช่น ไอ้ขี้ครอก ไอ้ขี้ข้า (ใกล้เคียงกับ “ชาติ” ในข้อ ๑.)

๔. การงาน เช่น ไอ้ขี้ขโมย ไอ้ขี้โกง ไอ้พวกทำนาบนหลังคน

๕. ศิลปะ (ความสามารถที่พอมี) เช่น ไอ้กระจอก

๖. โรค เช่น ไอ้ขี้เรื้อน ไอ้มะเร็งแดก

๗. รูปพรรณสัณฐาน เช่น ไอ้เตี้ยหมาตื่น

๘. กิเลส (นิสัยใจคอ) เช่น ไอ้งก ไอ้หื่น ไอ้งั่ง

๙. อาบัติ (ความผิดที่เคยทำ) เช่น ไอ้ขี้คุก

๑๐. คำสบประมาทอย่างอื่นๆ

ชุดนั้นน่าจะเป็นคำด่าในวงการพระสงฆ์ ผมลองปรับให้เป็นคำด่าทั่วไปด้วย

ยังมีชุดที่เป็นคำด่าสำหรับคนทั่วไปหรือคำด่าสามัญ ก็มี ๑๐ หัวข้อเช่นกัน แต่รายการแตกต่างกัน กล่าวคือ

๑. โจโรสิ = ไอ้โจร

๒. พาโลสิ = ไอ้พาล (ตรงกับ-ไอ้โง่)

๓. มูโฬฺหสิ = ไอ้เซอะ

๔. โอฏฺโฐสิ = ไอ้อูฐ

๕. โคโณสิ = ไอ้วัว (คงประเภทเดียวกับ-ไอ้ควาย)

๖. คทฺรโภสิ = ไอ้ลา

๗. เนรยิโกสิ = ไอ้สัตว์นรก

๘. ติรจฺฉานคโตสิ = ไอ้เดรัจฉาน (เหมือน-ไอ้ชิงหมาเกิด)

๙. นตฺถิ  ตุยฺหํ  สุคติ = มึงไม่ได้ไปดี (คล้ายๆ-ไม่ได้ตายดีแน่)

๑๐. ทุคฺคติเยว  ตุยฺหํ  ปาฏิกงฺขา = ไปลงนรกเถอะมึง

จะเห็นได้ว่า ไม่ว่าจะคำด่าชุดพระหรือชุดชาวบ้าน ไม่มีรายการ “ไอ้แก่” “อีแก่” หรือการยกเอาความแก่ขึ้นมาด่ากัน

ผมจึงอยากชวนให้คิดว่า คนไทยเรามีเหตุผลอะไรจึงยกเอาความแก่ขึ้นมาเป็นเหตุด่ากัน 

ถามให้ตรงประเด็นก็ว่า ความแก่หรือคนแก่ไปทำให้อะไรของใครเสียหายหรือ หรือว่าไปขัดขวางการพัฒนาสังคม เป็นตัวถ่วงความเจริญของโลก หรือเป็นภาระของคนด่า-กระนั้นหรือ 

หรือว่าได้ยินคนอื่นๆ ยกเรื่องนี้ขึ้นมาด่า ก็เลยด่าตามๆ กันเพลินไป

อันนี้ไม่ได้ถามหาเรื่องหรือคิดจะตอบโต้ต่อปากต่อคำกัน 

แต่เพื่อให้เรามองเห็นเหตุผลที่เป็นธรรมตรงกัน 

ตัวอย่างเทียบง่ายๆ

หมาบ้า: เราต้องกำจัด

เหตุผล: เพราะเป็นอันตราย อาจไปกัดใครเข้า

ความแก่: เราต้องยกขึ้นมาด่า

เหตุผล: ???

ถ้าเราช่วยกันหา “เหตุผลที่มีเหตุผล” มาอธิบายได้ การยกเอาความแก่ขึ้นมาเป็นเรื่องด่าก็จะสมเหตุสมผล และเป็นธรรม 

เวลาเราด่าคนแก่ เราก็จะด่าได้ด้วยความมั่นใจและสบายใจว่าเราด่าอย่างมีเหตุผล หรือด่าอย่างสร้างสรรค์

เหตุผลข้อหนึ่งที่ผมชวนให้คิดเรื่องนี้ก็เพราะสังเกตเห็นว่า เวลาเรายกเอาความแก่ขึ้นมาด่ากัน เรามอง-หรือที่นิยมใช้คำฝรั่งว่าโฟกัส-เฉพาะเนื้อตัวร่างกายหรืออายุของคนที่เราด่าล้วนๆ 

เราแทบไม่ได้สนใจที่การกระทำ คำพูด หรือความคิดของเขา-แม้แต่การกระทำ คำพูด หรือความคิดของเขาที่เป็นต้นเหตุให้เราด่าเขาอยู่ ณ ขณะนั้นแท้ๆ 

หมายความว่า ถ้าการกระทำ คำพูด หรือความคิด-ที่เป็นเหตุให้เรายกขึ้นมาด่านั้นเป็นเรื่องเสียหาย ใครทำ ใครพูด ใครคิด ก็ต้องเสียหายทั้งนั้น ไม่ใช่เสียหายเฉพาะเมื่อคนแก่ทำ

ไม่ควรจะเป็นว่า-คนแก่ทำ เสียหาย เด็กทำ ไม่เสียหาย – ใช่หรือไม่? ลองคิดดู 

อาจจะมีบางเรื่องที่คนในวัยหนึ่งหรืออยู่ในสถานะหนึ่งทำ เราไม่ถือหรือไม่เห็นว่าเสียหาย แต่การกระทำแบบเดียวกันนั่นเองคนอีกวัยหนึ่ง หรืออยู่ในสถานะหนึ่งทำเข้า เราเห็นว่าเสียหาย 

กรณีเป็นเรื่องที่เฉพาะ “คนแก่” ทำเท่านั้นเสียหาย คนอื่นๆ ทำไม่เสียหาย แล้วเกิดมีคนแก่ไปทำเรื่องแบบนั้นเข้า แบบนี้การยกเอาความแก่ขึ้นมาด่าก็น่าจะสมเหตุสมผล คือสมควรถูกด่าและสมควรช่วยกันด่า

แต่กรณีที่เป็นเรื่องสาธารณะ-หมายถึงว่าเรื่องแบบนั้นใครไปทำเข้า ไม่ว่าจะเป็นเด็กทำหรือคนแก่ทำ ล้วนเป็นเรื่องเสียหายทั้งสิ้น ก็ไม่มีเหตุผลอะไรที่จะต้องยกเอาเฉพาะความแก่ขึ้นมาด่า 

ถ้าเรื่องเช่นว่านั้น คนหนุ่มคนสาวทำ หรือเด็กทำ เราจะยกเอาอะไรขึ้นมาด่า? 

จะด่าว่า —

“ไอ้หนุ่ม” 

“อีสาว” 

“ไอ้เด็ก” 

เหมือนที่ด่าว่า “ไอ้แก่” “อีแก่” เช่นนั้นหรือไม่?

ผมขอเสนอแนวคิดว่า เวลาจะด่าบุคคลหรือด่าสถาบัน ควรด่าแบบวิภัชวาที คือจำแนกแยกแยะให้ชัดเจนว่าด่าคนไหน ด่าสถาบันไหน ควรหลีกเลี่ยงการใช้คำที่เป็นสมุหนาม อันเป็นคำด่าเหมารวมหรือเหมาโหล 

เช่นด่าว่า “พวกทหารเรือแม่งงี่เง่า” อย่างนี้ควรหลีกเลี่ยง

หรือสมมุติว่าเด็กจะด่าผู้ใหญ่ ก็ควรหลีกเลี่ยงสมุหนาม เช่น “คนแก่แม่งโง่ทั้งนั้น” แบบนี้ใครแก่ก็โดนหมด เพราะไม่ได้แยกแยะ

เด็กที่ด่าว่าคนแกโง่

นอกจากจะด่าบรรพบุรุษของตัวเองแล้ว

ยังด่าตัวเองล่วงหน้าอีกด้วย

ผมขอเสนอแนวคิดว่า ถ้าเราจะด่ากัน ขอให้เพ่งเล็งไปที่การกระทำหรือพฤติกรรมพฤติการณ์ของเขาเป็นสำคัญ ส่วนความแก่หรือไม่แก่ควรตัดประเด็นออกไป 

แม้จะเป็นกรณีที่มักเห็นกันว่า-เฉพาะคนแก่ทำเท่านั้นจึงเสียหาย ก็ขอให้ให้เพ่งเล็งไปที่การกระทำเป็นสำคัญ ให้น้ำหนักไปที่การกระทำให้มากกว่าที่ความหนุ่มความแก่

อันที่จริง แม้กรณีที่มักเห็นกันว่า-เฉพาะคนแก่ทำเท่านั้นจึงเสียหายนั่นเองก็ยังมีรายละเอียดปลีกย่อยประกอบอีกเป็นอันมากที่ควรจะต้องแยกแยะดูให้ดีก่อน 

ไม่ควรใช้สูตร:- 

๑ เรื่องแบบนั้น คนแก่ทำ เสียหาย

๒ คนที่ทำเป็นคนแก่

๓ เพราะฉะนั้น ถล่มมันเลย ไอ้แก่ อีแก่ … ไม่ต้องรั้งรีรอ

ทั้งนี้เพราะบางกรณีหรือหลายๆ กรณี คนที่ทำเรื่องนั้นอาจมีเหตุแวดล้อมเป็นอันมากที่ชวนให้ทำ หรือล่อให้ทำ หรือบีบคั้นให้ทำ 

อย่างเรื่องที่ภาษากฎหมายเรียกว่า-บันดาลโทสะ หรือเหตุสุดวิสัย เป็นต้น 

การกระทำอย่างเดียวกัน ถ้าทำโดยบันดาลโทสะ หรือทำเพราะเหตุสุดวิสัย ทางพิจารณาจะบอกว่า-ควรได้รับความกรุณาหรือควรแก่ความเห็นใจ อัตราโทษก็จะเบากว่าทำด้วยเจตนา 

โดยแนวเทียบเช่นนี้ ก่อนจะรุมกระหน่ำคนแก่โดยลากเอาความแก่ลงมากระทืบอย่างที่นิยมทำกัน ผู้ด่าที่มีสติย่อมควรต้องพิจารณาแยกแยะโดยอุบายอันแยบคายก่อนเสมอ

แต่ก็น่าเห็นใจ เพราะธรรมชาติของผู้ด่าส่วนใหญ่หรือแทบทั้งหมด —

มักระบายอารมณ์อย่างไร้สติ

มากกว่าตำหนิอย่างสร้างสรรค์

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๓ กันยายน ๒๕๖๓

๑๑:๓๕

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *