คำบังสุกุล (บาลีวันละคำ 2,727)
คำบังสุกุล
เคยมี 2 บท แล้วทำไมจึงลดเหลือบทเดียว
“คำบังสุกุล” ในที่นี้หมายถึงคำที่พระสงฆ์ท่านกล่าวเมื่อ “ชักผ้าบังสุกุล” ซึ่งเวลานี้นิยมเรียกกันเพี้ยนๆ ว่า “พิจารณาผ้า” เพราะความจริงแล้วเป็นการ “พิจารณาศพ” ไม่ใช่พิจารณาผ้า ในกรณีที่ไม่มีศพ แต่มีสิ่งอื่นอันเนื่องด้วยผู้ตาย เช่น อัฐิ รูปถ่าย หรือรายชื่อ ก็เป็นการพิจารณาสังขารอันจะต้องแตกดับไปเป็นธรรมดา
ถ้ามีผ้าทอดด้วย ก็หมายถึงพิจารณาศพหรือพิจารณาสังขารแล้วชักผ้าบังสุกุล
แต่บางทีเจ้าภาพไม่มีผ้าทอด พระสงฆ์จับภูษาโยง คือแถบผ้าที่โยงมาจากศพหรือจากอัฐิ แล้วก็กล่าวคำพิจารณาสังขาร กรณีไม่มีผ้าทอดแม้จะไม่ได้ชักผ้าบังสุกล ก็เรียกว่า “คำบังสุกุล” โดยอนุโลม
“คำบังสุกุล” ที่พระสงฆ์กล่าวโดยทั่วไปในเวลานี้มีข้อความดังนี้ –
อนิจฺจา วต สงฺขารา
อุปฺปาทวยธมฺมิโน
อุปฺปชฺชิตฺวา นิรุชฺฌนฺติ
เตสํ วูปสโม สุโข.
(อะนิจจา วะตะ สังขารา
อุปปาทะวะยะธัมมิโน
อุปปัชชิต๎วา นิรุชฌันติ
เตสัง วูปะสะโม สุโข.)
แปลยกศัพท์ :
สงฺขารา = สังขารทั้งหลาย
อนิจฺจา วต = ไม่เที่ยงหนอ
อุปฺปาทวยธมฺมิโน = มีเกิดขึ้นและเสื่อมไปเป็นธรรมดา
อุปฺปชฺชิตฺวา = สังขารเกิดขึ้นแล้ว
นิรุชฺฌนฺติ = ย่อมดับไป
เตสํ วูปสโม = การเข้าไปสงบระงับดับสังขารเหล่านั้นลงได้
สุโข = เป็นความสุข
แปลรวมความ :
สังขารทั้งหลายไม่เที่ยงหนอ
มีการเกิดขึ้นและดับไปเป็นธรรมดา
สังขารทั้งหลายเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป
การเข้าไประงับดับสังขารเหล่านั้นเสียได้ เป็นความสุข
…………..
ในคำบังสุกุลบทนี้เป็นพระพุทธพจน์ มีมาในมหาสุทัสสนสูตร ทีฆนิกาย มหาวรรค พระไตรปิฎกเล่ม 10 ข้อ 186 ในพระไตรปิฎกอีกหลายแห่งปรากฏเป็นคำที่ผู้อื่นนำไปกล่าวก็มี
ความจริงคำบังสุกุลยังมีต่อไปอีกบทหนึ่ง ข้อความเป็นดังนี้ –
สพฺเพ สตฺตา มรนฺติ จ
มรึสุ จ มริสฺสเร
ตเถวาหํ มริสฺสามิ
นตฺถิ เม เอตฺถ สํสโย.
(สัพเพ สัตตา มะรันติ จะ
มะริงสุ จะ มะริสสะเร
ตะเถวาหัง มะริสสามิ
นัตถิ เม เอตถะ สังสะโย.)
แปลยกศัพท์ :
สพฺเพ สตฺตา = สัตว์ทั้งหลายทั้งปวง
มรนฺติ จ = กำลังตายด้วย
มรึสุ จ = ตายแล้วด้วย
มริสฺสเร จ = จักตายด้วย
อหํ = อันว่าเรา
มริสฺสามิ = จักตาย
ตถา เอว = เหมือนกันนั่นเทียว
สํสโย = อันว่าความสงสัย
เอตฺถ มรเณ = ในเรื่องความตายนี้
นตฺถิ = ย่อมไม่มี
เม = แก่เรา
แปลรวมความ :
สัตว์ทั้งหลายทุกหมู่เหล่า กำลังตายก็มี
ตายไปแล้วก็มี จักตาย (ต่อไปอีก) ก็มี
เราเองก็จักต้องตายเช่นเดียวกัน
ในเรื่องตายนี้เราไม่มีความสงสัยเลย
…………..
คำบังสุกุลบทที่ 2 นี้ยังไม่พบที่มาในพระไตรปิฎก น่าจะเป็นคำที่แต่งขึ้นในภายหลัง
อภิปราย :
สมัยที่ผู้เขียนบาลีวันละคำเป็นเด็กวัดหนองกระทุ่ม อำเภอปากท่อ จังหวัดราชบุรี (พ.ศ.2496-2500) ยืนยันได้ว่าพระสงฆ์ในพื้นถิ่นนั้นกล่าวคำบังสุกุลควบกันทั้งสองบทเสมอ
ตั้งแต่ปี พ.ศ.2506 ผู้เขียนบาลีวันละคำเข้าไปอยู่วัดมหาธาตุ จังหวัดราชบุรี พระสงฆ์ในตัวเมืองในสมัยนั้นก็กล่าวคำบังสุกุลควบกันทั้งสองบท
ผู้เขียนบาลีวันละคำลาสิกขาเมื่อปี พ.ศ.2517 จำได้ว่าพระสงฆ์ในตัวเมืองในเวลานั้นยังกล่าวคำบังสุกุลควบกันทั้งสองบท แต่บางวัดเริ่มจะกล่าวเฉพาะบทแรกบทเดียวกันบ้างแล้ว
หลังจากนั้นมาจนถึงปัจจุบัน เป็นอันแน่นอนว่า พระสงฆ์กล่าวคำบังสุกุลเฉพาะบทแรกบทเดียว
ยังไม่พบคำอธิบายเหตุผลว่าทำไมจึงกล่าวบทเดียว
ได้แต่สันนิษฐานว่า เวลาเร่งรัด-จำกัดด้วยเวลา ทั้งโยมทั้งพระมีภารกิจอื่นที่จะต้องรีบไปทำ
เป็นเหตุผลเดียวกับที่-บทเจริญพระพุทธมนต์สมัยนี้ถูกตัดสวดลัดๆ กันมาก เช่นบทธชัคคสูตร สวดแบบ “ชักไส้” คือเอาเฉพาะตอนที่เป็นพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ และพระสังฆคุณมาสวด ไม่สวดบทเต็ม จนกระทั่งพระสงฆ์สมัยนี้ส่วนมากสวดธชัคคสูตรเต็มๆ ไม่ได้แล้ว
อย่างไรก็ตาม วัดที่ยังกล่าวคำบังสุกุลเต็มทั้งสองบทก็ยังมีอยู่บ้าง แต่มีผู้อธิบายเสริมเข้ามาว่า วัดที่กล่าวทั้งสองบท (อนิจฺจา … วูปสโม สุโข, สพฺเพ สตฺตา … เอตฺถ สํสโย.) เป็นวัดนิกายหนึ่ง วัดที่กล่าวเฉพาะบทเดียว (อนิจฺจา … วูปสโม สุโข.) เป็นวัดอีกนิกายหนึ่ง
เป็นคำอธิบายที่ฟังได้ แต่ยังเชื่อไม่ได้
ผู้เขียนบาลีวันละคำขอยืนยันว่า พระสงฆ์สมัยก่อนไม่ว่าจะนิกายไหนกล่าวคำบังสุกุลควบกันทั้งสองบทเสมอ
ถ้าญาติโยมเจ้าภาพสมัยนี้จะกรุณาเพิ่มเวลาให้พระสงฆ์อีกสักนิด และถ้าพระสงฆ์สมัยนี้จะมีเมตตาสละเวลาเพิ่มขึ้นอีกสักหน่อย กล่าว “คำบังสุกุล” ให้ครบทั้งสองบททุกครั้งไป ผู้เขียนบาลีวันละคำจะกราบอนุโมทนาสาธุเป็นอย่างยิ่ง
…………..
ดูก่อนภราดา!
: ถ้าลดเวลาที่จะทำชั่ว เป็นการดี
: การลดเวลาที่จะทำดี ก็เป็นการชั่ว
#บาลีวันละคำ (2,727)
30-11-62