มิตรภาพ (บาลีวันละคำ 2,751)
มิตรภาพ
เพียงแต่-อย่าซ่อนดาบไว้ในจีวร
อ่านว่า มิด-ตฺระ-พาบ
ประกอบด้วยคำว่า มิตร + ภาพ
(๑) “มิตร”
เป็นรูปคำสันสกฤต บาลีเป็น “มิตฺต” (มิด-ตะ) รากศัพท์มาจาก –
(1) มิทฺ (ธาตุ = รักใคร่, ผูก) + ต ปัจจัย, แปลง ทฺ ที่ (มิ)-ทฺ เป็น ตฺ (มิทฺ > มิต)
: มิทฺ + ต = มิทฺต > มิตฺต แปลตามศัพท์ว่า –
(1) “ผู้รักใคร่กัน” คือต่างคนต่างรู้สึกรักใคร่มีไมตรีต่อกัน
(2) “ผู้ผูกคนอื่นไว้ในตน” คือมีลักษณะชวนให้คนอื่นรักโดยที่เจ้าตัวอาจจะยังไม่ทันได้รู้จักผู้ที่มารักตนนั่นเลยด้วยซ้ำ
(2) มิ (ธาตุ = ใส่เข้า) + ต ปัจจัย, ซ้อน ตฺ
: มิ + ตฺ + ต = มิตฺต แปลตามศัพท์ว่า –
(1) “ผู้ควรแก่การที่จะใส่ความลับเข้าไป” คือคนที่เพื่อนสามารถบอกความลับให้รู้ได้ทุกเรื่อง
บางคนเป็นเพื่อนกันก็จริง แต่เพื่อนไม่กล้าบอกความลับ หรือบอกก็บอกได้บางเรื่อง บอกทุกเรื่องไม่ได้ เพราะไม่ไว้ใจว่าจะเก็บความลับได้
(2) “ผู้ใส่เข้าข้างใน” คือคนที่เก็บความลับของเพื่อนไว้ได้ (เก็บไว้เพื่อปกป้องและช่วยแก้ไขให้เพื่อน มิใช่เพื่อใช้เป็นเครื่องมือทำร้ายเพื่อน)
เพื่อนบางคนเก็บความลับของเพื่อนไม่อยู่ หรือเก็บได้ในยามปกติ แต่ถ้าถูกหลอกล่อหรือถูกบีบคั้นก็เก็บไม่อยู่
บาลี “มิตฺต” สันสกฤตเป็น “มิตฺร” เราใช้ตามสันสกฤตเป็น “มิตร”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“มิตร, มิตร– : (คำนาม) เพื่อนรักใคร่คุ้นเคย เช่น มิตรแท้ มิตรเทียม ฉันมิตร. (ส.; ป. มิตฺต).”
(๒) “ภาพ”
บาลีเป็น “ภาว” (พา-วะ) รากศัพท์มาจาก ภู (ธาตุ = มี, เป็น) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ, แผลง อู เป็น โอ, แปลง โอ เป็น อาว
: ภู + ณ = ภูณ > ภู > โภ > ภาว แปลตามศัพท์ว่า “ความมี” “ความเป็น”
“ภาว” หมายถึง ความมี, ความเป็น, ภาวะ, ธรรมชาติ (being, becoming, condition, nature)
ภาว แปลง ว เป็น พ : ภาว > ภาพ เมื่อใช้ต่อท้ายคำอื่น แปลว่า “การ–” หรือ “ความ–” แบบเดียวกับภาษาอังกฤษที่ลงท้ายว่า -ness, -tion หรือ -ty
“ภาพ” ในภาษาไทย นอกจากคงตามบาลีแล้ว ความหมายยังเคลื่อนที่ไปอีก
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“ภาพ, ภาพ– : (คำนาม) ความ, ความมี, ความเป็น, มักใช้ประกอบเป็นส่วนท้ายของคำสมาส เช่น มรณภาพ ว่า ความตาย; รูปที่ปรากฏเห็นหรือนึกเห็น เช่น ภาพทิวทัศน์ ภาพในฝัน, สิ่งที่วาดขึ้นเป็นรูปหรือสิ่งที่ถ่ายแบบไว้ เช่น ภาพสีน้ำมัน ภาพถ่าย. (ป., ส. ภาว).”
มิตฺต + ภาว = มิตฺตภาว (มิด-ตะ-พา-วะ) แปลตามศัพท์ว่า “ความเป็นแห่งมิตร” หมายถึง ความเป็นเพื่อน
“มิตฺตภาว” ใช้ในภาษาไทยเป็น “มิตรภาพ”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“มิตรภาพ : (คำนาม) ความเป็นเพื่อน เช่น มิตรภาพระหว่างเขาทั้งสอง. (ส.).”
แถม :
ถ้าให้แปลคำว่า “มิตรภาพ” เป็นภาษาอังกฤษ เราย่อมคุ้นปากกับคำว่า friendship
พจนานุกรมอังกฤษ-บาลี แปล friendship เป็นบาลีดังนี้:
(1) sohajja โสหชฺช (โส-หัด-ชะ) = ความเป็นเพื่อน
(2) sakhya สขฺย (สัก-เขียะ) มาจาก สขี เพื่อน + ณฺย ปัจจัย = ความเป็นเพื่อน
(3) metti เมตฺติ (เมด-ติ) = “สิ่งที่มีในมิตร” นี่คือที่เราใช้ว่า ไมตรี, ไมตรีจิต
โปรดสังเกตว่า พจนานุกรมอังกฤษ-บาลี ไม่ได้แปล friendship ว่า “มิตฺตภาว” แต่โปรดทราบว่า คำว่า “มิตฺตภาว” มีใช้ในคัมภีร์บาลีหลายแห่ง
ในพระไตรปิฎกท่านแบ่ง “มิตร” ออกเป็น 2 กลุ่ม คือ –
(1) อมิตฺโต มิตฺตปฺปฏิรูปโก (อะมิตโต มิตตัปปะฏิรูปะโก) = เพื่อนที่ไม่เป็นเพื่อน คือเพื่อนเทียม
(2) มิตฺโต สุหโท (มิตโต สุหะโท) = เพื่อนที่เป็นเพื่อนแท้ คือผู้มีน้ำใจอันงาม
…………..
ดูก่อนภราดา!
: ถ้าเป็นเพื่อนกันไม่ได้
: ก็ขออย่าให้เป็นศัตรูกัน
#บาลีวันละคำ (2,751)
24-12-62