บาลีวันละคำ

ราชวรดิฐ (บาลีวันละคำ 2,739)

ราชวรดิฐ

อ่านว่า ราด-ชะ-วอ-ระ-ดิด

ประกอบด้วยคำว่า ราช + วร + ดิฐ

(๑) “ราช

บาลีอ่านว่า รา-ชะ แปลตามรากศัพท์ว่า –

(1) “ผู้รุ่งเรืองโดยยิ่งเพราะมีเดชานุภาพมาก” หมายความว่า ผู้เป็นพระราชาย่อมมีเดชานุภาพมากกว่าคนทั้งหลาย

(2) “ผู้ยังคนทั้งหลายให้ยินดี” หมายความว่า เป็นผู้อำนวยความสุขให้ทวยราษฎร์ จนคนทั้งหลายร้องออกมาว่า “ราชา ราชา” (พอใจ พอใจ)

ราช” หมายถึง พระราชา, พระเจ้าแผ่นดิน ใช้นำหน้าคำให้มีความหมายว่า เป็นของพระเจ้าแผ่นดิน, เกี่ยวกับพระเจ้าแผ่นดิน หรือเป็นของหลวง

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ราช ๑, ราช– : (คำนาม) พระเจ้าแผ่นดิน, พญา (ใช้แก่สัตว์) เช่น นาคราช คือ พญานาค สีหราช คือ พญาราชสีห์, คํานี้มักใช้ประกอบกับคําอื่น, ถ้าคําเดียวมักใช้ว่า ราชา.”

(๒) “วร

บาลีอ่านว่า วะ-ระ รากศัพท์มาจาก วรฺ (ธาต = ปรารถนา) + (อะ) ปัจจัย

: วรฺ + = วร แปลตามศัพท์ว่า “ภาวะอันบุคคลปรารถนา” เป็นคำวิเศษณ์ แปลว่า ประเสริฐ, วิเศษ, เลิศ, อริยะ (excellent, splendid, best, noble) เป็นคำนาม (ปุงลิงค์; นปุงสกลิงค์) แปลว่า ความปรารถนา, พร, ความกรุณา (wish, boon, favour)

ในภาษาไทย “วร” คงใช้เป็น “วร” ก็มี แปลง เป็น ตามหลักนิยมของไทยเป็น “พร” ก็มี พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 เก็บไว้ทั้ง “วร” และ “พร” บอกไว้ว่า –

(1) วร– [วะระ-, วอระ-] : (คำนาม) พร; ของขวัญ. (คำวิเศษณ์) ยอดเยี่ยม, ประเสริฐ, เลิศ. (ป., ส.).

(2) พร [พอน] : (คำนาม) คําแสดงความปรารถนาให้ประสบสิ่งที่เป็นสิริมงคล เช่น ให้พร ถวายพระพร, สิ่งที่ขอเลือกเอาตามประสงค์ เช่น ขอพร. (ป. วร).

ในที่นี้ “วร” หมายถึง ยอดเยี่ยม, ประเสริฐ, เลิศ

(๓) “ดิฐ

บาลีเป็น “ติตฺถ” (ติด-ถะ) รากศัพท์มาจาก ตรฺ (ธาตุ = ข้าม) + ปัจจัย, แปลง อะ ที่ -(รฺ) เป็น อิ, แปลง เป็น (ตรฺ > ติรฺ > ติตฺ)

: ตรฺ + = ตรถ > ติรถ > ติตฺถ แปลตามศัพท์ว่า (1) “ที่เป็นเครื่องข้ามฟาก” (2) “ที่เป็นที่ข้ามฟาก” (3) “ความเห็นเป็นที่ให้สัตว์ทั้งหลายกระโดดดำผุดดำว่ายอยู่ในทิฐิหกสิบสอง

หนังสือ ศัพท์วิเคราะห์ ของ พระมหาโพธิวงศาจารย์ (ทองดี สุรเตโช ป.ธ.๙, ราชบัณฑิต) แปล “ติตฺถ” ว่า ท่าน้ำ, ครูอาจารย์, เหตุ, ลัทธิ, ทิฐิ, น้ำศักดิ์สิทธิ์

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “ติตฺถ” ดังนี้ –

(1) a fording place, landing place, which made a convenient bathing place (สถานที่ลุยน้ำข้ามฟาก, ท่าน้ำซึ่งเป็นสถานที่อาบน้ำอย่างเหมาะเจาะ)

(2) a sect (นิกายทางศาสนา)

ในที่นี้ “ติตฺถ” ใช้ในความหมายว่า ท่าน้ำ

บาลี “ติตฺถ” ภาษาไทยใช้เป็น “ดิตถ์” ตามรูปบาลีก็มี สะกดเป็น “ดิฐ” ก็มี

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ดิฐ ๒, ดิตถ์ : (คำแบบ) (คำนาม) ท่านํ้า เช่น ท่าราชวรดิฐ อุตรดิตถ์, เขียนเป็น ดิษฐ์ ก็มี เช่น กาญจนดิษฐ์. (ป. ติตฺถ; ส. ตีรฺถ).”

หมายเหตุ: “คำแบบ” หมายถึง คำที่ใช้เฉพาะในหนังสือ ไม่ใช่คำพูดทั่วไป

การประสมคำ :

วร + ติตฺถ = วรติตฺถ (วะ-ระ-ติด-ถะ) > วรดิฐ (วอ-ระ-ดิด) แปลว่า “ท่าเรืออันประเสริฐ

ราช + วรดิฐ = ราชวรดิฐ (ราด-ชะ-วอ-ระ-ดิด) แปลว่า “ท่าเรืออันประเสริฐของพระราชา

อภิปราย :

ในที่ทั่วไป คำว่า ราช + วรวร” มักเป็นคำขยายของ “ราช” คือรูปคำเป็น “ราชวร” (รา-ชะ-วะ-ระ) แปลว่า “พระราชาผู้ประเสริฐ” ลักษณะเช่นนี้ภาษาไวยากรณ์บาลีเรียกว่า “วิเสสนุตรบท” = บทที่มีคำขยายอยู่หลัง บทที่มีคำว่า “วร” เป็นคำขยายอยู่หลังเช่นนี้จะพบได้ทั่วไปในคัมภีร์บาลี

แต่ในคำว่า “ราชวรดิฐ” นี้ “วร” น่าจะเป็นคำขยาย “ดิฐ” ทั้งนี้เพราะมีท่าเรืออีกท่าหนึ่งอยู่ในบริเวณใกล้เคียงกันเป็นแนวเทียบ ชื่อ “ท่านิเวศน์วรดิฐ” คำว่า “วร” ไม่ได้ขยาย “นิเวศน์” คือไม่ใช่ “นิเวศน์วร” (ที่อยู่อันประเสริฐ) แต่ขยาย “ดิฐ” คือเป็น “วรดิฐ” = “ท่าเรืออันประเสริฐ” (นิเวศน์วรดิฐ = ท่าเรืออันประเสริฐใกล้ที่อยู่)

ดังนั้น เมื่อเทียบกับคำว่า “ท่านิเวศน์วรดิฐ” จึงควรเป็น “วรดิฐ” ตรงกันทั้ง 2 ชื่อ ไม่ใช่ชื่อหนึ่งเป็น “-วรดิฐ” แต่อีกชื่อหนึ่งเป็น “ราชวร-”

ขยายความ :

คลังความรู้ของราชบัณฑิตยสภา ได้อธิบายคำว่า “ท่าราชวรดิฐ” ไว้ ขอยกมาเสนอในที่นี้ดังนี้ –

…………..

ท่าราชวรดิฐ

ท่าราชวรดิฐ เป็นชื่อวิสามานยนามชื่อหนึ่งที่กล่าวถึงใน พจนานุกรมวิสามานยนามไทย : วัด วัง ถนน สะพาน ป้อม ของนางสาวกนกวลี  ชูชัยยะ ราชบัณฑิตยสถานจัดพิมพ์  ท่าน้ำดังกล่าวตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาด้านหน้าพระที่นั่งราชกิจวินิจฉัย ถนนมหาราช แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร

ท่าราชวรดิฐเป็นท่าเทียบเรือพระที่นั่ง ตั้งอยู่ทางด้านตะวันตกของพระบรมมหาราชวัง  เดิมเป็นที่ตั้งของพระตำหนักน้ำซึ่งสร้างในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย  เป็นตำหนักปักเสาลงในน้ำ ทอดคานเหมือนเรือนแพ มีหลังคามุงกระเบื้อง  ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่โปรดเกล้าฯ ให้รื้อตำหนักของเดิมเสีย แล้วลงเขื่อนถมที่ขึ้นเสมอพื้นดิน และสร้างพระที่นั่งขึ้นหมู่หนึ่งเป็นพลับพลาสูงตรงกลางองค์หนึ่ง พระราชทานนามว่า พระที่นั่งชลังคพิมาน ต่อพลับพลาสูงเข้าไปทางด้านตะวันออก มีพระที่นั่งสูงเป็นที่ประทับองค์หนึ่ง พระราชทานนามว่า พระที่นั่งทิพยสถานเทพสถิต พระที่นั่งข้างเหนือลดพื้นต่ำลงมาเป็นท้องพระโรงฝ่ายหน้าองค์หนึ่ง พระราชทานนามว่า พระที่นั่งราชกิจวินิจฉัย มีพระที่นั่งข้างใต้เหมือนกันกับองค์ข้างเหนือเป็นที่พักฝ่ายใน พระราชทานนามว่า พระที่นั่งอนงค์ในสราญรมย์ ส่วนตรงหน้าพระที่นั่งชลังคพิมานใต้ท่าเสด็จลงเรือ โปรดเกล้าฯ ให้ก่อเขื่อนทำสระเป็นที่สรงสระหนึ่งก่อกำแพงเป็นบริเวณข้างในทั้ง ๓ ด้าน มีป้อมริมน้ำปลายแนวกำแพงด้านเหนือ พระราชทานนามว่า ป้อมพรหมอำนวยศิลป์ ป้อมข้างใต้ตรงชื่อ ป้อมอินทร์อำนวยศร และโปรดเกล้าฯ ให้เรียกรวมกันทั้งบริเวณว่า ท่าราชวรดิฐ แปลว่า ท่าอันประเสริฐของพระราชา ข้างเหนือขึ้นไปทำท่าสำหรับเรือข้าราชการอีกท่าหนึ่ง โปรดเกล้าฯ ให้เรียกว่า ท่านิเวศน์วรดิฐ ซึ่งปัจจุบันเป็นท่าเรือรับส่งข้าราชการทหารเรือและประชาชนทั่วไปข้ามฟากแม่น้ำเจ้าพระยาจากฝั่งพระนครไปยังฝั่งธนบุรี ขึ้นตรงท่าของกรมอู่ทหารเรือ

ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระที่นั่งในบริเวณท่าราชวรดิฐชำรุด จึงโปรดเกล้าฯ ให้ซ่อมรักษาพระที่นั่งราชกิจวินิจฉัยไว้ นอกนั้นให้รื้อเสีย ปัจจุบันท่าราชวรดิฐยังเป็นที่เสด็จประทับในการเสด็จโดยกระบวนพยุหยาตราทางชลมารค

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ข้ามฝั่ง ใครมั่งเคยขอบคุณเรือ?

: ขึ้นบกได้ทุกเมื่อ ใครมั่งเคยขอบคุณท่า?

———–

ขณะเมื่อเขียนคำนี้ยังหาภาพป้ายชื่อ “ท่าราชวรดิฐ” ไม่ได้ มีแต่ภาพป้ายชื่อ “ท่านิเวศน์วรดิฐ

ญาติมิตรท่านใดมีภาพ ขอความกรุณาช่วยสงเคราะห์ด้วยครับ

#บาลีวันละคำ (2,739)

12-12-62

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย