สีมันตริก (บาลีวันละคำ 4,509)

สีมันตริก
คำที่ไม่รู้จัก แต่ก็น่ารู้จัก
อ่านว่า สี-มัน-ตะ-ริก
“สีมันตริก” เขียนแบบบาลีเป็น “สีมนฺตริก” อ่านว่า สี-มัน-ตะ-ริ-กะ ประกอบด้วยคำว่า สีมนฺตร + อิก ปัจจัย
(๑) “สีมนฺตร” แยกศัพท์เป็น สีมา + อนฺตร
(ก) “สีมา” อ่านว่า สี-มา รากศัพท์มาจาก สี (ธาตุ = ผูก) + ม ปัจจัย + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์
: สี + ม = สีม + อา = สีมา แปลตามศัพท์ว่า “ขอบเขตอันสงฆ์พร้อมเพรียงกันผูกไว้ด้วยการสวดกรรมวาจา” หมายถึง แดน, ขอบเขต, ตำบล (boundary, limit, parish)
บาลี “สีมา” สันสกฤตก็เป็น “สีมา”
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ดังนี้ –
(สะกดตามต้นฉบับ)
“สีมา : (คำนาม) เขตต์; เกษตร์, นา; ตลิ่ง, ฝั่ง, ฟาก; สัตยศีลตาหรือความซื่อตรง; ต้นคอ; อัณฑโกศ, พวงอัณฑะ; boundary or limit; a field; a bank or shore; rectitude or uprightness; the nape of the neck; the scrotum.”
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“สีมา : (คำนาม) เขต, แดน; เครื่องหมายบอกเขตโบสถ์ มักทําด้วยแผ่นหินหรือหลักหินเป็นต้น เรียกว่า ใบพัทธสีมา, ใบสีมา หรือ ใบเสมา ก็ว่า. (ป., ส.).”
และที่คำว่า “เสมา” บอกไว้ว่า –
“เสมา ๑ : (คำนาม) สีมา, เครื่องหมายบอกเขตโบสถ์; เรียกสิ่งที่มีลักษณะคล้ายใบสีมาที่เรียงกันอยู่บนกําแพงอย่างกําแพงเมืองว่า ใบเสมา; เครื่องประดับหรือเครื่องรางสําหรับห้อยคอ มีรูปร่างอย่างใบเสมา. (ป., ส. สีมา).”
(ข) “อนฺตร” อ่านว่า อัน-ตะ-ระ รากศัพท์มาจาก อติ (ธาตุ = ผูก) + อร ปัจจัย, ลงนิคหิตอาคมต้นธาตุแล้วแปลงเป็น น (อติ > อํติ > อนฺติ), ลบสระที่สุดธาตุ (อนฺติ > อนฺต)
: อติ > อํติ > อนฺติ > อนฺต + อร = อนฺตร แปลตามศัพท์ว่า “จุดที่ผูกสองข้างไว้” คือ มีข้างหนึ่ง แล้วก็มีอีกข้างหนึ่ง จากข้างหนึ่งไปถึงอีกข้างหนึ่งนี้แหละมีสิ่งหนึ่งผูกเอาไว้ สิ่งนั้นเรียกว่า “อนฺตร” = ระหว่างสิ่งหนึ่งกับอีกสิ่งหนึ่ง หมายถึง ภายใน, ระหว่าง, ช่องวางระหว่าง (inside, in between, a space between)
บาลี “อนฺตร” ในภาษาไทยใช้เป็น “อันตร-” (มีคำอื่นมาสมาสข้างท้าย) พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“อันตร– : (คำนาม) ช่อง. (คำวิเศษณ์) ภายใน, ชั้นใน; ใกล้เคียง, เกือบ; ระหว่าง; อื่น, ต่างไป. (ป., ส.).”
สีมา + อนฺตร ลบสระหน้า (สีมา > สีม)
: สีมา > สีม + อนฺตร = สีมนฺตร (สี-มัน-ตะ-ระ) แปลว่า “ระหว่างสีมา” “ภายในสีมา”
(๒) สีมนฺตร + อิก ปัจจัย
: สีมนฺตร + อิก = สีมนฺตริก (สี-มัน-ตะ-ริ-กะ) แปลว่า “มีในระหว่างสีมา” หมายถึง พื้นที่ระหว่างสีมาหนึ่งกับอีกสีมาหนึ่ง เรียกให้เข้าใจง่าย ๆ สีมันตริก ก็คือ “เขตกันชน” นั่นเอง
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “สีมนฺตริก” ว่า the interval between the boundaries (ระยะระหว่างเขตแดน)
“สีมนฺตริก” ใช้ในภาษาไทยเป็น “สีมันตริก” (สี-มัน-ตะ-ริก)
คำว่า “สีมันตริก” ยังไม่ได้เก็บไว้ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554
ขยายความ :
พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต มีคำว่า “สีมันตริก” บอกไว้ดังนี้ –
…………..
สีมันตริก : เขตคั่นระหว่างมหาสีมา กับขัณฑสีมา เพื่อมิให้ระคนกัน เหมือนเป็นชานกั้นเขตของกันและกันในระหว่าง

…………..
ที่คำว่า “มหาสีมา” และ “ขัณฑสีมา” พจนานุกรมพุทธศาสน์ฯ บอกไว้ดังนี้ –
…………..
(1) มหาสีมา : สีมาใหญ่ผูกทั่ววัด มีขัณฑสีมาซ้อนภายในอีกชั้นหนึ่งโดยมีสีมันตริกคั่น
(2) ขัณฑสีมา : สีมาเล็กผูกเฉพาะโรงอุโบสถที่อยู่ในมหาสีมา มีสีมันตริกคั่น
…………..
แถม 1:
“สีมันตริก” อ่านว่า สี-มัน-ตะ-ริก ต กับ ริก แยกพยางค์กัน ไม่ใช่ ตร ควบ
ตร ควบ เช่นคำว่า ตรง ตรวจ ตรอง ตรา อ่านว่า ตฺรง ตฺรวจ ตฺรอง ตฺรา ไม่ใช่ ตะรง ตะรวจ ตะรอง ตะรา
แต่ “สีมันตริก” ต กับ ริก แยกพยางค์กัน เป็น -ตะ-ริก ไม่ใช่ -ตฺริก
“สีมันตริก” อ่านว่า สี-มัน-ตะ-ริก
ไม่ใช่ สี-มัน-ตฺริก
แถม 2:
คำนี้เรียกว่า “สีมันตริก”
ไม่ใช่ “สีมามันตริก”
“สีมัน-” ไม่ใช่ “สีมา-”
…………..
ดูก่อนภราดา!
อันว่าแดนแห่งวิถีชีวิตสงฆ์นั้น –
: ปฏิบัติตามไม่ได้ อย่าเข้าไป
: ปฏิบัติต่อไม่ไหว ถอยออกมา
#บาลีวันละคำ (4,509)
16-10-67
…………………………….
…………………………….