บาลีวันละคำ

ปัตนิ (บาลีวันละคำ 2,742)

ปัตนิ

คำศัพท์ในตำราหมอดู

อ่านว่า ปัด-ตะ-หฺนิ

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ปัตนิ, ปัตนี : (คำนาม) หญิงแม่เรือน, เมีย. (ในตําราหมอดูว่า เนื้อคู่). (ส.; ป. ปตานี).”

พจนานุกรมฯ บอกว่า “ปัตนิ” เป็นรูปคำสันสกฤต บาลีเป็น “ปตานี

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน มีคำว่า “ปตฺนี” บอกไว้ดังนี้ –

ปตฺนี : (คำนาม) ‘ปัตนี,’ วธู, เมีย; a wife.”

ปตานี” ในบาลีมักควบอยู่กับคำว่า “คห” (คะ-หะ) เป็น “คหปตานี” (คะ-หะ-ปะ-ตา-นี)

และ “คหปตานี” เป็นคำที่กลายรูปมาจาก “คหปติ” (คะ-หะ-ปะ-ติ) ซึ่งในภาษาไทยใช้ว่า “คฤหบดี

คหปติ” แยกศัพท์เป็น คห + ปติ

(ก) “คห” (คะ-หะ) รากศัพท์มาจาก คหฺ (ธาตุ = จับ, ยึด, ถือเอา) + ปัจจัย

: คหฺ + = คห แปลตามศัพท์ว่า “ที่เก็บทรัพย์อันคนนำมาแล้ว” (คนหาทรัพย์มาเก็บไว้ที่นั่น จึงเรียกที่นั่นว่า คห = ที่เก็บทรัพย์) หมายถึง บ้าน (a house)

ศัพท์ที่ใกล้กันอีกคำหนึ่งคือ “เคห” (เค-หะ) รากศัพท์เหมือนกับ “คห” เพียงแต่แปลง อะ ที่ -(ห) เป็น เอ : คห > เคห

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “เคห” ว่า a dwelling, hut, house; the household (ที่อยู่อาศัย, กระท่อม, บ้าน; ครัวเรือน)

(ข) “ปติ” (ปะ-ติ) รากศัพท์มาจาก –

(1) ปา (ธาตุ = รักษา, ดูแล) + ติ ปัจจัย, รัสสะ อา ที่ ปา เป็น อะ (ปา > )

: ปา + ติ = ปาติ > ปติ แปลตามศัพท์ว่า “ผู้รักษา

(2) ปตฺ (ธาตุ = ไป, เป็นไป) + อิ ปัจจัย

: ปตฺ + อิ = ปติ แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ดำเนินไปข้างหน้า

ปติ” ในบาลีใช้ในความหมายว่า –

(1) พ่อบ้าน, นาย, เจ้าของ, ผู้นำ (lord, master, owner, leader)

(2) สามี (husband)

คห + ปติ = คหปติ แปลตามศัพท์ว่า “เจ้าของแห่งเรือน” หมายถึง เจ้าของบ้าน, พ่อบ้าน, คหบดี (the possessor of a house, the head of the household, pater familias)

คหปติ” เป็นปุงลิงค์ หมายถึง ชายผู้เป็นเจ้าของบ้านหรือเป็นหัวหน้าครอบครัว คำเก่าท่านแปลว่า “พ่อเจ้าเรือน” เมื่อจะให้หมายถึง หญิงผู้เป็นภรรยาของพ่อเจ้าเรือน จึงแปลงรูป “คหปติ” เป็นอิตถีลิงค์ คือ + อานี ปัจจัย และ “ลบสระหน้า” คือลบ อิ ที่ ปติ (ปติ > ปต)

: คหปติ > คหปต + อานี = คหปตานี แปลตามศัพท์ว่า “หญิงผู้เป็นเจ้าของแห่งเรือน” คำเก่าท่านแปลว่า “แม่เจ้าเรือน” หมายถึง ภรรยาของคฤหบดี

คหปตานี” นั่นเอง ตัดมาเรียกเฉพาะ “ปตานี” แล้วใช้ตามรูปสันสกฤตเป็น “ปัตนิ

อภิปราย :

ในตําราหมอดู คำในชุด “ปัตนิ” มีทั้งหมด 13 คำ ขอนำมาเสนอไว้ในที่นี้ ความหมายของแต่ละคำมักแตกต่างกันออกไปแล้วแต่สำนักไหนจะไขความว่าหมายถึงอะไรบ้าง ในที่นี้จึงจะบอกเฉพาะคำแปลตามศัพท์เท่านั้น ผู้สนใจพึงไปหาความหมายตามสำนักที่แต่ละท่านเลื่อมใสนั้นเถิด

…………..

1 ตนุ = ตัว, ตน

2 กระฎุมพะ คำนี้บาลีเป็น “กุฏุมฺพ” (กุ-ตุม-พะ) = ทรัพย์สมบัติ

3 สหัชชะ พจนานุกรมฯ มีคำว่า “สหัช” บอกความหมายว่า “ที่มีมาแต่กําเนิด” คำนี้บางสำนักไขความว่า หมายถึงเพื่อนฝูง บาลีมีศัพท์ว่า “สุหท” (สุ-หะ-ทะ) แปลว่า “เพื่อนผู้มีใจดี” บางที “สหัชชะ” จะเพี้ยนมาจาก “สุหท” นี้ก็เป็นได้

4 พันธุ = พวกพ้อง

5 ปุตตะ = บุตร, ลูกชาย

6 อริ = “ผู้เป็นไปฝ่ายตรงข้าม” > ข้าศึก, ศัตรู

7 ปัตนิ = แม่เจ้าเรือน

8 มรณะ = ความตาย

9 ศุภะ = งาม, ดี

10 กัมมะ = การงาน

11 ลาภะ = การได้, สิ่งที่ได้

12 วินาศ = ความย่อยยับ

…………..

สรุปตามพจนานุกรมฯ ว่า“ปัตนิ” หรือ “ปัตนี” หมายถึง หญิงแม่เรือน หรือเมีย ในตําราหมอดูว่า เนื้อคู่

…………..

ดูก่อนภราดา!

: อยู่ด้วยกันตั้งแต่สองคน

เพียงเสกมนตร์แค่สองคำ

: ก็เกิดสุขสงบล้ำ

คือหมั่นจำว่า “เกรงใจ”

#บาลีวันละคำ (2,742)

15-12-62

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย