นิมิต ไม่ใช่ “นิมิตร” (บาลีวันละคำ 2,740)
นิมิต ไม่ใช่ “นิมิตร”
นิมิต ไม่ต้องมี ร
“นิมิต” อ่านว่า นิ-มิด บาลีเป็น “นิมิตฺต” (นิ-มิด-ตะ) รากศัพท์มาจาก –
(1) นิ (คำอุปสรรค = เข้า,ลง) + มา (ธาตุ = กะ, กำหนด, นับ) + ต ปัจจัย, แปลง อา ที่ มา เป็น อิ (มา > มิ), ซ้อน ตฺ ระหว่างธาตุกับปัจจัย (มา + ตฺ + ต)
: นิ + มา = นิมา + ตฺ + ต = นิมาตฺต > นิมิตฺต แปลตามศัพท์ว่า (1) “สิ่งที่กำหนดผลของตนไว้” (2) “สิ่งเป็นเครื่องอันเขากำหนด” (คือใช้เป็นเครื่องหมาย)
(2) นิ (คำอุปสรรค = เข้า,ลง) + มิ (ธาตุ = ใส่) + ต ปัจจัย, ซ้อน ตฺ ระหว่างธาตุกับปัจจัย (มิ + ตฺ + ต)
: นิ + มิ = นิมิ + ตฺ + ต = นิมิตฺต แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งเป็นที่อันเขาใส่ผลไว้แล้ว”
(3) นิ (คำอุปสรรค = ออก) + มิหฺ (ธาตุ = ไหล, หลั่ง) + ต ปัจจัย, แปลง ห เป็น ต (มิหฺ > มิตฺ)
: นิ + มิหฺ = นิมิหฺ + ต = นิมิหฺต > นิมิตฺต แปลตามศัพท์ว่า “อวัยวะที่หลั่งน้ำออกมา”
“นิมิตฺต” (ปุงลิงค์; นปุงสกลิงค์) ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –
(1) เครื่องหมาย, นิมิต, สิ่งบอกเหตุ, การทำนาย (sign, omen, portent, prognostication)
(2) รูปร่างภายนอก, ตำหนิ [ของร่างกาย], ลักษณะ, คุณสมบัติ, ปรากฏการณ์ (outward appearance, mark, characteristic, attribute, phenomenon)
(3) เครื่องหมาย, จุดมุ่งหมาย (mark, aim)
(4) องคชาต (sexual organ)
(5) หลักฐาน, เหตุผล, เงื่อนไข (ground, reason, condition)
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 เก็บคำว่า “นิมิต” ไว้ 2 คำ บอกไว้ดังนี้ –
(1) นิมิต ๑ : (คำกริยา) นิรมิต, สร้าง, แปลง, ทํา. (ป. นิมฺมิต; ส. นิรฺมิต).
(2) นิมิต ๒ : (คำนาม) เครื่องหมาย, ลาง, เหตุ, เค้ามูล; (คำแบบ) (คำนาม) อวัยวะสืบพันธุ์ เช่น อิตถีนิมิต ปุริสนิมิต. (ป., ส. นิมิตฺต).
“นิมิต ๑” ที่แปลว่า นิรมิต, สร้าง, แปลง, ทํา เป็นคนละคำกับ “นิมิต” ที่กำลังพูดถึง
“นิมิต” ที่กำลังพูดถึง คือ “นิมิต ๒” บาลีเป็น “นิมิตฺต” (นิ-มิด-ตะ) ส่วน “นิมิต ๑” (นิรมิต, สร้าง, แปลง, ทํา) บาลีเป็น “นิมฺมิต” (นิม-มิ-ตะ)
อภิปราย :
“นิมิต” กับ “มิตร” เป็นคนละคำกัน รากศัพท์ต่างกัน แม้ในบาลี ส่วนท้ายของรูปคำ คือ (นิ)-มิตฺต และ มิตฺต จะเหมือนกัน แต่บาลีกับสันสกฤตใช้ต่างกัน คือ “มิตร” บาลีเป็น “มิตฺต” สันสกฤตเป็น “มิตฺร” ดังที่ สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ดังนี้ –
“มิตฺร : (คำนาม) สหาย; พระยาทิตย์; a friend; the sun.”
ในภาษาไทย ใช้เป็น “มิตร” ตามสันสกฤต พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ดังนี้ –
“มิตร, มิตร– : (คำนาม) เพื่อนรักใคร่คุ้นเคย เช่น มิตรแท้ มิตรเทียม ฉันมิตร. (ส.; ป. มิตฺต).”
ภาษาไทย “มิตร” บาลีเป็น “มิตฺต” สันสกฤตเป็น “มิตฺร”
แต่ “นิมิต” บาลีเป็น “นิมิตฺต” สันสกฤตไม่ได้เป็น “นิมิตฺร” แต่เป็น “นิมิตฺต” เหมือนบาลี
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ดังนี้ –
(สะกดตามต้นฉบับ)
“นิมิตฺต : (คำนาม) ‘นิมิตต์,’ มูล, การณ์, นิมิตตการณ์, ต้นเหตุหรือตัวการหรือผู้บันดาน; ลักษณะ, จิห์น, องก์; เครื่องหมาย; ลาง; ลักษณะดีหรือร้าย; cause, motive, efficient or instrumental cause; mark, sign, trace; omen, a good omen or an ill one.”
สรุป :
“นิมิต” (ไม่มี ร) เราใช้ตาม “นิมิตฺต” ในบาลีและสันสกฤต ซึ่งไม่มี ร เหมือนกัน
แต่ “มิตร” เราใช้ตาม “มิตฺร” ในสันสกฤต ซึ่งมี ร
เพราะฉะนั้น ในภาษาไทย “นิมิต” (-มิต ไม่มี ร) จึงเป็นคำที่ถูกต้อง
ส่วน “นิมิตร” (-มิตร มี ร) เป็นคำที่ผิด
…………..
ดูก่อนภราดา!
: คนเลวอาจทำเครื่องหมายหลอกคนได้
: แต่หลอกนรกไม่ได้
#บาลีวันละคำ (2,740)
13-12-62