ความเกรงใจและมารยาท
ความเกรงใจและมารยาท
—————————
ทำให้ความผิดพลาดคงอยู่ต่อไป
เมื่อผมเข้ามาสู่โลกเฟซบุ๊กใหม่ๆ ได้อ่านข้อความจากโพสต์ต่างๆ ที่เฟซบุ๊กจัดเรียงไว้ให้ (ที่เรียกว่า ฟีดข่าว) ถ้าผมเห็นใครเขียนหนังสือผิด ผมก็จะทักท้วงลงไปที่ช่องแสดงความคิดเห็นนั่นเลย
เหตุผลที่ทักท้วงโดยเปิดเผยเช่นนั้นมีข้อเดียว คือ คนทั้งหลายที่ได้อ่านโพสต์นั้นจะได้รับรู้ด้วยว่า คำนั้นหรือเรื่องนั้นมีข้อผิดพลาดตรงนั้นๆ
คือมีเจตนาจะชี้แนะข้อผิดพลาดให้รับรู้กันในวงกว้าง-พูดให้ดูดีก็ว่า-เป็นการให้วิทยาทานแก่คนทั่วไปด้วย ไม่ใช่เฉพาะเจ้าของโพสต์ที่พูดผิดเขียนผิดคนเดียว
ทำแบบนั้นไปได้สักพักหนึ่งก็สังเกตเห็นว่า ชักจะไม่เข้าที เจ้าของโพสต์เองก็ทำท่ามึนๆ
พูดกันตรงๆ ก็ว่า ไม่ค่อยชอบที่จะให้ใครมาทักท้วงเตือนติงแบบนั้น
เหมือนกับเป็นการประจานกัน ทำให้เสียหน้า
ผมต้องรีบถอยมาตั้งหลักใหม่
จับข้อเท็จจริงขึ้นมาพิจารณาว่า ธรรมดาของคนทั้งหลายย่อมไม่ชอบที่จะให้ใครมาชี้ข้อผิดพลาดบกพร่องของตนให้ปรากฏต่อสาธารณะ
จะผิดจะพลาดยังไง ก็ขอให้บอกกันเงียบๆ
บอกโจ่งแจ้งต่อสาธารณะก็เท่ากับประจานกัน
อันที่จริงเฟซบุ๊กเขามีบริการ “กล่องข้อความ” ที่รู้เห็นกันเฉพาะตัวคนเขียนกับเจ้าของกล่อง
ผมก็เคยใช้วิธีเขียนบอกไปทางกล่องข้อความ
แต่ผมว่ามันไม่ค่อย work (แปลว่ากระไรก็ไม่ทราบ-เห็นชอบพูดกัน)
พูดผิดเขียนผิด มีอ่าน ๑๐๐ คน
แต่ไปบอกแก้แค่คนเดียว
อีก ๙๙ คน ก็ยังคงเข้าใจผิดว่าเป็นถูกอยู่ต่อไป แล้วก็ช่วยกันเอาไปพูดผิดเขียนผิดให้คนอื่นเข้าใจผิดเป็นถูกต่อไปอีก
เหมือนรักษาโรคหาย ๑ คน
แต่ป่วยเพิ่มขึ้นอีก ๙๙ คน
อย่างไรก็ตาม ได้ข้อยุติแน่นอนว่า คนถูกทักท้วงไม่ค่อยมีความสุข-พูดคำฝรั่งที่ชอบพูดกันก็ว่า ไม่ happy
ตอนหลังๆ นี่ผมก็เลยเลิกทักท้วง
เมื่อวานอ่านข้อเขียนของท่านที่เคารพนับถือท่านหนึ่ง-ถ้าบอกชื่อก็จะรู้จักกันทั่วประเทศ-ท่านเขียนดีมากๆ
แต่ก็มีคำผิดจนได้
ผมก็ตั้งอารมณ์ ไม่ทัก ไม่ท้วง
ถือคติใหม่ คือเลือกเสพเลือกเก็บเฉพาะสิ่งที่ดีๆ ตรงไหนไม่ถูกก็วางไว้ที่เดิม ไม่แตะต้อง
อันที่จริงก็ไม่ใช่คติใหม่ เป็นคติเก่า ดังที่ท่านพุทธทาสภิกขุว่าไว้ว่า –
…………………
เขามีส่วน เลวบ้าง ช่างหัวเขา
จงเลือกเอา ส่วนที่ดี เขามีอยู่
เป็นประโยชน์ โลกบ้าง ยังน่าดู
ส่วนที่ชั่ว อย่าไปรู้ ของเขาเลย
…………………
เช่น-เดี๋ยวนี้เห็นใครเขียน “สุขคติ” (ผิด, คำที่ถูกคือ “สุคติ”) ผมก็ไม่ทักท้วง
แต่ความรู้สึกที่ว่า…เราปล่อยปละละเลย … ยังตามรบกวนอยู่
เราปล่อยให้ “เพื่อน” ทำสิ่งที่ผิดๆ อยู่ได้อย่างไร?
ในหลักธรรมเรื่องมิตร ท่านบอกลักษณะของเพื่อนแท้ไว้ข้อหนึ่งว่า
…………………
ปมตฺตํ รกฺขติ = เพื่อนประมาท ดูแลเพื่อน (He guards you when you are off your guard.)
ปมตฺตสฺส สาปเตยฺยํ รกฺขติ = เพื่อนประมาท ดูแลทรัพย์สินของเพื่อน (He guards your property when you are off your guard.)
(สิงคาลกสูตร ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค พระไตรปิฎกเล่ม ๑๑ ข้อ ๑๙๓)
…………………
การที่ “เพื่อน” ในเฟซบุ๊กพูดเพี้ยนเขียนผิดในเรื่องใดๆ ก็ตาม นั่นคือเข้าลักษณะ “เพื่อนประมาท”
ถ้าเราเป็น “เพื่อน” ที่ดี ก็ต้องช่วยดูแล เช่นทักท้วงเตือนติง
แต่เรากลับนิ่งเฉย
เราเป็น “เพื่อน” ที่ดีแล้วหรือ?
——————–
ผมไม่เข้าใจเหมือนกันว่า-การที่ใครคนหนึ่งทำผิดพลาด แล้วมีคนทักท้วงเตือนติงความปรารถนาดี ทำไมจึงมองกันว่าเป็นการประจาน เป็นการทำให้เสียหน้า
ในทัศนะของผม จะแอบทักท้วงกันเงียบๆ หรือทักท้วงโดยเปิดเผย-คนอื่นได้รู้ด้วย ไม่มีผลต่างกับตัวผู้ทำผิดพลาด
แอบทักท้วง ตัวผู้ทำผิดพลาดได้ประโยชน์คนเดียว
แต่ทักท้วงโดยเปิดเผย สังคมได้ประโยชน์ด้วย เป็นกรณีศึกษา
ตรงนี้แหละครับที่เรายังคิดไม่เป็น เห็นไม่ได้
คือยังมองว่า-การทักท้วงโดยเปิดเผยเป็นการประจาน
ค่านิยมหรือวิธีคิด-ว่าทำแบบนี้เป็นการประจาน ไปเอามาจากไหน?
ประจานตรงไหน? เสียหน้าตรงไหน?
ทำดี อยากให้คนรู้สิบทิศ
ทำผิด ห้ามรู้
ยุติธรรมกับคนที่เขาดูเราอยู่ไหม?
หลักทางพระพุทธศาสนาสอนไว้ว่า –
…………………
นิธีนํ ว ปวตฺตารํ
ยํ ปสฺเส วชฺชทสฺสินํ.
(นิธีนัง วะ ปะวัตตารัง
ยัง ปัสเส วัชฺชะทัสสินัง.)
ผู้ชี้ความผิดพลาดให้เรา
พึงมองเขาว่าเป็นผู้ชี้ขุมทรัพย์
(ปัณฑิตวรรค ธรรมบท พระไตรปิฎกเล่ม ๒๕ ข้อ ๑๖)
…………………
คนบอกข้อผิดพลาดให้เรา เหมือนเขาบอกขุมทรัพย์ เขาเอาทรัพย์มาให้เรา เหมือนบอกให้เราถูกหวย
คนมาบอกให้เราถูกหวย เป็นการประจานตรงไหน เสียหน้าตรงไหน
มองกันแค่จุดเดียว คือจุดที่ว่า-หนอยแน่ มาว่ากูผิดได้ ชะชะ
แต่จุดที่เขาชี้สิ่งที่ถูกต้องให้ดู กลับไม่มอง
เขาชี้รางวัลที่ ๑ ให้
กลับไปมองว่าเขาประจาน
คิดได้ไง
——————–
ถ้าสังคมเรายังถือค่านิยมแบบนี้ โอกาสที่ความผิดพลาดจะแพร่ระบาดกว้างออกไปก็มีมากขึ้น
แต่โอกาสที่จะแก้ไขข้อผิดพลาดจะยิ่งมีน้อยลง
เมื่อทำผิดพลาดแล้วไม่มีใครทักท้วง ในที่สุด ผิดจะกลายเป็นถูก
ในหลักภาษาไทยมีข้อกำหนดการอ่านอย่างหนึ่งว่า “อ่านตามความนิยม” ซึ่งนั่นก็คืออ่านผิดนั่นเอง
เช่นคำว่า “พระอรหันต์”
-อรหันต์ คำอ่านที่ถูกต้องคือ อะ-ระ-หัน
ต่อมามีคนไม่รู้ ไปอ่านว่า ออ-ระ-หัน
แล้วไม่มีใครทักท้วง (หรือทักท้วงแล้ว แต่ไม่ฟัง)
มีคนอ่านตามกันมากเข้า ในที่สุดจึงต้องกำหนดหลักการอ่านเพิ่มขึ้นว่า -อรหันต์ อ่านว่า ออ-ระ-หัน ก็ได้-ตามความนิยม
นี่ดีว่าเป็นเรื่องของภาษา ซึ่งมีคนที่พร้อมจะออกมาแก้แทนว่า-ภาษาเป็นเรื่องสมมุติ ไม่มีผิดมีถูก แล้วแต่เราจะสมมุติกัน
ถ้าเป็นเรื่องอื่นๆ ที่ไม่ใช่เรื่องสมมุติล่ะ?
เรื่องสุจริต เรื่องทุจริต เรื่องศีล เรื่องธรรม เรื่องดีชั่ว บุญบาป เรื่องเบียดบังผลประโยชน์ เรื่องทุจริตโกงกิน เรื่องประพฤติชั่วในรูปแบบต่างๆ
ถ้ายึดค่านิยมเดียวกัน – ไม่ทักไม่ท้วง เดี๋ยวจะเป็นการประจาน ทำให้เขาเสียหาย ปล่อยให้ทำกันตามสะดวก
สังคมจะเป็นอย่างไร
เคยสงสัยฉุกคิดกันบ้างหรือไม่ว่า เรื่องแย่ๆ ที่มันเกิดขึ้นในสังคมทุกวันนี้ ก็มีรากเหง้ามาจาก-มีคนทำขึ้น แล้วไม่มีใครทักท้วง ปล่อยให้ทำกันจนกลายเป็นเรื่องปกติ
กลายเป็นข้ออ้าง-ที่ไหนๆ เขาก็ทำกัน
——————–
จึงต้องขออภัยต่อญาติมิตรบรรดาที่เป็น “เพื่อน” ทั้งปวง ท่านพูดเพี้ยนเขียนผิด แล้วผมไม่ทักไม่ท้วง คงไม่มีใครมาต่อว่า ว่า “เออ เห็นอะไรผิดมันก็น่าจะบอกกันสักหน่อย ปล่อยให้เราเฟอะฟะอยู่ได้ ทำแบบนี้ไม่รักกันจริงนี่หว่า”
แต่ในส่วนตัวผมแล้ว ญาติมิตรเห็นว่าผมพูดเพี้ยนเขียนผิดในเรื่องใดๆ ขอปวารณาให้ว่ากล่าวทักท้วงได้ทุกเรื่องนะครับ ทั้งโดยส่วนตัวและโดยเปิดเผย โปรดอย่าเกรงใจ
เพราะความเกรงใจและมารยาททำให้ความผิดพลาดคงอยู่ต่อไป
นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย
๑๕ ธันวาคม ๒๕๖๒
๑๕:๓๕